25.1.11

แก้กรรมในความมืด



แก้กรรมในความมืด
สนทนากับเขมานันทะ ตอนที่ ๔


วิจักขณ์: อาจารย์เคยได้ยินกระแสเรื่องการแก้กรรมบ้างไหมครับ คนที่มีความทุกข์ตามหาเกจิอาจารย์เพื่อให้ช่วยดูกรรม และแนะวิธีที่จะช่วยแก้กรรมของตัวเองให้หมดไป อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรครับ

เขมานันทะ: (นิ่งนาน) กรรม... กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กรรม ๓ เมื่อเราพูดถึงการกระทำกรรม คนทั่วไปรู้จักกรรมดำ กรรมขาว หรือกรรมทั้งขาวทั้งดำปนกัน และกรรมไม่ดำไม่ขาว เรามักได้ฟังว่า คนนี้เป็นกรรมของเค้าที่เค้าเกิดมายากจน เราไม่เคยมองให้หลุดพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้เลย คำว่ากรรมดูเป็นเรื่องหนักและปิดกั้นการมองเห็น ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้าเรากล้ามอง ก็ไม่ยากเย็นที่จะเห็นได้ว่า เพราะวันๆเอาแต่เกียจคร้านไม่ทำอะไร เขาจึงยากจน เขาสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เขาจึงหมดเงินและยากจน ไม่ใช่เพราะฟ้าดินลงโทษ เพราะเขาทำนา เขาจึงเป็นชาวนา ไม่ใช่เทวดามาแต่งตั้งให้เป็น กรรมของพุทธเป็นเรื่องธรรมดามากๆ แต่ดูเหมือนเราไปคว้าเอากรรมในลัทธิอื่น มาสวมต่อเข้ากับพุทธศาสนา

วิจักขณ์: ตอนที่ผมเริ่มฝึกภาวนา มีการอธิบายในลักษณะหนึ่งที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ เราไม่เคยนั่งสมาธินานๆ พอนั่งไปมันก็ปวดขามากใช่มั้ยครับ แล้วผมก็อยากจะขยับ เปลี่ยนขา แต่คนที่เป็นวิทยากรก็เดินมา แล้วบอกว่าให้นั่งต่อไปไม่ต้องเปลี่ยน นั่นเป็นกรรม ชาติที่แล้วเนี่ยเคยไปตีไก่ ชนไก่มาล่ะมั้งเนี่ย แล้วก็เหมือนพยายามจะถามต่อว่านั่งไปแล้วเห็นอะไรมั่ง

เขมานันทะ: อ่อ (หัวเราะ) ไปหักขาจิ้งหรีดเข้า

วิจักขณ์: (หัวเราะ) สมัยนี้ก็ยังมีนะครับอธิบายแบบนี้ พออินๆ เข้าก็เห็นเป็นภาพนั้นจริงๆ วิทยากรก็บอกให้แผ่เมตตา ขออโหสิกรรมแก่เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งพอทำๆ ไปก็ได้ผลทำให้ใจเราอ่อนโยน มีเมตตามากขึ้นจริงนะครับ แต่บอกตามตรงว่า ผมไม่ค่อยชอบเลย

เขมานันทะ: โดยทั่วไปก็อธิบายกันแบบนั้นแหละครับ ซึ่งมีประโยชน์บ้างเล็กน้อยในทางจริยธรรม ทำให้ระมัดระวังสำรวมชีวิตอื่น ไม่ว่าจะเป็นหนอน นก ทำให้เรามีเมตตาต่อสรรพสัตว์ ซึ่งมันก็ดูโง่ๆ ทื่อๆ อย่างนั้น การอธิบายแบบนี้น่าจะเหมาะกับคนประเภทที่เอาดีทางปัญญาไม่ได้ หันไปสู่ความเชื่อดีกว่า ง่ายดี และมันค่อนข้าง dramatize ผู้คน ดูแล้วใครรู้เรื่องกรรมนี่จะกลายเป็นผู้วิเศษไปเลย แต่จริงๆแล้วเรื่องกรรมนี่อธิบายได้ไม่ยากเย็นอะไร กรรมดำเป็นการกระทำที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น กรรมขาวเป็นการกระทำที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชีวิตงอกงาม กรรมไม่ดำไม่ขาวคือกลางๆ อย่างอริยมรรคนี่ถือเป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว อย่างที่ผมยกตัวอย่างว่า คนที่เชื่อว่าชาวนาเกิดมายากจน ชาติก่อนเคยทำบาปทำชั่วมา อย่างนี้เป็นการอธิบายที่เลยเถิดไปครับ ดูจะลึกลับชอบกล ที่จริงๆการที่เค้าเกิดมายากจน อาจเป็นเพราะความเกียจคร้านของเขาเอง อาจเป็นเพราะพ่อแม่ทิ้งหนี้สินไว้ ไม่ได้ศึกษาเข้าใจทุกข์ที่ผจญอยู่มากพอ หรือว่าสาวลึกลงไป อาจเป็นเพราะจิตใจของเขาไม่ตั้งมั่นในตัวเองก็เป็นได้

