25.1.11

บทบาทที่น่าตั้งคำถามของศาสนจักร




เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ


(๒) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: บทบาทที่น่าตั้งคำถามของศาสนจักร

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: กลับมาเรื่องของสังคมและการเมือง คือ ผมพยายามจะนึกว่า เวลามีความขัดแย้งทางสังคมหรือการเมือง อย่างกรณีของบ้านเราในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ศาสนามีบทบาทในการช่วย หรือในการยุติความขัดแย้งทางการเมืองแค่ไหน ถ้าพูดตรงๆคือไม่มี ตัวศาสนจักรเนี่ยไม่มีบทบาท ทุกคนรู้อยู่แล้ว ศาสนจักรเป็นสิ่งที่หายไปทุกครั้งเวลามีความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในบ้านเรา หรือในบางกรณี ตัวองค์กรทางศาสนจักรอาจมีบทบาท ซึ่งบทบาทนั้น บ่อยครั้งก็ไม่ค่อยดี อย่างเช่น ตอนเกิดกรณีหกตุลา จอมพลถนอมกลับมา แล้วก็บวชเป็นพระกลับมา แล้วการบวชเป็นพระกลับมาของจอมพลถนอมก็นำไปสู่การฆาตกรรมทางการเมืองในวันที่ ๖ ตุลา นำไปสู่การแตกแยกทางสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นักศึกษาต้องเข้าป่าอะไรแบบนี้นะครับ พอลองนึกย้อนหลังกลับไป ผมรู้สึกว่า ในวันที่ ๖ ตุลา ถ้าศาสนจักรมีท่าทีบางอย่างต่อจอมพลถนอม ผมไม่รู้นะครับว่าในทางพระทำได้หรือเปล่า อย่างเช่น พระผู้ใหญ่อาจจะมาบอกว่า ท่านอย่าเพิ่งกลับเมืองไทยเลย ท่านอยู่เมืองนอกต่อดีกว่ามั๊ย มันน่าจะดีกับทุกคน ความขัดแย้งจะปะทุอย่างเหตุการณ์๖ตุลาที่เกิดขึ้นในวันนั้นหรือเปล่า

หรือว่าอย่างเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ เราก็ไม่พบว่ามีองค์กรทางศาสนจักรออกมาเตือนหรือให้สติกับสังคมหรือรัฐบาลที่ในเวลานั้นใช้กำลังกับประชาชน ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมันผิด ในตอนนั้นพลเอกสุจินดาพูดออกทีวีว่า ผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินมีพวกลัทธิประหลาดคือพวกสันติอโศก เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีเหตุผลในการใช้กำลังเพื่อสลายลัทธิประหลาดอันนี้ได้ ซึ่งแปลกว่าในวันนั้นไม่มีคนของศาสนจักรมาบอกเลยว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ใช้กำลังสลายเค้านะ ต่อให้เป็นพวกสันติอโศกก็ตาม ซึ่งในแง่นึงก็อาจจะโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองในศาสนจักรเองด้วยว่า มองสันติอโศกเป็นศัตรูก็เป็นได้ แต่ว่าโดยปรัชญาพื้นฐานของเรื่องการเมือง หรือว่าในแง่ปรัชญาพื้นฐานของพุทธศาสนาเองก็ดี พุทธศาสนาเกิดมาเพื่อไม่ให้คนฆ่ากัน เพราะฉะนั้นถ้ามันมีอะไรที่จะช่วยไม่ให้คนฆ่ากันได้ ผมคิดว่านั่นแหละคือปรัชญาพื้นฐานของศาสนาพุทธ แต่ที่เห็นในบ้านเรา บทบาทของศาสนจักรมันหายไปเลยเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หรือในช่วงเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา บทบาทของศาสนจักรก็หายไปอย่างสิ้นเชิง ที่ประหลาดมากกว่านั้นคือ เราก็รู้ว่า ในช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มีพระจำนวนหนึ่งเป็นฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งออกมาร่วมประท้วงเป็นจำนวนมาก เป็นพระอีสาน พระที่อุบลฯ อุดรฯ อะไรก็ตามแต่ ในวันที่มีเหตุการณ์ชุมนุม ท่านเหล่านี้ถูกจับ และถูกจับศึกด้วย เรื่องเหล่านี้ผมประหลาดใจว่าทำไมศาสนจักรไม่ออกมาปกป้องคนของตัวเอง ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะเป็นพระเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ยังไงก็ตามแต่ ถ้าผมเป็นคนในองค์กรศาสนจักร คนในองค์กรศาสนจักรถูกอำนาจทางโลกจับ ผมปกป้องเค้าก่อน เพราะว่าอำนาจรัฐมาจับคนสึกแบบนี้ไม่ได้ แต่ศาสนจักรไม่กล้าแม้จะทัดทานเรื่องพวกนี้ กลับทำตัวเฉยๆเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในแง่ของคำสอน มันก็อาจจะโยงกับเรื่องเหล่านี้ด้วยนะครับ เป็นไปได้มั๊ยว่า ความเข้าใจพุทธศาสนาที่มันไหลวนอยู่ในสังคมไทยในตอนนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องพุทธปรัชญาหรือพุทธธรรมที่มันลึกซึ้งนะครับ แต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมเข้าใจ คำสอนทางศาสนาของบ้านเรามันกลายเป็นสิ่งที่อยู่ใต้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางโลกไปจนมันแยกตัวเองไม่ได้แล้ว อย่างเวลาเราไปวัดใหญ่ๆ อย่างวัดหลวงบางที่ ก็จะมีป้ายติดไว้ว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์นี้จากวัดเรา เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอในรัชกาลนั้นรัชกาลนี้มาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าท่านที่อยู่ในวัดนั้นคงภูมิใจนะครับที่มีเจ้ามาอยู่ในวัด และได้เป็นพระสังฆราช แต่ผมคิดว่า มันน่าจะภูมิใจกว่าหรือเปล่า หรือมันมีความจำเป็นอะไรหรือที่ต้องไปไฮไลท์ความเป็นเจ้า ทำไมไม่ไปภูมิใจเรื่องที่ว่า วัดเราเนี่ยมีฆราวาส หรือคนธรรมดาที่มาบวช และเป็นพระที่ดีจำนวนมากออกไป ผมก็ไม่รู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ศาสนาสอน หรือเป็นสิ่งที่ในที่สุดแล้วอำนาจรัฐมันได้ครอบงำศาสนาจนศาสนาแยกจากอำนาจรัฐไม่ออกแล้ว

