30.12.08

cutting through to fearlessness

With Lama Jigme Jinpa.
Monday January 5th, 2009,
7:00 pm - 9:00 pm.
Free and open to all!

We live on the edge of two polarized feelings. One one had, we constantly seek our comfort zone and an enhanced sense of security, well-being and happiness. This may range from a mild undertone to an intense craving or unquenchable drive. On the other hand, we have an ongoing sense that we might lose our ground and all our gains at any moment, ranging from a vague anxiety to an absolute terror. Bouncing between hope and fear, life is a constant struggle where any real resolution of our dilemma seems impossible.

Adapted from the teachings of MaChik Labdron, the great female mystic of the 11th century and founder of the lineage of Chöd, we will learn some simple, yet profound techniques for cutting off fixation and finding freedom from the double-edged sword of hope and fear.

Simple, yet profound techniques for cutting off fixation and finding freedom from the double-edged sword of hope and fear.
<more info>

ข่าวฝากประชาสัมพันธ์จาก เจมี่ เรนฮาร์ท บางกอก ชัมบาลา กรุ๊ป คร้บ

25.12.08

ภาวนากับการรับใช้สังคม






งาน "ภาวนากับการรับใช้สังคม" จบลงไปวันนี้
ก่อนอื่นต้องขอโทษคุณอุ๊และอั๋น ที่ปล่อยช้า
จนทำให้คุณอุ๊ตกรถไฟ และอั๋นต้องถ่อขับไปส่งถึงอยุธยา

งานนี้ถือเป็นงานที่รู้สึกตื่นเต้นและตื้นตัน
จากวันแรกที่แทบจะเดินเข้างานอย่างปราศจากพลังชีวิต
แต่ละวันที่อยู่ร่วมกันได้มอบแรงใจให้เราอย่างน่าอัศจรรย์
ความงดงามของหัวจิตหัวใจคนรุ่นใหม่ที่ฝันถึงสังคมที่ดีงาม
อีกทั้งยังกล้าหาญที่จะหมั่นขัดเกลาโลกด้านในของตน


"ภาวนากับการรับใช้สังคม"
โดย วิจักขณ์ พานิช
๒๒-๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
พนาศรม, ศาลายา

21.12.08

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๑

ในปี ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ผมได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมสามารถเผชิญและอยู่กับมันมาได้จนถึงวันนี้ ก็คือกำลังใจที่ได้รับจากงานอบรมภาวนาที่มีขึ้นตลอดปี เปรียบเหมือนพรอันศักดิ์สิทธิ์ที่ได้มีโอกาสร่วมฝึกฝนกับเพื่อนๆทุกคน โอกาสที่เราได้ภาวนาและให้พื้นที่ที่เราสร้างขึ้นมาร่วมกันได้สะท้อนสอนตัวเรา ในภาวะที่แต่ละคนกำลังเผชิญอยู่

กว่า ๒๐ เวิร์คช็อปและรีทรีททั้งระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อนใหม่กว่า ๕๐๐ คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เริ่มตั้งแต่งานแรกกับบริษัทรักลูกในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว, คอร์สภาวนา "บนเส้นทางแห่งการฝึกตน" ที่จัดให้กับเสมฯ รวม ๖ ครั้ง, สัมผัสแห่งการตื่นรู้ ที่สวนโมกข์นานาชาติ , ภาวนาคือชีวิต ที่เชียงใหม่, จิตวิญญาณแห่งนักรบ ที่เชียงราย, การอบรม "พื้นฐานจิตตปัญญาศึกษา" ให้กับบุคลากรในสถาบันการศึกษา ร่วมกับพี่ณัฐฬส และอ.ฌาณเดช, "ชุมนุมโยคี", และการอบรมเฉพาะกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ถือเป็นการทดลองที่จะสื่อสาร ฝึกตนเองในฐานะผู้ส่งสาร, และที่สำคัญคือใช้โอกาสนั้นในการขัดเกลาตนและเรียนรู้ข้อจำกัดของตัวผมเองไปด้วย

ผมไม่ได้รู้สึกว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งชื่อเสียงและความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย เพราะผมยังคงให้ความสำคัญกับเส้นทางความจริงใจต่อตนเองมากกว่าสิ่งอื่นใด ทุกงานที่ผมทำยังคงเต็มไปด้วยความรู้สึกประหม่าและหวั่นใจอยู่บ้าง กระนั้นสิ่งที่ผมได้รับกลับมา คือ เรื่องราวของการเดินทางที่หลากหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แม้ผมจะไม่ได้เป็นคนที่ชอบสังคม หรือมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากนัก แต่ผมก็รู้สึกอบอุ่นที่เพื่อนร่วมฝึกแต่ละคนสามารถศรัทธาในเส้นทางชีวิตของตนเองโดยที่ยังดำรงไว้ซึ่งความปรารถนาดีต่อกันและกัน นั่นคือส่วนสำคัญของการเติบโตของผมตลอดปีที่ผ่านมา

ผมไม่ได้รู้สึกเสียดายอะไร หากวันนึงผมอาจจะต้องหยุดการจัดอบรมภาวนาที่ทำอยู่ทั้งหมด แล้วออกสู่ป่าอย่างโดดเดี่ยวอีกครั้ง เพราะทุกอย่างยังคงตั้งอยู่บนเหตุปัจจัยที่ผมไม่ได้เป็นคนกำหนด ความรักและความปรารถนาดีที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ปฏิบัติ เอ่อล้นออกมาจากความเศร้าที่ว่า เราไม่สามารถจะก้าวเดินบนเส้นทางชีวิตแทนใครได้ ทุกคนมีภารกิจที่โดดเดี่ยวในการที่จะยอมรับโชคชะตา และสายกรรมที่นำเรามาสู่การดำรงอยู่ ณ ปัจจุบันอย่างจริงใจที่สุด เราในฐานะผู้ฝึกตนบนวิถีแห่งพุทธธรรม ทำได้เพียงแค่ยอมรับและเติบโตไปกับปุ๋ยแห่งประสบการณ์นั้น เราไม่ต้องการที่จะขัดขืนกับสิ่งใดอีกต่อไป เราขอให้ทั้งหมดได้จบสิ้นสมบูรณ์ ในชีวิตที่เรากำลังเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบันขณะ ขอที่จะเปิดรับ เรียนรู้ และทำความเข้าใจ ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม

