21.2.09

"ละคร" ประตูสู่การภาวนา



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
คอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒

ในการฝึกทักษะการละคร (ในที่นี้หมายถึงทักษะการละครสมัยใหม่โดยทั่วๆ ไป) ไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด สิ่งที่ผู้ฝึกสอนมักจะให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ก็คือการให้ความสำคัญกับ 'ร่างกาย' นักแสดงจะถูกบอกกล่าวให้เห็นถึงความจำเป็นที่ตนจะต้องค้นหาและทำความเข้าใจกับร่างกายของตนเอง ในฐานะเครื่องมือสื่อสารความคิดและความรู้สึก แบบฝึกหัดหลายหลากจะถูกนำมาใช้เพื่อฝึกฝนทักษะในการ 'ทำความรู้จักกับร่างกายตัวเอง' ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเรื่องผัสสะและการรับรู้ให้เฉียบคม คล่องแคล่วว่องไว เช่น ให้รู้สึกในสิ่งที่กำลังสัมผัส ฟังในสิ่งที่ได้ยิน เห็นในสิ่งที่มองดูอยู่ ที่เรียกว่า Sensory Exercises ฯลฯ ฝึกความจำได้หมายรู้ (สัญญา) อารมณ์ความรู้สึก (เวทนา) และจินตนาการ จากนั้นจึงให้นำทุกสิ่งทุกอย่างมาเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างประณีตเนียน ถ้ามองเพียงเท่านี้ จะเห็นว่าการฝึกละครย่อมเป็นหนทางที่จะทำให้ผู้ฝึกเดินเข้าสู่ประตู่ของภาวนาได้ดียิ่งทางหนึ่งไม่แพ้ทางใด หากนักปฏิบัติธรรม หรือผู้ใฝ่ในการวิวัฒนาจิตวิญญาณยังตั้งแง่รังเกียจละครว่าเป็นเรื่องทางโลก และโยนทิ้งไปเสียเฉยๆ ก็นับว่าน่าเสียดาย


จากประสบการณ์ตรงของการเป็นนักการละคร และกระบวนกรสอนภาวนา ผมพบว่าเมื่อได้สอนผู้เข้าร่วมอบรมในเรื่องการภาวนา ผู้ที่ไม่เคยฝึกละครมาก่อนจะยังไม่เข้าใจเรื่องการผ่อนคลายร่างกาย (relaxation) ด้วยเพราะไม่เคยถูกฝึกให้สังเกตการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายอย่างละเอียดประณีต พอฝึกให้รู้สึกตัว หลายคนพบว่าผัสสะของตนเฉื่อยชาไม่ตื่นตัว ความรู้สึกตัวจึงไม่ชัดเจน หลงง่าย มัวง่าย หรือบางคนก็เพ่งจ้องเกินไปโดยไม่รู้ตัว เหตุเพราะไม่รู้จักวิธีผ่อนคลายร่างกาย ส่วนบางคนเมื่อเริ่มทำอานาปานสติ กลับรู้สึกว่าเห็นท้องพองยุบไม่ชัด แต่หากฝึกการละครมาก่อนเรื่องการหายใจจะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะนักแสดงที่เอาจริงเอาจังทุกคนจะถูกฝึก ถูกเน้นในเรื่องการหายใจอย่างเคี่ยวข้น...

<อ่านต่อทั้งหมด>>>

20.2.09

แม่ฮ่องสอน










ขอบคุณหมอชวนชื่นและชาวศรีสังวาลย์ สำหรับคำเชื้อเชิญ ความต้ั้งใจ และการต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี ขอบคุณโอกาสแรกในชีวิตที่ได้ไปเยือนแม่ฮ่องสอน เมืองเล็กๆที่มีเสน่ห์สำหรับคนรักความวิเวกและความเรียบง่าย

"พื้นฐานจิตตภาวนา"
กับ วิจักขณ์ พานิช
บุคลากรโรงพยาบาลศรีสังวาลย์
๑๓-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
ณ วัดถ้ำวัว, แม่ฮ่องสอน

11.2.09

...



"spiritual experience is a modest woman
who looks lovingly at only one man."


Rumi

10.2.09

แอ่งน้ำใจแห่งการรับฟัง



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552

มหาตมะ คานธี กล่าวว่า "จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในโลกนั้นเถิด" (Be the change you want to see in the world) หากเราไม่ปรารถนาความรุนแรง ก็จงเป็นสันติภาพ หากเราไม่ต้องการความมืด และได้แต่เพียงก่นด่าความมืด เราก็จะเป็นเพียงเสียงก่นด่าและความคับข้องหมองใจ และแล้วความมืดก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าเราจุดเทียนไขสักเล่ม ความมืดมิดก็จะมลายหายไป เราเลือกได้ว่าจะก่นด่า หรือจุดเทียน