เพราะฉะนั้นคำสอนทางศาสนาจำนวนมากกลายเป็นฐานของอำนาจทางโลกมาตลอด แม้กระทั่งความเชื่อเรื่องบุญบาปก็เป็นฐานของอำนาจทางโลก เช่น ความเชื่อที่ว่าในโลกนี้มีคนบางกลุ่มที่ดีเป็นพิเศษ แล้วก็ในโลกนี้มีคนบางกลุ่มที่ชั่วเป็นพิเศษ แล้วมันถูกตลอดเวลาที่คนกลุ่มที่ดีเป็นพิเศษเนี่ยจะฆ่าคนกลุ่มที่ชั่วเป็นพิเศษได้ แล้วในช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา คำอธิบายนี้มันถูกนำมาใช้ตลอดเวลา คือ มีกลุ่มที่ดีมากๆ ซึ่งมีความชอบธรรมมากๆที่จะฆ่ากลุ่มที่ชั่วยังไงก็ได้ แล้วเวลาเราดูงานศิลปะร่วมสมัย หรือสิ่งที่คนจำนวนมากพูดในช่วงความขัดแย้ง จะเป็นการผลิตซ้ำความเชื่อทางศาสนาในแบบนี้โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องเทพกับมาร อำนาจฝ่ายดีต้องกำราบอำนาจฝ่ายชั่วให้ได้ อันนี้ก็คือเรื่องที่น่าสนใจว่า ตัวคำสอนเองมันอาจจะมีอะไรบางอย่างหรือไม่ ที่ในที่สุดแล้วอาจจะไม่เกื้อกูลต่อการสร้างประชาธิปไตย หรือการมองเห็นความแตกต่างความหลากหลายของคนในสังคม ผมว่าอันนี้เป็นประเด็นสำคัญ คือ เราอาจจะต้องมาตั้งคำถามต่อตัวคำสอนในสองสามเรื่อง เช่น เป็นไปได้หรือเปล่าที่คำสอนทางศาสนามันมีลักษณะที่มันผูกขาดและแข็งทื่อมาก มันทำให้ความสัมพันธ์ของคนกับศาสนาเป็นไปในลักษณะที่ไม่เท่ากัน