ขอบคุณเพื่อนๆทุกคนสำหรับกำลังใจและการที่ได้ผ่านเข้ามาในชีวิต จนทำให้ผมได้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในปีหน้าหวังว่าเราคงจะพบเจอและร่วมแบ่งปันทุกข์สุขกันบ้าง


จากใจที่เปราะบาง
วิจักขณ์

15.12.08

ก่อนที่จะเริ่มต้นใหม่

บทความให้แง่คิดต่อการเผชิญความขัดแย้ง การยอมรับ สำนึก และให้อภัย



"กระบวนการ “คืนดี” ก็คงไม่ต่างจากความขัดแย้งส่วนบุคคลในแง่กระบวนการ ก่อนที่จะให้อภัยกันได้ คู่ขัดแย้งควรสำรวจตัวเองอย่างจริงใจ ถึงจุดบกพร่อง ถ้าสำรวจด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้หวังดีที่มีความชอบธรรมจากภายนอกกลุ่มของตน จะเห็นได้ว่าความสามารถในการตระหนักรู้ และยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องอาศัย “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ซึ่งเป็นการฟังด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ที่ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ผู้อาจพลาดพลั้งได้เหมือนๆ กัน ขอให้ได้ฟังเรื่องราวของคู่ขัดแย้งให้ “สุดๆ” ก่อนการตัดสินว่าผิด และปรารถนาความใจกว้างในการคิดในมุมกลับว่า ถ้าตนเองอยู่ในตำแหน่งเช่นนั้น ตนเองจะทำอย่างไร อาจมีการกระทำเช่นเดียวกันก็เป็นได้"

ปาริชาต สุวรรณบุปผา

อ่าน "ก่อนที่จะเริ่มต้นใหม่" >>>

14.12.08

หิมะกลางฤดูร้อน

สองสามวันก่อน พี่วิ ณ ธรรมทานมูลนิธิ โทรศัพท์มาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า อ่านหนังสือเล่มนึงแล้วคิดถึงวิจักขณ์ การพูดคุยจึงนำพาวิจักขณ์เข้าร้านหนังสือ ไปหยิบฉวยหนังสือเล่มนี้มาอ่าน

เรื่องราวการใคร่ครวญเส้นทางการฝึกตนของพระพม่าที่ชื่อโชติกะ ได้ถ่ายทอดออกมาด้วยภาษาที่สื่อถึงประสบการณ์ของคนหนุ่มนักแสวงหา แฝงไว้ด้วยเนื้อหาที่อ่านง่ายแต่ลุ่มลึก

ดูรายละเอียด "หิมะกลางฤดูร้อน Snow in the Summer"

6.12.08

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑

จดหมายข่าวฉบับนี้ ขอนำถ้อยแถลงของเร้จจี้ มาให้เพื่อนๆได้อ่านกันครับ

"ในขณะที่ลัทธิ ศาสนา หรือความเชื่อบางสำนัก มีแนวโน้มที่จะไม่พูดถึงประสบการณ์ เส้นทางการแสวงหาสัจจะ หรือการตั้งคำถามอย่างถึงราก อันถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการเรียนรู้เรื่องคุณค่าทางจิตวิญญาณ แต่ในวิถีแห่งพุทธธรรมแล้ว เราต่างถูกเชื้อเชิญให้ใช้ช่วงชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อที่จะเรียนรู้ สืบค้น ตั้งคำถาม และน้อมนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเข้ามาเป็น “หนึ่งเดียวกับเส้นทางการฝึกฝน”

พุทธธรรมได้แสดงให้เราเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของเราเป็นส่วนสำคัญ ในการนำพาเราไปสู่การรู้แจ้งโดยสมบูรณ์ และท้ายที่สุดเราจะตระหนักได้ว่าไม่มีสิ่งใดเลย ที่จะแยกเราออกไปจากเส้นทางการฝึกตนได้ ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้เราเสียใจต่อสิ่งที่เราเผชิญอยู่ และไม่มีสิ่งใดที่ถูกตัดสินและสรุปว่าเป็นข้อผิดพลาดของชีวิต เพราะทุกสิ่งคือการเรียนรู้ โอกาสที่จะพาเราไปสู่พื้นที่แห่งการยอมรับที่กว้างขึ้น เรายังคงก้าวเดินต่อไปเรื่อยๆบนการเดินทางแห่งจิตวิญญาณ แม้ในช่วงเวลาที่ดูเหมือนว่าเราควรจะหลบหนีไปเลือกเดินทางอื่น

