25.1.11

ความกล้า กับการท้าทายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม



เสวนา พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ


(๕) ส.ศิวรักษ์: ความกล้า กับการท้าทายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม [ตอนจบ]

ส.ศิวรักษ์: ท่านได้ฟังสองทัศนคติไปแล้วนะครับ ศิโรตม์เค้ามองศาสนาเหมือนอย่างคนส่วนใหญ่มอง คือ ไปมองที่พระสงฆ์ แต่จริงๆแล้วพระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระศาสนา พระศาสนาคือตัวพุทธธรรมคำสอน และพระพุทธองค์ฝากพุทธธรรมคำสอนไว้กับพุทธบริษัทสี่ ซึ่งมีทั้งภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ และทางมหายานก็ถือว่ามี อุบาสกสงฆ์ และอุบาสิกาสงฆ์ จะมองเห็นว่ามีแต่พระอย่างเดียวนั้นไม่ได้ และจะเอาความเห็นของพระรูปเดียวมาตัดสินนั้นก็ไม่ได้ ที่ว่าผู้หญิงมีประจำเดือน แล้วแปรปรวนจึงบวชไม่ได้ นั่นถือเป็นเรื่องความคิดของพระรูปเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่พระที่ฉลาดเฉลียวอะไรนัก

เนื้อหาสาระคำสอนของพุทธศาสนานั้น ผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกันหมด ผู้หญิงตรัสรู้ได้เท่ากับผู้ชาย ภิกษุณีสงฆ์เท่ากับภิกษุสงฆ์ และเวลานี้เมืองไทยก็ลองมีภิกษุณีสงฆ์แล้ว และสำหรับคนที่ศึกษาเรื่องศาสนาพุทธในเมืองไทย ต้องเข้าใจเลยนะว่า ที่วัดป่าบ้านตาด ที่เค้ายกย่องกันว่าพระอาจารย์มหาบัวเป็นพระอรหันต์นั้น มีแม่ชีเขียวซึ่งดูแลโยมมารดาของอาจารย์มหาบัว แล้วที่อุดรฯ เค้าเชื่อเลยว่าแม่ชีเขียวนั้นตรัสรู้เป็นพระอรหันต์เท่ากับอาจารย์มหาบัว ผิดถูกไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเค้าเชื่อ และยังมีสถูปด้วย และแม่ชีเขียวเวลาตาย เผาแล้ว อัฐิแกกลายเป็นพระธาตุ เหมือนกับอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์ ที่เค้านับถือกันเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นที่มาบอกว่าผู้หญิงผู้ชายไม่เท่ากันอะไรต่างๆนั้น มันไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า มันเป็นคำสอนของคนบางคน แล้วสิ่งที่วิจักขณ์พูด ก็เป็นในทางที่เข้ามาหาปรัชญาและสาระของศาสนาพุทธ ซึ่งมีประโยชน์มาก

แต่ผมจะพูดให้ท่านทั้งหลายฟังง่ายๆว่า ศาสนาพุทธหรือคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นคำสั่งสอนที่ให้ประโยชน์แก่แต่ละบุคคลด้วย และให้ประโยชน์แก่สังคมด้วย และให้ประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย ครบทั้งองค์สาม สิกขาบทโดยเฉพาะศีลห้านั้น เป็นการช่วยแต่ละบุคคลให้มีบทบาทในสังคมที่ถูกต้อง ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ไม่ให้มีเอารัดเอาเปรียบกัน และเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ

แต่คำสอนทั้งหมดมีจุดอ่อนเรื่องการเมือง พระพุทธเจ้าหลีกออกมาจากการเมือง มาตั้งสังคมใหม่ เป็นสังคมสงฆ์ สังคมสงฆ์ถือเป็นสังคมอุดมคติซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง กล่าวคือไม่มีอำนาจ แต่สังคมสงฆ์นั้นเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้มีความเสมอภาค ภราดรภาพ และเข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง จึงเป็นสังคมที่ประเสริฐที่สุด แต่ไม่ใช่สังคมการเมือง เพราะไม่มีอำนาจ ต้องเข้าใจให้ชัดเลยนะครับ