ผมคิดว่าตัวศาสนาไม่สามารถสัมพันธ์กับคนในแบบที่เท่ากับศาสนาได้ ง่ายๆ เวลาเราคุยกับพระ เราจะต้องรู้สึกต่ำกว่าหรือด้อยกว่าพระ พระไม่สามารถคุยกับเราแบบเท่ากันได้ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่พระไทยทำไม่ได้ คือ คุยแลกเปลี่ยนกับฆราวาสแบบเท่ากัน นอกจากนั้นผมยังคิดว่า ตัวคำสอนทางศาสนาเอง เวลาสัมพันธ์กับคน มีลักษณะบางอย่างซึ่งจะใช้วิธีดึงคนเข้ามาหาศาสนา ด้วยการบอกอยู่ลึกๆว่า ยังไงคนก็ด้อยกว่า และคนเป็นสิ่งที่ไม่ดี เวลาศาสนามองคนเนี่ย คนคือสิ่งที่ไม่ดี คนคือสิ่งที่ผิด และควรได้รับการแก้ไข คนคืออะไรบางอย่างที่มีความชั่วร้าย มีกิเลส มีบาปอยู่ในตัว ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้มันจะเป็นปัญหา คือในที่สุดแล้ว ตัวคำสอนมันวางอยู่บนการกดมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์เข้ามาอยู่กับศาสนา ซึ่งผมมองว่าตัวคำสอนมันน่าจะมีอะไรที่ผิดที่ไม่สามารถมองมนุษย์เท่ากับศาสนาได้ ศาสนาทำให้มนุษย์ด้อยกว่าศาสนา แล้วทำให้มนุษย์รู้สึกมีปมอะไรบางอย่างที่ผิด ที่ต่ำกว่า เพราะฉะนั้นเข้ามาอยู่กับศาสนาสิ แล้วศาสนาจะให้ทางออกกับคุณ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นปัญหานึง ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถอยู่ในโลกที่บอกว่า คนด้อยกว่า คนผิด อยู่ตลอดเวลาได้ เพราะการบอกคนว่าเค้าด้อยกว่า เค้าผิดอยู่ตลอดเวลาเนี่ย ในแง่นึงมันเป็นปัญหาทางการเมืองแล้ว เพราะพอพูดถึงการเมือง พูดถึงประชาธิปไตย เราเชื่อว่าคนทุกคนมีเหตุผล คนทุกคนมีเสรีภาพ รู้ว่าอะไรดีสำหรับตัวเขา แต่พอมาในมุมศาสนา ศาสนาไม่ได้บอกคนแบบนี้ ศาสนาไม่ได้บอกว่าคนทุกคนมีเหตุผล ศาสนาไม่ได้บอกว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรเพื่อตัวเขาเองได้ แต่บอกให้มาอยู่กับศาสนาก่อน ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นปัญหานึง ก็คือ สำหรับเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพแล้วเนี่ย เราเชื่อว่าคนทุกคนมีความสมบูรณ์ในตัวเอง มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ดีต่อตัวเขาเอง และต่อสังคมรอบข้างได้ โดยที่ตัวศาสนาอาจไม่คิดเรื่องพวกนี้ หรือมาจากฐานคิดที่ต่างกัน ศาสนาไม่ได้เชื่อว่าคนรู้ว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเขา และไม่เชื่อด้วยซ้ำว่า ลำพังตัวมนุษย์แต่ละคนสามารถสิ่งที่ดีต่อสังคมได้ มนุษย์ต้องมีศาสนา เพราะไม่เช่นนั้นมนุษย์จะไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว

เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันจะต่างกันมากๆ คือ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมืองเนี่ย เราเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีธรรมชาติที่ดี และในสังคมที่มาจากมนุษย์แต่ละคนที่มีธรรมชาติที่ดี การฟังเสียงทุกคนมันจึงสำคัญ ทุกคนมีเหตุผล ทุกคนมีธรรมชาติที่ดี เพราะฉะนั้นเอาเสียงทุกคนมารวมกัน เราจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ประชาธิปไตยหรือการเมือง มันเชื่อว่าสังคมมันอยู่ด้วยเหตุด้วยผลได้ มนุษย์มีเหตุมีผล มนุษย์เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ตรงนี้เราอาจจะต้องกลับมามองว่าตัวศาสนาเข้าใจเรื่องแบบนี้แค่ไหน

เวลาศาสนาสัมพันธ์กับคน ศาสนามีแนวโน้มมากที่จะทำให้คนทั้งหมดเป็นแบบเดียวกัน อันนี้เป็นประเด็นนึงที่ผมคิดว่า สำคัญในแง่ปรัชญาวิธีคิด คือ ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่คนแต่ละคนมีคุณค่าของเขา เราอยู่ในโลกที่คนแต่ละคนมีความคิดความอ่านเป็นของเขาเอง คนแต่ละคนมีอัตลักษณ์ของเขา มีวิถีชีวิตของเขา แต่คำสอนทางศาสนาเข้าใจเรื่องแบบนี้แค่ไหน อย่างเช่น เรื่องพระเกย์พระตุ๊ด เวลาศาสนจักรสัมพันธ์กับเรื่องพวกนี้ วิธีที่พูด มันจะเต็มไปด้วยทัศนะของการเหยียดคนที่ผิดเพศ แล้วก็จะบอกว่าคนแบบนี้ไม่เหมาะสม ซึ่งผมคิดว่าคำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมศาสนาถึงสนใจมากกับการทำให้คนทั้งโลกเป็นแบบเดียวกัน เป็นแบบเดียวกันทางตรรกะ เป็นแบบเดียวกันทางวิธีคิด ศาสนาสามารถจะเป็นฐานทางปัญญาที่ทำให้เห็นว่าคนเรามีความหลากหลาย คนเรามีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีความเชื่อที่แตกต่างกัน มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันได้หรือไม่ ผมคิดว่าอันนี้เป็นคำถามที่มันท้าทาย และจำเป็นที่จะต้องตอบให้มากขึ้นในปัจจุบัน



:ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