สิ่งนี้จะนำไปสู่พื้นฐานการมองโลกบนความดีงามพื้นฐานอย่างปราศจากเงื่อนไข ด้วยความเข้าใจคุณค่าและความหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในตนเอง ซึ่งจะแสดงออกเป็นพลังแห่งความไว้วางใจที่จะคงอยู่กับชีวิตของเราตลอดไป แม้ในยามที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก อาจดูเป็นการยากที่จะเป็นไปได้ ที่จะมีวิถีปฏิบัติที่สามารถหล่อเลี้ยงสายธารของการมองโลกบนความเต็มเปี่ยมและความรื่นรมย์ในชีวิตแบบนั้น แต่เส้นทางที่เราเดินร่วมกันอยู่นี้ถือเป็นข้อยกเว้น พุทธธรรมได้ยืนยันให้เราได้เห็นถึงการเดินทางแห่งจิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในแต่ละชีวิตบุคคล ดังนั้นคุณค่าของมันจึงไม่สามารถถูกปิดกั้น จำกัด สรุป หรือ ตัดสินได้โดยสถาบัน ประเพณี หรือ อำนาจใดจากภายนอก การเดินทางอันเต็มเปี่ยมแห่งประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของปัจเจกจะเผยให้เราได้เห็นได้ด้วยตัวของเราเอง ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ ครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ หรือศาสนา และจริงๆแล้วมันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่จะค่อยๆคลี่ออกเบื้องหน้าเรา ให้เราได้สัมผัสและเข้าใจสายธารชีวิตที่จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก หากเราพร้อมที่จะเข้าไปเผชิญและทำความรู้จักชีวิตของเราในแต่ละขณะ

การเดินทางแห่งจิตวิญญาณไม่สามารถที่จะถูกพยากรณ์ หรือทำความเข้าใจล่วงหน้าได้เลยแม้แต่น้อย เพราะมันไม่ได้ถูกสรรค์สร้างหรือปรุงแต่งขึ้นโดยมนุษย์ การเดินทางแห่งจิตวิญญาณคือการเดินทางสู่ความไม่รู้อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนการเดินทางสู่ท้องทะเลในมณฑลที่ไม่เคยมีใครแล่นเรือไปถึง ไม่เคยได้ถูกหยั่งประมาณ หรือระบุไว้ในแผนที่ หน้าที่ของวิถีปฏิบัติไม่ได้มีไว้เพื่อการจำกัดการแสวงหาทางจิตวิญญาณ ไม่ได้มีไว้เพื่อกีดกั้นประสบการณ์ การเดินทาง แต่เป็นไปเพื่อการเปิดโลกภายในของเราในเข้าไปสัมผัสมันได้อย่างตรงไปตรงมายิ่งขึ้น

วิถีปฏิบัติในที่นี้จึงเป็นดั่งแรงดลใจ ความท้าทาย และรากฐานในการสนับสนุน อีกทั้งยังมีเครื่องมือในการฝึกตนที่เป็นประโยชน์ กระนั้นก็ปราศจากชุดของคำตอบใดๆที่ตายตัว สายธรรมปฏิบัติทำหน้าที่เป็นเพียงพาหนะสำหรับการเดินทาง ซึ่งท้ายสุดก็คงแล้วแต่เราที่จะล่องเรือเดินทางไปสู่โลกใหม่อย่างแท้จริง เพื่อค้นพบอะไรตามที่ใจเราปรารถนาจะได้พบ ใช่แล้ว แง่มุมที่กล่าวมานี้ช่างน่าหวาดหวั่น แต่กระนั้นมันก็ได้แสดงถึงความท้าทายสูงสุดแห่งมนุษยชาติ สิ่งที่ยากที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้ แต่ทว่ามันก็ได้ถูกเขียนขึ้นภายในกายใจของเราตั้งแต่เริ่มต้น ในเลือด ในกระดูก ในรหัสพันธุกรรม และในทุกอณูรูขุมขนของร่างกาย เราไม่ได้เพียงแค่ค้นพบความเป็นไปได้ของการตระหนักรู้ถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ เราจะพบว่าชีวิตเรา คือ เส้นทางแห่งการสัมผัสคุณค่าทางจิตวิญญาณอันเปี่ยมไปด้วยมิติอันลุ่มลึกอย่างไม่อาจคาดคะเนได้"


เรจินัลด์ เรย์

5.12.08

เจ้าหนูเมาคลี





เจ้าแม่เยเชเดินสายปฏิบัติภารกิจ
ต้อนรับน้องใหม่อย่างต่อเนื่อง
๓ ธันวาคม ๒๕๕๑
ถึงคราของ "หนุ่มน้อยเมาคลี"
ลูกชายของป้านอยกับลุงแจ๊ค

2.12.08

หนูปิ่น ณ จิตตปัญญา

ขอแสดงความยินดีย้อนหลังแม่อ้อ และพ่อทอม
กับด.ญ.ปิ่น ผู้เป็นตำนาน
หลังจากที่คุณแม่จอมแกร่ง
หอบหิ้วหนูไปเรียนจิตตปัญญาเป็นเวลาหนึ่งเทอม
สงสัยท่าจะชอบนะ เลยออกมาสายซะอย่างนี้
ขอต้อนรับหนูปิ่นสู่โลกอันรุ่มรวยด้วยเรื่องราว...



เกิด ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
นน. ๓.๑ กิโลกรัม

30.11.08

เมาลูก

ชุมนุมโยคี ครั้งที่สาม



เนื่องในวาระดิถี
วันดี "สิบมกรา" ห้าสอง
เหล่าโยคีร่วมชุมนุมเฉลิมฉลอง
รวมเหล่าเพื่อนผอง
บนครรลองแห่งการฝึกตน
...

ชุมนุมโยคี ครั้งที่สาม

...