แต่ถ้าเอารูปแบบของสังคมสงฆ์มาใช้ในทางการเมืองเนี่ย จะได้ผลมาก เอ็มเบดการ์คนที่เขียนรัฐธรรมนูญอินเดีย อินเดียตั้งมาหกสิบกว่าปีแล้ว ยังไม่เคยมีรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญเลย และเอ็มเบ็ดการ์เป็นคนมาถือพุทธ เอ็มเบดการ์เกิดเป็นจัณฑาล จัณฑาลเป็นวรรณะที่ต่ำที่สุด เขาไม่รับศาสนาฮินดูเป็นเหตุให้เขาขัดกับมหาตมะ คานธี แล้วมาถือศาสนาพุทธ เพราะเขามองว่าศาสนาพุทธให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกันหมด แล้วเขาถือว่าประชาธิปไตยครั้งแรกเกิดขึ้นตอนที่พระพุทธเจ้าสอน และเกิดสังฆะขึ้น ซึ่งถือประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะว่าคนที่เข้าสู่สังฆะ ไม่ว่าจะชนชั้นสูงขนาดไหน ชนชั้นต่ำขนาดไหน เข้ามาได้เสมอกันหมด มีภราดรภาพเป็นพื้นฐาน และปฏิบัติชีวิต เพื่อเอาชนะความโลภ โกรธ หลง ให้เข้าถึงเสรีภาพ นี่เป็นคำของเอ็มเบดการ์ที่มีอิทธิพลมากนะครับ เพราะที่ฝรั่งว่าประชาธิปไตยมาจากอังกฤษอะไรนั่นตอแหลทั้งนั้น

แต่คณะสงฆ์เป็นสังคมซึ่งไม่ใช่การเมือง แต่ท้าทายการเมืองกระแสหลัก และชี้นำให้สังคมเดินทางนี้ ส่วนคำสอนที่เกี่ยวกับการเมืองนั้น ศาสนาพุทธสอนในทางอุดมคติ ทำได้ไม่ได้นั้นอีกเรื่อง เช่น ทศพิธราชธรรมมีประโยชน์มากกับชนชั้นปกครอง แต่อยากถามว่ามีคนในราชวงศ์กี่คนที่ทำตามนี้ จักรวรรดิวัตรเป็นแนวทางที่ให้ประโยชน์มาก คือคนที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดินั้นจะต้องมีประเทศราชารองลงไป เพราะจักรพรรดิต้องถือจักรวรรดิวัตร ให้ประเทศราชาถือทศพิธราชธรรม ซึ่งโดยหลักฐานในทางประพฤติปฏิบัติ ก็มีประโยชน์พอสมควร เช่น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นพระจักรพรรดิ หรือพระราชาธิราช พระเจ้าเชียงใหม่เป็นประเทศราชา หรือประเทศราช พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะไม่ไปก้าวก่ายพระเจ้าเชียงใหม่เป็นอันขาด ไม่ไปก้าวก่ายวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ไปก้าวก่ายการปกครองของเขา นี่คือถือหลักจักรวรรดิวัตร แล้วมาประยุกต์ใช้

แต่ตามความเป็นจริงทางการเมืองนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ผมว่าเราต้องยอมรับความจริงนะครับ พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่มาถือพุทธ คือ พระเจ้าพิมพิสาร ยกที่ดินถวายเป็นวัดแห่งแรก คือ วัดเวฬุวัน แต่พอมาถือพุทธแล้วแหยเลยครับ ถูกลูกฆ่าตาย ถือพุทธแล้วแหยครับ พระเจ้าอชาตศัตรู ที่แย่งราชสมบัติพ่อได้ เพราะไปเข้ากับเทวทัต ไม่ได้เข้าหาพระพุทธเจ้า พระเจ้าโกศลก็เหมือนกันนะครับ นับถือพระพุทธเจ้าในเรื่องส่วนตัว เช่น ท่านเสวยมากไป พระพุทธเจ้าบอกเสวยให้น้อยลง ก็ดี แต่ท่านก็เป็นคนบ้าสมภารไปตลอดชีวิต พระเจ้าอโศกเองมานับถือพุทธ ทำดีมากเลย แต่พระเจ้าอโศกเองก็ล้มเหลว ถูกแย่งราชสมบัติภายในรัชกาลพระองค์เอง อีกนัยหนึ่ง บทบาทคำสอนศาสนาพุทธในทางการเมืองมีความล้มเหลวมาโดยตลอด หรือผู้มีอำนาจเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองในทางการเมืองยิ่งกว่าในทางศาสนา

