25.1.11

ปัญญากับญาณของอาจารย์พุทธทาสกับหลวงพ่อเทียน



ปัญญากับญาณของอาจารย์พุทธทาสกับหลวงพ่อเทียน
สนทนากับเขมานันทะ (ตอนที่ ๓)


วิจักขณ์: ระหว่างหลวงพ่อเทียนกับอ.พุทธทาส อาจารย์สนิทกับใครมากกว่ากันครับ

เขมานันทะ: แน่นอนครับว่า หลวงพ่อเทียนนั้นผมเข้าหาได้ทุกโอกาส ทั้งหลับทั้งตื่น แต่สำหรับท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น จะต้องมีเหตุผลมากพอจริงๆ จึงจะเข้าหาได้

วิจักขณ์: ที่บอกว่าเข้าหาได้ทั้งหลับทั้งตื่น หมายความว่ายังไงครับ

เขมานันทะ: หมายความว่าถ้าต้องการปลุกท่านก็ได้

วิจักขณ์: ขนาดนั้นเลยเหรอครับ

เขมานันทะ: ครับ หลวงพ่อเทียนพร้อมเสมอที่จะฟัง ตอบโต้ มี action ด้วย ส่วนท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น เป็นไปในลักษณะการสอนมากกว่า หลวงพ่อเทียนเนี่ย...มีปฏิกิริยาครับ ตอบโต้ด้วย แต่ไม่ได้สั่งสอน

วิจักขณ์: ตอบโต้ยังไงครับ

เขมานันทะ: เช่น... เหตุเกิดที่สิงคโปร์ ผมนั่งอยู่กับพื้น หลวงพ่อเทียนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ผมก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อครั้งมีสำนักเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ นำเรื่องราวที่ตนเองประสบมาเล่า โดยไม่ได้พิจารณาว่าท่านเต็มใจจะฟังหรือเปล่า ผมเล่าไป เล่าไป จนรู้สึกเหมือนไม่มีคนฟังเลย พอผมเงยหน้า ดูหน้าท่าน สีหน้าท่านเปลี่ยนเป็นดุร้ายเลยครับ ซึ่งทำให้กระแสความคิดแช่มชื่นที่ผมมี สะดุดไปเลยครับ (หัวเราะ)

คราวหนึ่งผมนวดท่าน เป็นกิริยาที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดี นวดครูบาอาจารย์นั้นถือเป็นความจงรักภักดีส่วนตัว ไม่สนิทใกล้ชิดกันจริงไม่ยอมให้นวด ผมเห็นท่านหลับครับ หลับตา ตอนนวดไปนั้น ผมกระหยิ่มยิ้มย่องมาก ได้ทำความสนิมสนมกับครูบาอาจารย์ ได้อันดับหนึ่งถึงขนาดท่านไว้ใจ คิดว่าท่านหลับครับ พอมาถึงจุดหนึ่งผมเริ่มเบื่อ จิตมันเลยปกติขึ้นมา ไม่กระหยิ่มยิ้มย่องเหมือนตอนแรก ท่านก็ลืมตาขึ้นมา แล้วบอกว่า “เนี่ย ทำอย่างนี้ ทำในใจอย่างนี้” ผมเห็นแวบหนึ่ง เห็นความปกติแวบหนึ่ง แล้วความคิดก็เข้ามาชิงพื้นที่ ด้วยวิธีเรียนแบบนี้ล่ะครับ เรียกว่า ถึงลูกถึงคน เปรียบเหมือนนักฟุตบอลฝีเท้าว่องไว พอลูกบอลผ่านหน้าก็ชู้ทเลย

วิจักขณ์: เหมือนท่านร่วมเล่นไปกับเรา

เขมานันทะ: ครับ การสอนของหลวงพ่อเทียนนั้นเป็นไปอย่างฉับพลัน ไม่มีแผนการ เหตุการณ์จริงทั้งนั้นเลย ผมรู้สึกว่า ผมเรียนวิธีนี้ได้สะดวก ส่วนท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น จะไปคุยกับท่าน ต้องเก็บข้อรู้ต่างๆนั้นไว้อย่างหนักอึ้ง หลายเรื่องทำความยุ่งยากให้แก่ความคิดเก่าๆ อย่างกรณีหลวงพ่อเทียนนั้น ไม่รบกวนความคิดเก่าเลยครับ เพราะโดยนิสัยส่วนตัวท่าน มักจะขึ้นต้นคำสอนว่า “ไม่ว่าคุณจะนุ่งกางเกงขาสั้น หรือกางเกงขายาว คุณจะเป็นคนจีน คนไทย คนแขก คนฝรั่ง ธรรมชาติแท้ของมนุษย์นั้นเหมือนกัน เป็นการเปิดมิติที่กว้างไกลมาก เปิดโอบรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ในคนทุกคน