๘.๓๐ ถึง ๑๗.๓๐ น.
ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา
"แค่มาภาวนากัน"

ถ้าจะมาก็สำรองที่ล่วงหน้ากันนิดนึง
ส่งอีเมล์มาที่ shambhala04@gmail.com
ช่วยระบุที่หัวอีเมล์ว่า “สิบมกรา”
ค่าผ่านประตู: ช่วยลงขันกันคนละนิดละหน่อยตามกำลังก็แล้วกัน
จำนวน: ไม่เกินห้าสิบสอง

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมมา:
๑. สายรัดเข่า, เข็มขัด, หรือ ผ้าขาวม้า
๒. อาหาร/ ของว่าง/ ของแจก สำหรับแบ่งปันเพื่อนๆโยคี
๓. เบาะรองก้นที่คุณนั่งถนัดถนี่ (ถ้ามี)
๔. (กับ) เนื้อกับตัว

สิ่งที่ไม่ควรเอามา: รถยนต์

เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา: เลขที่ ๖๖๖ ถ.เจริญนคร เป็นตรอกห้องแถว
อยู่ระหว่างซ.เจริญนคร ๒๑ กับ ๒๒ ฝั่งตรงข้ามมีปั๊มเชลล์ ข้างๆมีอู่ซ่อมรถ

แผนที่ตามลิงค์ข้างล่าง
http://www.semsikkha.org/semmain/images/map/roychanum.jpg

28.11.08

จิตตปัญญา ม.อ.





พื้นฐานจิตตปัญญาศึกษา
โดย ณัฐฬส วังวิญญู, วิจักขณ์ พานิช, ฌาณเดช พ่วงจีน
คณาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
๒๔-๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ณ สวนสายน้ำ
หาดใหญ่, สงขลา

ประกาย





อ่าน "จิตตปัญญา การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ" โดย น้องผึ้ง

พื้นฐานจิตตปัญญาศึกษา
โดย ณัฐฬส วังวิญญู, วิจักขณ์ พานิช, ฌาณเดช พ่วงจีน
๒๑-๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หาดใหญ่, สงขลา

25.11.08

international conference on buddhism



International Conference on Buddhism in the Age of Consumerism
1-3 December 2008
Organized by
The College of Religious Studies
Mahidol University, Thailand.

The conference will bring together people with diverse areas of expertise to collaborate in the pursuit of happiness for the entire human race in ways that fully take into account the realities of economics, politics, education, psychology and spiritual values. Holding the conference in Thailand where the majority of the population is Buddhist may provide a valuable opportunity to look at the challenge of consumerism against the background of Theravada Buddhist teachings and practices. The participants may see how Thai Buddhists manage to cope with the increasing influence of consumerism on their-lives and society. The conference will also be useful for Buddhists themselves in their struggle to grapple with this reality while remaining faithful to the teachings. Since this struggle is the experience not only of the Buddhists but also of those of other traditions the conference therefore will be useful for them as well.

The conference begins each day with lectures by invited speakers and will later break up into discussion groups to take up the issues presented in the lectures. This will enable participants to join in the discussion on the issue of their interest. Each group will select a representative to report its conclusions in a later plenary session.

Speakers include Alan Wallace, Joanna Macy, Matthieu Ricard.
more info >>>>

19.11.08

สัมผัสแห่งการตื่นรู้ (๒)










(ในภาพ)นภา,ศรี,หยี่,จันทร์,นุช,ชีอูฐ,จินต์,ดาว,ตู่,นิต้า,ตั้ม,เสริฐ,นัน
(ตกกล้อง)ป่าน,โอ,ฉาย,แอ๊ะ
(ถ่ายภาพ)มีน

"สัมผัสแห่งการตื่นรู้"
๑๑ - ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
สวนโมกข์นานาชาติ
ไชยา, สุราษฎร์ธานี

"Touching Enlightenment"
with vichak panich
11-18 July 2008
Suan Mokh International Hermitage,
Chaiya, Suratthani

16.11.08

หนีน้ำ ถามใจ



คุณรู้ไหม...

เขาว่ากันว่าโลกร้อน

น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย

น้ำกำลังจะท่วมกรุงเทพฯ

...

หลายคนเตือนมา

เขาว่าอีกไม่เกิน 10 ปี

แต่บางคนบอกปีหน้า

...

วันก่อนผมหยุดคุยกับแม่ค้าที่ตลาด

เจ๊แกบอกว่า...

"เศรษฐีเมืองกรุงมาซื้อที่บนดอย เตรียมไว้ปลูกบ้านกันแยะ"

...

เชียงรายเป็นหนึ่งในที่ลี้ภัยสินะ

...ผมคิด

...

สำหรับผม

ผมไม่ได้คิดจะมาอยู่เชียงรายเพื่อหนีน้ำ

จึงยังไม่ได้เตรียมซื้อที่เนินไว้ปลูกบ้าน

ยังไม่ได้เตรียมซื้อเรือพาย

หรือห่วงยางไว้สำหรับลูกสาว
...

บางครั้งผมก็มานั่งคิด

ว่าเอ...

ทำไมเราจึงได้ชะล่าใจถึงเพียงนี้

ไม่รีบหาที่ทางกันเหนียวเอาไว้บ้าง
...


น้ำท่วมโลก

โลกวิปริต

ผมคิด...

เกิดขึ้นแน่ๆ

ตายแน่ๆ

ไม่ช้าก็เร็ว ไม่นานเกินรอ

หากผู้อยู่อาศัยในโลก

ยังบริโภคกันแบบนี้

ยังใช้น้ำมันกันแบบนี้

ยังผลิตขยะและของเสียกันแบบนี้

ยังแก่งแย่ง แข่งขันกันแบบนี้

เป็นพลโลกที่ปราศจากจิตสำนึกกันไปเรื่อยๆแบบนี้

...


บอกตรงๆ

บางทีผมเห็นรถราในกรุงเทพฯ

เห็นวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ

เห็นคลองในกรุงเทพฯ

ผมยังคิดเล่นๆว่า

ให้น้ำพัดมาล้างกรุงเทพฯบ้างก็น่าจะดี

แต่มันจะล้างใจที่ด้านชาและสกปรกของคนออกไปได้บ้างไหมนะ


บางที

คงมีเพียงความทุกข์แสนสาหัสเท่านั้น

ที่จะทำให้คนตื่น

...ผมคิด

....


สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เศรษฐกิจตกต่ำ

บ้านเมืองลุกเป็นไฟ คนไทยฆ่าฟันกัน

โลภ ...โกรธ ...หลง

กับโลกร้อน

คนป่วย โลกก็ป่วยได้

ฟ้าก็บ้าได้ ธรณีก็คลั่งได้

เกิดได้ ก็เจ็บได้ และตายได้เช่นกัน

คุณว่าไหม?

...



เขาว่าการเจริญมรณะสติ

จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้น

การเจริญมรณะสติในที่นี้ คงไม่ได้หมายถึง

การดำเนินชีวิตแบบกลัวตายหรือหนีตาย

แพนิค แอนด์ พารานอย (panic and paranoia)

“ไม่ประมาทไว้ก่อน” จนลุกลี้ลุกลนไม่เป็นตัวของตัวเอง

แต่ผมว่า การเจริญมรณะสติ น่าจะหมายถึงอะไรง่ายๆ

อย่างการตระหนักรู้ในทุกลมหายใจเข้าออกที่ว่า

“ความตายมาเยือนเราได้ตลอดเวลา”

“ภัยจะมาเมื่อไรก็ได้”


แล้วไงต่อ

...

น้ำท่วมโลกถือเป็นเรื่องใหญ่

อาจหมายถึง ความตายของอะไรหลายๆอย่าง

ที่ใกล้เข้ามา รอเราอยู่เบื้องหน้า ไม่ช้าก็เร็ว

เมื่อความตายอยู่ตรงหน้า คำถามที่ว่า

“ถ้าพรุ่งนี้อเมริกาจะทิ้งระเบิดปรมาณูลงทั่วประเทศไทย คุณจะย้ายไปอยู่ประเทศไหน?”

“หากคุณกำลังเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คุณจะไปบำบัดรักษา ยืดเวลาชีวิตกันที่ไหน?”

และ “ถ้าพรุ่งนี้น้ำจะท่วมโลก คุณจะหนีน้ำไปอยู่ไหน?”

มองออกนอกตัวไป แล้วเห็นอะไรในใจบ้าง

...


ได้ยินไหม...

ยังมีเสียงกระซิบอย่างแผ่วเบา เสียงด้านในที่ยังเฝ้าถามใจเราอยู่เสมอ

“ถ้าพรุ่งนี้คุณอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างที่คุณรักอีกต่อไป

คุณจะใช้เวลาของวันนี้อย่างไร?”

ผมว่า...

นั่นคือพลังแห่งการดำเนินชีวิตที่ความตายได้มอบให้




“น้ำท่วมโลก”

“คนไทยฆ่าฟันกัน”

“สันติภาพกำลังจะสูญสิ้น”

ข้อความเหล่านี้ ไม่ได้เอาไว้เพียงเพื่อมองความเป็นไปในแง่ร้าย

ไม่ได้เอาไว้กระตุ้นต่อมความหวังและความกลัว

สร้างโลกขมุกขมัวให้ใจหมอง

...


คำถามเหล่านี้

เป็นคำถามแห่งความเป็นความตาย

เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบจากนักวิชาการ หรือผู้(สู่)รู้

แต่มันคือ “คำถามแห่งการเปลี่ยนจิตสำนึก”

คำถามที่ปลุกให้คุณตื่น

ที่คำตอบอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่ได้ถาม


“เราเกิดมาทำไม”

“หากวันหนึ่งเราต้องตาย แล้ววันนี้เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร”

คนทุกคนควรจะได้มีเวลาถามตัวเอง ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกชั่วขณะ

ทุกลมหายใจเข้าออกที่เรายังสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติไปได้ในแต่ละวัน

เป็นคำถามที่เราควรจะถามในทุกครั้งที่เราใช้จ่าย ทุกครั้งที่เราใช้รถ ทุกครั้งที่เราเลือกส.ส.เข้าไปในสภา

… ถือเป็นมรณานุสติ

...

น้ำจะท่วมโลกพรุ่งนี้แล้ว...

วันนี้เราได้ทำอะไรเพื่อคนรอบข้าง และวิกฤตจิตสำนึกที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง

น้ำท่วมหน้าบ้านคุณแล้ว...

คุณรู้สึกอะไรในใจบ้างกับความทุกข์ร่วมของเพื่อนมนุษย์ในครั้งนี้

...


อย่างน้อยก่อนจะหาทางหนีทีไล่

ขอได้เปิดพื้นที่ว่างๆของใจ

ไว้สำหรับการใคร่ครวญความรู้สึก ความหมาย และคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ดูบ้าง

อย่าเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาหนีน้ำ ขึ้นเรือพาย...

แล้วกลับไปใช้ชีวิตเวียนว่าย บริโภคเผลอไผลอย่างไร้สติ บนดอยแถวเชียงรายกันต่อไป

...


อย่างกะหนังไททานิค

ผมคิด...



โดย วิจักขณ์ พานิช
ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
คอลัมน์จิตวิวัฒน์
วันเสาร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

8.11.08

ฮัลโหลโมโม่



และแล้ว
เยเชก็มีเพื่อนเล่น
"โมโม่" หรือ ด.ญ.โมนะ
ลูกของลุงณัฐกับป้าอ้อ
more to come!