วิจักขณ์: หรือในบางครั้งชาวนายากจน ทั้งๆที่ขยัน ทำงานหนัก ใจบุญสุนทาน ประหยัดมัธยัสถ์ก็มีนะครับ ดูเหมือนสังคมทุกวันนี้มีความซับซ้อนขึ้นไปอีก สาวเหตุไปอาจเป็นเพราะนายทุนกดขี่ ถูกเอาเปรียบโดยนโยบายของภาครัฐ ระบบการจัดสรรที่ทำกินไม่ยุติธรรม ราคาพืชผลทางการเกษตรกำหนดไว้ต่ำเกินจริง อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เขมานันทะ: นั่นควรจะถูกดึงมาอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อเราสามารถดึงความรู้เหล่านี้มาอธิบายจนเกิดความเข้าใจได้ เราก็จะแก้กรรมได้ครับ ส่วนอำนาจลึกลับนั้นเราแก้ไม่ได้ ได้แต่อ้อนวอน ...ทางมันแคบนิดเดียวครับ เรื่องความเชื่อเป็นเรื่องที่งมงายในตัวมันเอง ต่อให้เรื่องนั้นจะจริง แต่ก็ยังไม่เข้าใจเหตุเข้าใจผล

วิจักขณ์: มีเหตุการณ์นึงครับที่ผมได้ดูในคลิปวิดีโอ เหตุเกิด ณ สำนักแห่งหนึ่ง มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งมาแก้กรรม เป็นหญิงสาวหน้าตาดี คงมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์อะไรทำนองนี้ ก็มาขอให้แม่ชีดูกรรมและแก้กรรมให้ แม่ชีก็บอกว่า “ชาติที่แล้วเนี่ย โยมเคยเปิดประตูเมืองให้พม่าเข้ามา ชาตินี้ก็เลยมีแต่ผู้ชายเข้ามาทำร้าย”

เขมานันทะ: พูดอย่างนี้ นางอองซานซูจี เสียใจแย่…

วิจักขณ์: (หัวเราะ)

...แล้วแม่ชีก็แนะให้เธอแก้กรรมโดยไปอยู่ในห้องที่ไม่มีประตู หรือไม่ก็หาผ้ามาปิดประตูเอาไว้ แล้วเอาหอยมาเรียงไว้หน้าประตูเพื่อจะได้รับกรรมไปแทน อาจารย์มองการอธิบายหรือชี้แนะในลักษณะนี้ยังไงครับ เพราะดูเหมือนการช่วยแก้กรรมของแม่ชีก็ช่วยทำให้คนที่เข้ามาหาสบายใจขึ้นได้จริงๆ

เขมานันทะ: เป็นความสบายใจบนพื้นฐานของความเชื่อครับ เช่น เชื่อว่าเราโชคดี เราเกิดวันจันทร์ หรือเกิดวันสำคัญ เป็นเรื่องของความเชื่อครับ

วิจักขณ์: คือ เชื่อใหม่ให้สบายใจขึ้น ปรับความเชื่อ เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน อย่างนั้นเหรอครับ

เขมานันทะ: แต่มันสบายใจแบบโง่ๆยังไงไม่รู้นะครับ เชื่อให้สบายใจขึ้น เพราะโดยแท้จริงเราทำความเข้าใจได้อยู่ครับ เราไม่จำเป็นต้องใช้ความเชื่อเต็มร้อยเปอร์เซนต์ เราอาจจะเชื่อว่า “อาจจะมีจริงก็ได้” นี่เป็นความเชื่อเบื้องต้นนะครับ ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้ผู้ฟังหายใจโล่งอกก่อน เพราะผู้ฟังมีหลายประเภทนะครับ ประเภทชอบเชื่อไม่ชอบเหตุผลมี ประเภทเกลียดความเชื่อ เพราะมีสติปัญญาเป็นของตัวเองก็มี

วิจักขณ์: เหมือนกับว่าการอธิบายด้วยความเชื่อพยายามทำให้เกิดความลึกลับ

เขมานันทะ: ...เพื่อประโยชน์ผลของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลครับ

วิจักขณ์: ทำไมอาจารย์ถึงมองว่าความลึกลับถึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลล่ะครับ

เขมานันทะ: มันเป็นความดำมืดครับ

วิจักขณ์: หมายความว่า การอธิบายให้เกิดความลึกลับไม่ได้ช่วยคนฟังจริงๆ แทนที่จะได้ความกระจ่าง กลับเลิกถาม เลิกสงสัยเพราะได้ความเชื่อหรือความลึกลับบางอย่างกลับไป

เขมานันทะ: ถูกครับ ทำให้ผู้ฟังมืดยิ่งขึ้น

วิจักขณ์: เป็นความสบายใจในความมืด ว่าอย่างนั้นได้มั๊ยครับ

เขมานันทะ: จริงๆผมว่าไม่สบายใจขึ้นนะ เรียกได้ว่าครึกครื้นขึ้น เหมือนคนเมาเหล้ามากกว่า ลัทธิความเชื่อที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ ครองใจสาวก มักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ อ้างเทพ อ้างเทวดา หรือในที่นี้กรรมได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป ทั้งๆที่จริงๆแล้วกรรมเป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจได้ ถ้ากล้ามองและทำความเข้าใจ


ธันวาคม ๕๓
ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ

[คลิปที่กล่าวถึงในการสนทนา ดูได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=3yRxhTM_i4s&playnext=1&list=PLBB55B09B6BAAFA9A&index=52 ]