ผมอยู่ใกล้ท่านอาจารย์ผมบอกตรงๆผมไม่ค่อยมีความสุข คือรู้สึกแบกภาระในความรู้ ทว่าอยู่กับหลวงพ่อเทียน รู้สึกไม่รู้อะไรขึ้นทุกวันๆ แต่กลับเบาดีครับ เบาสบายดี ธรรมชาติของความรู้เป็นอย่างนั้นเองครับ รู้แล้วยึดถือไว้มันก็หนัก แต่การจะพูดว่า ไม่รู้อะไรเลย ที่จริงเป็นสมมติฐานเท่านั้น ไม่มีใครหรอกครับที่ไม่รู้อะไรเลย

วิธีการของหลวงพ่อเทียนนำมาซึ่งความ ‘เลี่ยวลื่นลม’ ในการใช้ชีวิตทางธรรม ไม่หนักใจอีกต่อไป มันเหมือนทำใจได้ครับ แต่ก่อนผมเรียนอานาปาณสตินี่ เต็มไปด้วยความกลัดกลุ้มครับ เพราะมันเป็น pattern ที่วางไว้ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นหลักสูตร รู้สึกเหมือนบ่าแบกความสงสัยในวิชาความรู้ รับภาระในการทำความกระจ่าง ในฐานะที่เป็นนักบวช ต้องตอบคำถามของโยม เต็มไปด้วยภาระครับ และภาระนี้มาเร็วเกินไป ความเติบโตทางจิตใจยังไม่พอที่จะรับสิ่งหนักหน่วงและกว้างขวาง รับผิดชอบต่อลัทธินิกายของตัวเอง เถรวาทถือว่าเป็นภาระที่พระจะต้องทำ ผมคบหาหลวงพ่อเทียนแล้วก็ พูดสำนวนเล่นๆว่า “สึกออกมาเป็นโยมอย่างสบายอารมณ์” ไม่รู้สึกเศร้าสร้อยน้อยใจ ปกติพระจะสึกออกมาจะมีอารมณ์มาก ยิ่งบวชนานเท่าไหร่ยิ่งมีอารมณ์ บางองค์ร้องไห้เลยก็มี

แล้วความไร้เดียงสาจากการไม่รู้หนังสือหนังหาของท่านช่วยผมได้มาก เจอกันแรกๆ ท่านเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออกเลย ช่วยผมมาก คือ ได้ตัวอย่างของจริงที่ว่า หนังสืออยู่ในฐานะอะไรของพุทธปัญญา สามารถแยกแยะออกได้ว่า การรู้หนังสือนั้นมันก็ดีครับไม่ใช่ไม่ดี แต่ก็อาจเป็นการแบกภาระของความเป็นผู้รู้ในวันเวลาที่ยังไม่สมควร หลวงพ่อเทียนพูดทุกคำน่าฟัง เพราะสะท้อนออกจากจิตใจล้วนๆ ไม่มีความรู้ซึ่งถือว่าเป็นอวิชชาเข้ามาปนเปื้อนเลย

หลวงพ่อเทียนท่านไม่รู้ว่าโลกกลม ผมต้องมานั่งอธิบายให้ฟัง ท่านบอกว่ามันกลมได้ยังไง ทุกวันหลวงพ่อเห็นว่ามันแบน เวลาที่ผมสูญเสียฐานของสติ ความรู้สึกตัว ท่านก็กระซิบว่า “ตอนนี้โลกจะกลมหรือแบนไม่สำคัญ สำคัญว่าเธอรู้สึกตัวได้หรือเปล่า” โลกกลม โลกแบนนั้นเป็นเรื่องฉากผ่าน หลวงพ่อเทียนท่านอาศัยเหตุการณ์ได้ดีมากในการแนะนำ