6.11.08

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๑

หายหน้าหายตาไปตลอดเดือนตุลาคม เนื่องด้วยเว้นเวลาไว้ให้กับการภาวนาของตัวเองบ้าง การเข้าฝึกเดี่ยวกับตนเองเช่นนี้ เสมือนเป็นการชำระล้างรากฐานของการเดินทางด้านในให้สะอาดบริสุทธิขึ้น ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องทางจิตวิญญาณ เราไม่อาจเฝ้าบอกตัวเองได้อย่างจริงใจตลอดเวลาว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม หรือ การภาวนาคือการฝึกสติในทุกขณะ หรือ ทุกย่างก้าวคือการเรียนรู้ เพราะคนทำงานลักษณะนี้มีสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง นั่นก็คือ กลไกการหลอกตัวเองที่ซับซ้อนขึ้นของอัตตา ที่สามารถดึงเอาเรื่องทางจิตวิญญาณ มาสนองความต้องการของตัวตนทางจิตวิญญาณ ให้ฟูฟ่องขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ท่านตรุงปะเรียกกลเกมอันนี้ว่า "วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ" ซึ่งผมมองว่าเป็นคำสอนที่สำคัญมากต่อการสืบต่อสายธารแห่งพุทธธรรมอันบริสุทธิ์ในสังคมไทยเรา

คุณค่าทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เส้นทางนี้เป็นเส้นทางแห่งการละ การสละ การให้ การยอมรับ การปล่อยว่าง ในชั้นที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งเราพัฒนาตนเองมากขึ้น กับดักก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย คุณค่าทางจิตวิญญาณที่แท้จะปรากฏขึ้นในใจของเราเพียงเท่านั้นท่ามกลางการสุกงอมของกรรมตามเหตุตามปัจจัย หาได้มีกฏเกณฑ์ มาตรฐาน หรือการประเมินจากภายนอก ที่จะบอกเราได้ว่าอะไรคือ เส้นทางการเติบโตทางจิตวิญญาณที่สูงส่ง อะไรคือสิ่งที่ถูกหรือสิ่งที่ผิด ที่ควรทำหรือไม่ควรทำ และการที่จะเชื่อใจตนเองได้อย่างแท้จริง สามารถยอมรับและจริงใจกับเส้นทางการแสวงหาสัจจะของเราได้อย่างแท้จริง การพัฒนาจิตสำนึกด้านสว่าง จึงต้องเกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการยอมรับแนวโน้มในด้านมืด (shadow) ด้วยเสมอ จึงจะทำให้เกิดดุลยภาพของการเดินทางด้านใน ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมการเข้าฝึกเข้มจึงจำเป็นมากสำหรับคนที่ทำงานด้านจิตวิญญาณ

การละ บางครั้งหมายถึงการปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง และบางครั้งหมายถึงการเข้าไปสร้างความสัมพันธ์ บางครั้งหมายถึงการเข้าไปเผชิญและต่อสู้ และบางครั้งอาจหมายถึงการถอย ไม่มีใครจะบอกได้ว่าอะไรคือเส้นทางการละวางตัวตนของคนผู้นั้น แต่สำหรับในสายธรรมที่ถูกถ่ายทอดมาจากท่านตรุงปะ และเร้จจี้ อาจารย์ทั้งสองจะเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการ "เข้าๆออกๆ" เพื่อที่จะไม่ให้มีแม้กระทั่ง "ที่ยืน" ให้กับตัวตนทางจิตวิญญาณ ไม่มีสถานะที่สะดวกสบายให้กับความคาดหวังใดๆ แม้กระทั่งต่อการปฏิบัติธรรมหรือความสำเร็จในชีวิตทางโลก ทุกอย่างถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีขึ้นไม่มีลง ไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีดีกว่าหรือเลวกว่า ทั้งขาวและดำ ทั้งมืดและสว่าง จนเราสามารถไว้วางใจทุกท่วงทำนองของชีวิตด้านใน ดำรงอยู่ในความวิเวก ความโดดเดี่ยว และเสียงด้านในที่เต็มเปี่ยมอย่างไม่อาจถูกสั่นคลอนได้

วัชรยานจึงไม่ได้เป็นแค่อะไรที่ดูโก้เก๋ หรือ เจ๋ง ในแง่ของหลักการที่ตัดผ่านทะลุุทะลวงเพียงเท่านั้น กว่าเราจะสัมผัสประสบการณ์แห่งการ "ไม่เป็นอะไรเลย" พร้อมกับ "เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง" ได้ มันต้องอาศัยหยาดเหงื่อและการอุทิศตนอย่างถึงที่สุด เวลากว่าพันกว่าหมื่นชั่วโมงที่เราหมดไปกับการนั่งเฉยๆ ดำรงอยู่กับเนื้อกับตัวอย่างไม่หวั่นไหว เวลาที่เราหมดไปกับการเฝ้าตามหลักการ ความคิด ความฝัน ที่ไม่มีวันจะเป็นเนื้อเป็นตัวขึ้นมาได้ กว่าที่เราจะตระหนักถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณที่เรามีอยู่ในใจอย่างเต็มเปี่ยมโดยที่เราไม่จำเป็นต้องออกไปมองหาที่ไหน เราก็ต้องตายแล้วตายอีก ผิดหวังและผิดหวังอีก จนท้ายที่สุดเราจึงเข้าใจ และกลับมาดำรงอยู่ ณ รากฐาน ---- the groundless ground, the wild place ป่าช้าอันเวิ้งว้างแห่งหุบเขาพราวแสง ที่ซึ่งการเดินทางด้านในจะสามารถดำเนินไปได้ด้วยใจที่จริงแท้มั่นคง โดยที่เราไม่ต้องกระเสือกกระสน ดิ้นรน พยายามที่จะเป็นอะไรเลยแม้แต้น้อย

ขอให้เพื่อนๆมีพลังแห่งศรัทธาในตนเองเสมอ

ท่ามกลางการขึ้นๆลงๆของการเดินทาง
วิจักขณ์

5.11.08

"ก่อนพุทธศาสนาอายุครบ ๒๖ ศตวรรษ"