ตรงนี้พวกเราไม่รู้เรื่องกันแล้วครับ เพราะเมืองไทยที่ว่าเถรวาท ที่วิจักขณ์พูดไปเมื่อตะกี๊ เถรวาทของไทยมาจากทางลังกา ผมอาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายนะครับ คนรุ่นนี้คงไม่รู้เรื่องแล้ว พงศาวดารสยามนั้นกลับไปหาลังกาทวีป หนังสือมหาวงศ์พงศาวดารมันถอยไปถึงพระพุทธเจ้า แล้วมหาวงศ์นั้นชัดเลยครับ พระบอกเลยครับ พระเจ้าแผ่นดินสิงหลฆ่าไอ้พวกทมิฬเท่ากับฆ่าครึ่งมนุษย์เท่านั้นเอง พระเลวร้ายสุดๆมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว เล่นการเมืองมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว สยบกับอำนาจมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว ไม่ใช่มาสยบกับอำนาจเมื่อพระจอมเกล้าฯ แต่พระจอมเกล้าฯนั้นเอาศาสนามาอยู่ใต้อาณาจักรที่สุดเลย แล้วพระก็เลวร้ายยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดิน อยากรับสมณศักดิ์จนตัวสั่น ฉลองกันชิบหายวายป่วงหมด ติดสินบนกันด้วย เลอะถึงขนาดนี้ แล้ววิจักขณ์ยังฝันหวาน จะเห็นเถรวาทกลับมา เออ ก็ไม่เป็นไร..ฝันไป

ผมอยากจะเน้นนะครับ ศาสนาพุทธมีบทบาทในทางแต่ละปัจเจกบุคคลและสังคม แต่พอไขว้เขวทางสังคม ศาสนาพุทธจะมามีบทบาทในทางปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะสังคมไทยปัจจุบันเป็น “สังคมผิดปกติ” คนที่มีความรู้ คนที่มีสติปัญญา คนที่มีเงินมีทอง จะแสวงหาศาสนาพุทธในทางปัจเจก อีกนัยหนึ่ง คือ ทิ้งสังคม อย่างมหาขทิรวัน ที่หัวหินนั่นก็เป็นแห่งหนึ่งให้หนีไป หมู่บ้านพลัมที่จะมาใหม่ก็เป็นอีกแห่งให้หนีไป แต่ไปได้เฉพาะคนรวยเท่านั้นนะ คนจนอย่าได้ไปเชียว แล้วคนรวยก็ชอบ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวครับ กลับมาก็ยังรีดไถสังคมตามเดิม อยู่กับระบบทุนนิยมตามเดิม เอาเปรียบแรงงานตามเดิม

อีกนัยหนึ่ง ศาสนาพุทธจะได้ผลจริงๆจังๆ คนปฏิบัติศาสนธรรมจะต้องปฏิบัติไม่ใช่เพื่อปัจเจกบุคคล แต่เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย เมื่อได้จุดนี้แล้ว จึงจะตีประเด็นไปที่การเมืองให้ชัดเจน และการตีประเด็นไปที่การเมืองให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องไปเป็นนักการเมือง อย่างที่ผมพยายามทำ Engaged Buddhism มา ๒๐ปี ผมชี้ให้เห็นจุดนี้เลย เพราะถ้าไปทำการเมืองโดยตรงแล้วไม่แม่น ไม่แม่นในการรู้เท่าทันตัวเอง ไม่แม่นในการรู้เท่าทันสังคม จะถูกการเมืองมันดึงไป เพราะการเมืองมันเป็นศูนย์แห่งโทสจริต หรือการแย่งอำนาจ และโทสจริตนั้นผนวกกับโลภจริต เพราะบรรษัทข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง มีอภิมหาอำนาจคือจีนและอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีความคิดกระแสหลักของตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดกระแสหลักของตะวันตกทั้งหมดเป็นโมหจริต โมหจริตให้หลง ที่ว่าศาสนาพุทธสอนให้แต่ละคนแหย นั่นไม่ใช่ศาสนาพุทธครับ ศาสนาพุทธไม่มีตรงนี้เลย เราไม่มีบาปกรรมติดตัวที่ไหนเลย ศาสนาพุทธถือว่าทุกคนมีพุทธภาวะ มีตถาคตครรถ์ ไม่มีใครด้อย ไม่มีใครเหลว ไม่มีใครแหย ทุกคนเท่ากัน ที่ไม่เท่ากันเพราะศาสนาพุทธในเมืองไทยกลายเป็นขัตติยา-ศักดินาธิปไตย ไม่ใช่ศาสนาพุทธที่แท้ ไม่มีที่เจ้าดีกว่าไพร่หรือไพร่ดีกว่าเจ้า แต่ที่จริงมันเท่ากัน