การมีชีวิตอยู่อย่างเปิดรับ อย่างมีแรงบันดาลใจที่ไม่คาดหวัง คือการดำรงอยู่ในแรงบันดาลใจ อย่างไม่ต้องมีชื่อหรือสถานะอะไร แม้แต่การใช้คำว่า "กระบวนกร" หรือ “ฟา” แทนคำว่า “วิทยากร” นอกจากเพื่อให้เห็นความต่างของวิธีการจัดการกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังต้องการสื่อสารความเป็นธรรมดา ที่ไม่ต้อง "พิเศษ" หรือ "วิเศษ" กว่าใครๆ แต่เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องการให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้มีโอกาสให้หรือแบ่งปันสิ่งที่มีค่าแก่กันและกัน เพราะเราทุกคนต่างมีของขวัญล้ำค่าที่จะเป็นผู้ให้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

ไม่ว่าจะยุคไหนๆ มนุษย์ได้สร้างเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะกับผู้คนด้วยกัน หรือกับโลกแห่งธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรม ประเพณี หรือกิจกรรมธรรมดาสามัญในชีวิต สมัยนี้ก็เช่นกัน เราต้องการการเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างรู้สึกปลอดภัย ไร้วาระซ่อนเร้นหรือกดทับ เพื่อให้เราได้ยินเสียงของตัวเองและของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของการยอมรับ และมากไปกว่านั้นเรายังมีสัญชาติญาณที่โหยหาความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลที่มีชีวิตนี้ แนวปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาและความเชื่อต่างๆ จึงได้บังเกิดขึ้น ในโลกปัจจุบันก็เช่นกัน การค้นหาจิตอันเป็นหนึ่งเดียวนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป

<<อ่านทั้งหมด>>

คิดแบบ ส.ศิวรักษ์



“คิดมากทำให้โง่”

เมื่อเรามัวแต่คิดวนไปวนมา คิดจนเข้าใจ สุดท้ายก็ทำให้เราคิดไปว่าเราฉลาด แต่จริงๆนั่นกลับทำให้เรายิ่งโง่ และกลัวที่จะเรียนรู้กับประสบการณ์จริงของชีวิต อาจารย์บอกว่าหากเรารู้ชัดว่าเราชอบอะไร ต้องการอะไร ก็ให้ทำไป ทุกอย่างถือเป็นประสบการณ์ของการเรียนรู้ นั่นคือการฝึกการดำเนินชีวิตตามหลักอิทธิบาท ๔ คือ การทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจแบบพอดีๆ

“เริ่มด้วยฉันทะ หรือความพอใจกับสิ่งที่เราเป็น และสิ่งที่เราทำ เมื่อเรามีความพอใจเราก็จะมีวิริยะ หรือความเพียรที่จะทำมันไปเรื่อยๆ เป็นความเพียรที่ไม่ทะเยอทะยานและก้าวร้าว ขณะเดียวกันก็มี “จิตตะ” มาประคอง เป็นด้านของหัวใจที่รับรู้ ว่าเอ๊ะมันมากเกินไปหรือเปล่า จากนั้นก็มี “วิมังสา” เป็นการพิจารณาดูผลที่เกิดขึ้นและคำตักเตือนอย่างรอบคอบ ผมว่าหลักอิทธิบาท ๔ จะช่วยมากให้เราไม่จมอยู่กับความคิดจนเป็นทาสของมัน”

จาก "คิดแบบ ส.ศิวรักษ์"

6.2.09

กลับเถิด



คุณจะต้องสัมพันธ์กับตัวคุณเอง
กับประสบการณ์ของตนเอง
ด้วยความจริงใจและตรงไปตรงมา

หากคุณเลือกที่จะไม่ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเป็น
เอาแต่ทะเยอทะยานที่จะเป็นคนพิเศษ
อัดแน่นด้วยความซับซ้อนและความไม่ธรรมดา
เส้นทางแห่งจิตวิญญาณจะกลายเป็นสิ่งที่อันตรายมาก
ทุกอย่างคงเป็นได้แค่หน้ากาก ความสวยงามที่ฉาบฉวย

เส้นทางสายนี้ คือ จิตวิญญาณแห่งชีวิต
...เป็นตำนานแห่งประสบการณ์ที่มีชีวิต
ความเป็นไปได้ในเนื้อในตัวอันปราศจากเงื่อนไข
กับความเปราะบางของใจ
ที่เต็มเปี่ยมและจริงแท้ในทุกลมหายใจเข้าออก

เชอเกียม ตรุงปะ

1.2.09

ง่ายงามในความธรรมดา





"ง่ายงามในความธรรมดา"
เส้นทางการฝึกตนของคนธรรมดา
โดย วิจักขณ์ พานิช
๓๑ มกราคม - ๑ กุมภาพันธ์ ๕๒
เรือนร้อยฉนำ, สวนเงินมีมา

<ดูรูปทั้งหมด>>