ทุกวันนี้พุทธศาสนาถูกตีความให้แคบจนเหลือแต่ด้านเดียวคือมิติด้านลึก (หรือยิ่งกว่านั้นคือเหลือแต่เพียงประเพณีพิธีกรรม ซึ่งเป็นความตื้นอย่างยิ่ง) การตีความเช่นนั้นเป็นการตีกรอบพุทธศาสนาให้มีบทบาทแคบลง คือไม่สนใจชะตากรรมของสังคม การจำกัดตัวเช่นนี้นอกจากจะทำให้วัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียดเฟื่องฟูและซึมลึกแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อพุทธศาสนาเอง เพราะสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียดนั้น ย่อมบั่นทอนพลังของพุทธศาสนาเอง และทำให้พื้นที่ในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธแคบลง จนแม้แต่การรักษาตนให้มีคุณธรรมก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น ดังทุกวันนี้ผู้คนพบว่าตนยากที่จะครองตนให้มีความซื่อสัตย์สุจริตได้ในเวลาทำงาน เพียงแค่อยู่บนท้องถนนก็ยากจะมีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นได้ แต่ต้องเห็นแก่ตัวจึงจะอยู่รอดได้ กลายเป็นว่าจะเป็นคนดีได้ก็เฉพาะเวลาอยู่ในบ้านเท่านั้น และนับวันการทำความดีหรือมีน้ำใจแม้แต่ในบ้านก็เป็นเรื่องยาก เพราะต่างแสวงหาประโยชน์จากกันและกัน การเอาเปรียบและใช้ความรุนแรงในบ้านจึงมีแนวโน้มมากขึ้น สิ่งที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เตือนไว้เกือบ ๓ ทศวรรษมาแล้ว จึงใกล้จะเป็นความจริงขึ้นทุกที กล่าวคือ ชาวพุทธกำลังอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่นไปเรื่อยๆ "เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชาวมนุษย์อื่น" และต่อไปอาจถึงขั้นว่า "การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาไม่อาจเป็นไปได้เลย

<อ่านทั้งหมด>

จาก "ก่อนพุทธศาสนาอายุครบ ๒๖ ศตวรรษ"
โดย พระไพศาล วิสาโล
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

เรียนรู้ไปกับกาย

เป็นบทความที่ดีมากชิ้นนึงเลยครับ แสดงถึงความมหัศจรรย์ของการเรียนรู้ชีวิตผ่านกายได้ดีเยี่ยม


"กายมีมิติให้เราเข้าไปค้นหาและผจญภัยได้ไม่รู้จบ ขอเพียงเรายอมให้กายและใจเป็นผู้นำทาง แล้วเราจะได้รับประสบการณ์ต่างๆ ที่มีคุณค่า อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น กายนั้นคิดเหมือนสมองไม่ได้ แต่หลายครั้งเราก็เคยคาดหวังจะให้กายทำอะไรดีๆ หรู ๆ เหมือนสมอง ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม กายมีภูมิปัญญาของตนเองพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ หากเพียงเราไว้วางใจกายอย่างเต็มที่ ขอเพียงให้เราเปิดโอกาสให้กายได้พูดและแสดงบทบาทของมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา ในระยะยาว เราสามารถสร้างเสริมบุคลิกภาพของเราเองด้วยสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ ใช้ท่าทีทั้งด้านกาย ใจ และความคิดได้อย่างเหมาะสมและสมดุล เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ต่างๆ ที่ดีขึ้นได้ และนี่เองคือการเรียนรู้ที่เราได้เปิดพื้นที่ออกไปให้กว้างกว่าพื้นที่ของการคิด กลายเป็นการเรียนรู้ด้วยกายและใจอย่างใคร่ครวญ ลุ่มลึกและรอบด้าน เป็นการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงที่นำไปสู่การสืบค้นมิติด้านในของตนเอง และเป็นการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างและเชื่อมโยงมิติต่างๆ ในความเป็นจริงของธรรมชาติ อันนำไปสู่การเกิดปัญญาแห่งการดำเนินชีวิต ซึ่งก็คือแนวคิดของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษานั่นเอง"

จาก "เรียนรู้ไปกับกาย"
โดย สมสิทธิ์ อัสดรนิธี
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๑

3.11.08

เยเชนอนเปล

เมื่อเยเชนอนเปล
ก็เลิกโยเย
หันมาเฮเฮ




ลวง

เมื่อเจนจิราเผยกลเกมการลวงใจตน...



"...การที่เราจะแหวกม่านมายา ภาพลวงตาที่เราสร้างขึ้นมาเองนั้นเป็นเรื่องที่ยากแสนยาก และเราอาจจะรู้สึกเจ็บปวดกับมันมากมาย แต่เมื่อรับรู้ว่าในตัวเรามีมุมของการลวงหลอกตัวเองและผู้อื่นซุกซ่อนอยู่ สิ่งที่เราจะทำได้คือต้องอ่อนโยนกับตัวเองให้มาก ลดการกล่าวโทษหรือตัดสินตัวเองที่เป็นคนอย่างนี้ เพราะการที่เราเลือกใช้วิธีการเช่นนี้ทำให้เราสามารถดำรงตนอยู่ได้ในทุกวันนี้ การที่เราไม่ได้รับฟังหรือทำตามเสียงภายในตัวตนที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกหรือผิด เพียงแค่เพราะเราหลงลืมที่จะเอาใจใส่ตัวเอง เรามักเลือกที่จะฟังเสียงคนอื่น ความต้องการของคนอื่นมากกว่าตัวเอง เพียงเพราะเรากลัว กลัวที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราพูดความคิด ความรู้สึกที่แท้จริง กลัวว่าจะบางสิ่งที่ไม่เป็นไปอย่างที่ใจคิดวาดหวัง กลัวว่าถ้าพูดสิ่งที่เป็นความปรารถนาในใจของเราออกไปแล้วเราจะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่น่ารัก ไม่เป็นคนดี เราวาดความกลัวไว้ก่อนเสมอแล้วเอาความกลัวนั้นมาห่อหุ้มตัวตนอันเปราะบางของเราไว้..."