ประเด็นผมอยู่ตรงนี้ครับ ศาสนากับการเมืองต้องตีประเด็นให้ชัด เมื่อตีประเด็นไม่ชัดก็ไม่กล้า แล้วพวกพระที่คุณโจมตีอะไรดังกล่าว พวกนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย พระที่ควรจะโจมตีมากๆ คือ พระที่มีบทบาททางการเมืองหลังฉาก ไม่ใช่ว.ออกมาพูดฆ่าเวลาฆ่าอะไร ว.นั่นมันตัวเล็ก... ตัวใหญ่นั้นอยู่หลังฉาก

ศาสนาพุทธนั้นมีบทบาททางส่วนตัว สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีบทบาทที่ด้อยมากทางการเมืองในสองพันห้าร้อยปีที่แล้วมา แต่จะว่าสองพันห้าร้อยปีก็เป็นภวตัณหา ศาสนาพุทธสอนว่าอยู่ในปัจจุบัน ประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดีที่สุด ดีกว่าอยู่เป็นร้อยปี สองร้อยปี แล้วประพฤติอธรรม พุทธศาสนากับปัญหาสังคมเวลานี้ คำสอนเนื้อหาสาระนั้น ผมว่ามีประโยชน์กับแต่ละบุคคลและสังคมแน่นอน โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทที่ประพฤติปฏิบัติในเมืองไทย ลังกา พม่า มอญ นั้น มีประโยชน์กับสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย การใช้ทาน ศีล ภาวนา เหมาะสมที่สุดกับสังคมที่เรียบง่าย

ที่นี้สังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมที่พลิกผันมากเลย คุณจะโทษตะวันตกหรือไม่โทษก็แล้วแต่ แต่โดยเฉพาะกรณีเมืองไทยนั้น อเมริกันมันกำหนดทุกอย่างให้เปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรม ชนบทเราจึงพังหมด และสังคมอุตสาหกรรมนั้น ศาสนาพุทธยังไม่มีคำตอบให้กับปัญหาสังคมเลย นี่ชัดเจนเลยนะครับ ถ้าไม่ตีประเด็นนี้ ไม่ต้องพูดกันต่อไป สังคมอุตสาหกรรมมันมีอะไรครับ มันมีโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรมและรุนแรง ผมเชื่อเลยว่าหลักสูตรมหาจุฬาฯ มหาเปรียญอะไรเนี่ย ไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าจำเป็นต้องตีประเด็นไปที่ โครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง คือ การไม่ฆ่าสัตว์เนี่ย มันเป็นเรื่องของสังคมที่เรียบง่ายได้ แต่ตอนนี้เราไม่ฆ่าครับ เราปล่อยให้คนอื่นฆ่า ให้บริษัทซีพีมันฆ่า เราไม่รู้สึกเลย แล้วพระก็ไม่รู้สึกเลยครับ คนเขาเอาของมาถวาย พระไม่รู้ ไม่เห็น ไม่สงสัย ไอ้รังนกที่กินๆกันนั่นมันเลวร้ายที่สุดเลย นกเหล่านั้นมันต้องขาดเสลดออกมา เป็นเสมหะ เป็นเลือดเลย แต่คนที่ไปเอามามันร่ำรวยมโหฬาร เอาของพวกนี้มาหลอกขาย ประเด็นพวกนี้มันสะท้อนถึงสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง กรณีเสื้อแดงก็เอาทหารออกมาฆ่า ออกพรก.ฉุกเฉินอนุญาตให้ฆ่า สิ่งต่างๆเหล่านี้มันเป็นความรุนแรงที่อยู่ในโครงสร้าง ถ้าตีประเด็นนี้ไม่แตก ไม่มีคำตอบให้กับสังคมได้ นี่เราพูดเรื่องศีลข้อที่ ๑ ศีลข้อที่ ๒ เช่นเดียวกัน ไม่ต้องขโมยครับ เราปล่อยให้ธนาคารทั้งหมดมันขโมยเราโดยถูกกฎหมาย ตีประเด็นนี้ไม่แตก ไม่ต้องพูดเรื่องอทินนาทาน

