26.1.11

มาธยมิก: การข้ามพ้นตรรกะ ด้วยการใช้ตรรกะเป็นหินก้าว

มาธยมิก คือ อะไร?

แน่นอนว่ามาธยมิกชนขนานแท้ จะต้องตอบคำถามที่ว่า "มาธยมิก คือ อะไร?" ด้วยประโยคปฏิเสธ; มาธยมิกไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่หลักธรรม ไม่ใช่ความเชื่อ ไม่ใช่สำนักทางปรัชญา ไม่ใช่ทฤษฎีทางภาษาและทฤษฎีวิเคราะห์ ไมใช่จิตบำบัด ไม่ใช่สัสสตทิฏฐิ (ตายแล้วเกิด) ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ (ตายแล้วสูญ) ไม่ใช่อัตถิภาวะนิยม และก็ไม่ใช่เกมประลองไหวพริบสำหรับคนบางกลุ่มในอินเดียและธิเบตที่ว่างจัด สรรหามาเล่นกัน หรือใช้ปั่นหัวคนอื่น

แล้ว มาธยมิก คือ อะไร?

เวลาคำว่า "มาธยมิก" ถูกอ้างถึง อย่างแรกคือ เราต้องดูให้ดีว่าบริบทการนำมาใช้นั้นบ่งชี้ไปที่สิ่งใด เรากำลังพูดถึงทฤษฎี รูปแบบการปฏิบัติภาวนา เส้นทางแห่งจิตวิญญาณ ผลลัพธ์ หรือธรรมชาติสูงสุดแห่งสรรพสิ่ง (ที่รวมถึงจิตของเรา) ทว่าโดยส่วนมากแล้ว ความหมายของมาธยมิกที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ก็คือ ความหมายสุดท้าย อันแสดงถึงธรรมชาติสูงสุดอันเป็นพื้นฐานให้กับมาธยมิกไตรสิกขา ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เกิดขึ้นได้ โดยที่เป้าหมายของมาธยมิกไตรสิกขาไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งอะไรทั้งสิ้น นอกไปเสียจากการเข้าถึงธรรมชาตินั้นอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ของมาธยมิกจึงเป็นประสบการณ์ตรงและมิอาจผันแปรได้ของปรมัตถธรรมภายในจิตใจเราเอง

แล้วเราจะพูดถึงมาธยมิกอย่างไร?

ปรมัตถธรรม เป็นภาวะที่ข้ามพ้นจิตปรุงแต่ง ข้ามพ้นถ้อยคำ ข้ามพ้นการผันแปร และการเกิดตาย ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครสามารถ "อธิบาย" "บรรยาย" "พูดถึง" หรือ "สอน" มาธยมิกกันได้จริงๆ โดยทั่วไปมีอยู่สองแนวทางที่ถูกอธิบายไว้ โดย พาโว รินโปเช

"บ้างก็ไม่ให้คำตอบในฐานะความจริงสูงสุด กรณีพวกที่พยายามเข้าใจความหมายโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็ทำได้แค่หัวเราะ ใครจะคาดคั้นเอาความจริงสูงสุดให้ได้ คงทำได้เพียงไม่มีคำตอบให้"