มีคำถามคำตอบชุดหนึ่งที่ทำให้ผมเห็น หรือได้มุมมองอีกมุมมองหนึ่ง ผมแบกคำถามไปหาท่านอาจารย์สวนโมกข์ด้วยข้อสงสัยว่า ทำไมเด็กๆ เช่น ลูกศิษย์ของสารีบุตรจึงบรรลุอรหัตผลได้ เพราะธรรมะควรจะเป็นเรื่องของผู้มีประสบการณ์ในชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์ในอริยสัจสี่ อันเป็นแกนของพุทธศาสนาเถรวาท มันนำมาอธิบายอายุน้อยๆไม่ได้ แล้วผมก็ได้ยินท่านอาจารย์สวนโมกข์บอกว่า “ผมก็ไม่แน่ใจว่า ส่วนสุดของความหมายนั้นหมายถึงอะไร? ปกติธรรมะที่ท่านสอนอยู่ทั่วๆไป ย่อมเพ่งเล็งตรงไปสู่ประสบการณ์ในชีวิต" ผมก็เก็บคำถามนั้น เรียกว่าแบกคำถามดีกว่า ผมแบกไปแบกมา ก็เลยแบกมาถามหลวงพ่อเทียนด้วยคำถามเดิม หลวงพ่อเทียนร้องว่า “ยิ่งเล็กเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น เพราะอารมณ์เค้าน้อย” ผมเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้ครับ รู้สึกโล่งเข้าไปในหัวใจ คือ เรามักจะลืม เมื่อได้คำตอบผ่านทางมิติหนึ่ง มักจะลืมอีกมิติหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง คำตอบชุดหนึ่งอาจจะเหมาะกับอุปนิสัยหนึ่ง มันไม่มีอะไรแน่นอนตายตัวลงไป ผมเก็บเกี่ยวประโยชน์เอาตรงนี้ได้ โดยไม่สูญเสียศรัทธาทั้งด้าน intellect (ปัญญา) และด้าน intuition (ญาณ)

หลวงพ่อเทียนนั้นผมเคยสังเกตหลายครั้งว่า มีความฉับไวมากในเรื่องญาณ ภายนอกดูคล้ายเป็นคนเด๋อ บางทีอธิบายอะไรดูไม่เข้าท่า เช่น อธิบายขันธ์ห้า ท่านบอกว่าขันน้ำ ซึ่งใหม่ๆ ผมก็รู้สึกสับสนกับการใช้ศัพท์ในความหมายของท่านเอง จนกว่าเราจะเข้าไปซักไซ้ ท่านก็จะตีแผ่ออกมา เพราะเป็นที่รู้กันว่า ธรรมะเป็นเพียงอุบาย ข้อนี้สำคัญมากเลยนะ ธรรมะเป็นเพียงอุบายเท่านั้นเอง ช่วยให้สำเร็จประโยชน์ ไม่ใช่เอาอุบายมาเทิดทูนไว้

อีกข้อหนึ่งที่ฉกาจฉกรรจ์ วันหนึ่งเหตุเกิดที่วัดสนามใน มีพระรูปหนึ่งเปิดคาสเซ็ตท์เทปเทศนาของท่านอาจารย์สวนโมกข์ ที่ท่านพูดว่า “ธรรมะคือธรรมชาติ” หลวงพ่อเทียนได้ยินก็ลุกขึ้นยืนครับ แล้วบอกว่า “ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นที่สุดของธรรมชาติ” ผมก็เก็บเกี่ยวประโยชน์ได้อีกครับ มองด้านหนึ่งของสายตามนุษย์ สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามองให้สุดสายจริงๆ มองไปสู่ เหมือนที่โวหารบอกว่า “ตาลยอดด้วน” คือที่สุดของธรรมชาติ ไม่เกิดอีกแล้ว ธรรมะคือธรรมชาติยังฟังแล้วกำกวมอยู่ อาจปรุงไปเกิดต่อ แต่ถ้าที่สุดของธรรมชาติ คือ ไม่เกินนี้แล้ว ไม่เกิดใหม่ปรุงใหม่อีกแล้ว ผมเสียดายไม่ได้บันทึกไว้ นี่ก็พูดไปนึกเท่าที่นึกได้ มีคนให้นิยามว่าเรียนกับหลวงพ่อเทียนเป็น “dynamic school” ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่มีเรียนพระไตรปิฎกเลย ไม่สนับสนุนให้อ่านความรู้แบบนักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ เพราะความรู้ที่รู้ล่วงหน้าล้วนเป็นอุปสรรคต่อการลุกโพลงของดวงจิต


ธันวาคม ๕๓
ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