อีกนัยหนึ่ง การประยุกต์ศีลมาใช้ เราต้องรู้จักสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง และจะต้องโยงไปถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อตีศาสนาพุทธมาที่สังคมได้ชัด จึงค่อยเข้าไปถึงการเมือง เพราะการเมืองมันมีอำนาจหวงอยู่ นักการเมืองไม่ปล่อยง่ายๆ และตอนนี้นักการเมืองก็ใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติ ใกล้ชิดกับอภิมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนนั้นคุมเราอยู่ตลอด เวลานี้แม้แต่กระเทียมก็ต้องสั่งเข้ามา คนไทยผลิตกระเทียมขายไม่ได้แล้ว แม่น้ำโขงเจ๊กมันกั้นทั้งหมดแล้ว ทะไลลามะเสด็จเมืองไทยไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีไทยกลัวเจ๊กกันหมดครับ เราต้องทำความเข้าใจว่าโครงสร้างทางสังคมเหล่านี้ จึงจะเท่าทัน และรู้ว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร

ทีนี้จะทำยังไงครับ หนึ่งเราจะต้องรู้เท่าทัน เจริญโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่แค่รู้เท่าทันตัวเอง ลดกิเลส ลดอัตตา แต่จะต้องรู้เท่าทันโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมเหล่านั้น จึงจะรู้ว่าจะไปมีบทบาททางสังคมอย่างไร สองต้องแสวงหากัลยาณมิตร เพื่อนฝูง ศึกษาเรียนรู้ และทำงานร่วมกัน ร่วมกันท้าทายความรุนแรงเชิงโครงสร้างเหล่านั้น ไม่ได้ทำง่ายๆนะครับ ดูอย่างพม่า อองซานซูจี พระพม่าออกมาท้าทายรัฐบาลเผด็จการทหาร ท่านถูกฆ่า ท่านถูกจับสึก ท่านถูกกระทืบ แต่ท่านเจริญเมตตากรณียสูตรตลอดเวลาเลย แสดงว่า เนี่ย ศาสนาพุทธทำให้ท่านมั่นคงแข็งแรง ท่านไม่ได้ไปเกลียดชังคนที่รังแกท่าน การเมืองคืออย่างนี้ครับ ธิเบตเค้าก็ทำกันแบบนี้ และผมเชื่อว่าวันหนึ่งคนไทยจะทำแบบนี้ พระเสื้อแดงจำนวนมากมาหาผมครับ บอกอาจารย์เป่ากระหม่อมหน่อย เราจะไปสู้กับพวกอำมาตย์ ผมบอกโยมจะไปเป่ากระหม่อมพระได้ไง ท่านบอกไม่เป็นไร ส.ศิวรักษ์เป่า ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็เป่ากระหม่อมพระ แต่ขอพระคุณเจ้าอย่าใช้ความรุนแรงนะ ถ้าเผื่อพระเสื้อแดงรวมตัวกันแล้วไม่ใช้ความรุนแรง เรียนจากพระพม่า เรียนจากพระลาว พระธิเบต โอ้โห.. เมืองไทยจะเปลี่ยนเลย นี่คือมิติทางการเมือง

จากแต่ละปัจเจกบุคคล ทำความเข้าใจโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง เมื่อมีความเชื่อมั่น มีความกล้าหาญทางจริยธรรม รวมกันเป็นพลัง นั่นจะเป็นการเมือง


ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