จาก "ลวง"
โดย เจนจิรา โลชา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๑

2.11.08

เรื่องทุกข์



ตัวเราแสนจะทนทุกข์ (ทุกข์)
เพราะมีตัวเราจึงมีทุกข์ (สมุทัย)
ไม่มีตัวเราและไม่มีทุกข์ (นิโรธ)
...
ธรรมชาติของชีวิตคือทุกข์ (มรรค)

กล้าที่จะเจ็บ...
กล้าที่จะปล่อย...
กล้าที่จะศิโรราบ...
กล้าที่จะเผชิญ...

วิจักขณ์

30.10.08

“ภาวนากับการรับใช้สังคม”



“ภาวนากับการรับใช้สังคม”
โดย วิจักขณ์ พานิช
๒๒ – ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
ณ พนาศรม ศาลายา จ.นครปฐม

โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อช่วยหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ที่อุทิศตัวในการทำงานเพื่อสังคม ให้ได้มีกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้เข้าใจตัวเอง เพื่อนำไปสู่การทำงานเพื่อคนอื่นที่ได้เติมเต็มทั้งตัวเองและสังคมไปด้วยกัน เนื่องจากการจัดอบรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา โดยเครือข่ายพุทธิกา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เข้าร่วมจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม

สนใจคลิ๊ก ที่นี่

the only way




always come back to the ground, the ground of our true practice that runs through our blood veins, our bones, our skin,...

solo retreat
9-28 october 2008
phulong, chaiyaphoom

17.10.08

บัณฑิตย่อมฝึกตน


<คลิ๊กที่รูปด้านบนเพื่ออ่าน>


อ่าน "บัณฑิตย่อมฝึกตน"
เส้นทางการขัดเกลาตนของคนจริง
ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๗-๒๔ ตุลาคม
คอลัมน์สามก๊ก ฉบับคนกันเอง
โดย เอื้อ อัญชลี

10.10.08

ชีวิตด้านใน


<คลิ๊กที่รูปด้านบนเพื่ออ่าน>


อ่าน "ขีวิตด้านใน"
เรื่องราวชีวิตการแสวงหาคุณค่าและความหมายของชายคนหนึ่ง
ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๐-๑๗ ตุลาคม
คอลัมน์สามก๊ก ฉบับคนกันเอง
โดย เอื้อ อัญชลี

4.10.08

richard reoch



The Shambhala Legend of Enlightened Society:
Words of Wisdom for a World at War
With Richard Reoch
Wednesday October 8th, 2008
7:00 pm to 9:00 pm
At the Monterey Place, 398 Soi Phai Sing To

ได้รับข่าวประชาสัมพันธ์จากเจมี่ เรนฮาร์ท เพื่อนที่ปัจจุบันมาตั้งรกรากแต่งงานกับสาวไทย เจมี่เคยเป็นนักเรียนของเรจจี้ แต่หลังจากที่เรจจี้แยกตัวออกมากจาก Shambhala International เจมี่ก็ตัดสินใจที่จะไม่กระโจนลงเรือพาย เลือกที่จะอยู่กับ Shambhala International ต่อไปในฐานะลูกศิษย์ของศากยัง มีปาม รินโปเช (ลูกชายของท่านตรุงปะ)

แต่กระนั้นเจมี่กับเราก็ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เจมี่จัดนั่งภาวนาทุกอาทิตย์ที่คอนโดมอนเทอเรย์ เพลส แถวศูนย์สิริกิติ์ โดยปกติก็จะเป็นการนั่งและสนทนาธรรม แต่หลายครั้งที่สถานที่แห่งนี้ได้ต้อนรับธรรมาจารย์ชาวทิเบตที่มาเยือนกรุงเทพฯ มาครั้งนี้เจมี่ได้เชิญริชาร์ด ริอ็อค มาเป็นแขกรับเชิญ

ริชาร์ด ริอ็อค ดำรงตำแหน่งประธานขององค์กรชัมบาลานานาชาติ (Shambhala International) ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากองค์กรวัชรธาตุ ( Vajradhatu Organization) ที่ก่อตั้งโดยเชอเกียม ตรุงปะ ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานเผยแผ่หลักธรรมคำสอนในสายปฏิบัติของชัมบาลาในซีกโลกตะวันตก แม้เราจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรแม่ดังกล่าวมากนัก (เรจจี้เปรียบเหมือนลูกชายคนโตที่หนีออกจากบ้าน) แต่ครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้สัมผัสกับแนวทางที่ต่างออกไปในวิถีของชัมบาลา

แนวทางของ Shambhala International ไม่ได้มีอะไรที่ผิดเพี้ยน แถมยังถือเป็นอีกด้านที่สำคัญที่ท่านตรุงปะได้หย่อนเมล็ดเอาไว้ นั่นคือเป็นด้าน macro หรือ ลักษณะขององค์กรศาสนาขนาดใหญ่

หากเพื่อนๆมีเวลาว่างและสนใจก็ขอเชิญชวนนะครับ ทุ่มนึง ที่มอนเทอเรย์ เพลส ลงสถานีรถไฟฟ้าศูนย์สิริกิติ์ อยู่ฝั่งตรงข้าม เดินเข้าไปในซอยไผ่สิงโต น่าจะไม่เกิน ๕๐๐ เมตร เห็นจะได้

คนนอกกรอบ


<คลิ๊กที่รูปด้านบนเพื่ออ่าน>


อ่าน "คนนอกกรอบ"
เรื่องราวมิตรภาพ,ทัศนะ, และมุมมองของสองหนุ่มแปลก
ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๓-๑๐ ตุลาคม
คอลัมน์สามก๊ก ฉบับคนกันเอง
โดย เอื้อ อัญชลี