25.1.11

คำถามต่อพุทธศาสนาในความเป็นรากฐานทางปัญญาของสังคม



เสวนา พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ

(๑) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: คำถามต่อพุทธศาสนาในความเป็นรากฐานทางปัญญาของสังคม


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ผมขอเริ่มด้วยการเปิดประเด็นชวนคุยไปเรื่อยๆก่อนละกันนะครับ ในฐานะของคนที่ไม่ได้รู้เรื่องพุทธศาสนามากนัก เรื่องนึงที่ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนทำกันมาเยอะมากๆอยู่แล้วนะครับ ทำมาตั้งแต่รุ่นอ.สุลักษณ์ พระไพศาล ตั้งแต่ก่อนเป็นพระท่านก็ทำ อ.นิธิก็มีงานเขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาเยอะแยะ ดังนั้นประเด็นพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ปัญญาชนให้ความสนใจ ล่าสุดคุณคำ ผกาก็มีการวิจารณ์ศาสนา และประเด็นเรื่องการปฏิรูปซึ่งค่อนข้างรุนแรง ทำให้คนไม่พอใจจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมจะพูดถึงประเด็นนี้ก่อนนะครับ

ผมคิดว่าส่วนใหญ่เวลาพวกปัญญาชน คนชั้นกลาง หรือสื่อมวลชนวิจารณ์พุทธศาสนาในบ้านเรา วิธีที่ใช้ในการวิจารณ์จะวนอยู่สองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ ดูพฤติกรรมของพระว่ามีความเหมาะสม มีความอยู่ในร่องในรอยตามคำสอนพุทธศาสนาหรือเปล่า พูดง่ายๆก็คือเป็น วิธีการจับผิดพระ พระมีกิ๊ก พระมีสีกา พระแต่งตัวเป็นเกย์ อะไรแบบนี้ แล้วก็ใช้ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างมาสรุปว่า เห็นมั๊ย..สิ่งที่พระทำก็ไม่ได้ดีอะไรนัก แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนากำลังมีปัญหา ส่วนบางคนที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะวิจารณ์ในประเด็นที่ว่า พุทธศาสนาอาจจะมีคำสอนหลายๆอันที่ไม่สอดคล้องกับสังคม เช่น วิธีคิดที่พุทธศาสนามองผู้หญิง คนที่สนใจศึกษาเรื่องสิทธิสตรี หรือพวกเฟมินิสต์ก็จะบอกว่า ศาสนาพุทธมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การเชื่อว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่ด้อยกว่าผู้ชาย ประเด็นที่เห็นชัดๆง่ายๆ คือการไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นพระ

ผมเพิ่งเข้าไปคุยกับท่านพระครูธรรมาธรครรชิตมา ซึ่งท่านอยู่วัดของเจ้าคุณประยุทธ์ เราก็คุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ และมีประเด็นนึงที่ทำให้เราเถียงกันค่อนข้างเยอะ คือ เรื่องการมองว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ในการบวชได้หรือเปล่า ท่านก็เถียงหลายๆเรื่องนะครับ ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ พอเถียงกันไปเถียงกันมา ท่านพูดว่า เหตุผลชี้ขาดจริงๆที่ผู้หญิงบวชเป็นพระไม่ได้ คือ แน่นอนว่าศาสนจักรอาจจะอ้างเรื่องพระไตรปิฎกใช่มั๊ยครับ อ้างว่ามันไม่มีภิกษุณี แต่ในที่สุดแล้ว ท่านพระครูธรรมาธรครรชิตก็อ้างว่า จริงๆแล้วสำหรับท่าน เรื่องที่มันสำคัญที่สุดคือว่า ผู้หญิงเนี่ยไม่มีเหตุผล เพราะว่าผู้หญิงมีประจำเดือน พอผู้หญิงมีประจำเดือน ผู้หญิงก็จะอารมณ์แปรปรวน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่มัน beyond เหตุผลของมนุษย์ในปัจจุบันไปแล้ว ว่าการมีประจำเดือนทำให้มนุษย์บางเผ่าพันธุ์ในโลกมีอารมณ์แปรปรวน เพราะฉะนั้นเลยเข้าสู่ศาสนจักรไม่ได้ แล้วพอผมถามท่านว่า แล้วเวลาที่ผู้หญิงบริจาคเงิน เงินซึ่งมาจากอารมณ์แปรปรวนนี่มันได้มั๊ย? ท่านก็ฉุนๆนะครับ ในที่สุดเมื่อคุยกันไปเรื่อยกลายเป็นว่า ในโลกนี้มีสัตว์บางประเภทที่ไม่มีเหตุผลเท่าผู้ชาย เพราะเหตุผลง่ายๆคือสัตว์ประเภทนั้นมีประจำเดือน อันนี้ก็คือตัวอย่างหนึ่งว่า ถ้าในระดับผิวเผิน คนจำนวนหนึ่งก็จะวิจารณ์พระสงฆ์จากกิจกรรมต่างๆที่ท่านทำ ซึ่งก็อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือระดับที่ลึกซึ้งขึ้นมาก็คือ ดูคำสอนว่ามันมีความสอดคล้อง เท่าทันต่อสังคมปัจจุบันแค่ไหน

แต่ผมคิดว่า เรื่องที่ผมอยากจะพูดคงไม่ได้มาจากในมุมนี้ แต่ผมจะพูดผ่านปรากฏการณ์สองสามเรื่องด้วยกันครับ

เรื่องที่หนึ่งก็คือ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้พระสงฆ์กลายเป็นสินค้ามากขึ้น ซึ่งอันนี้ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่าช่วง ๑๐-๒๐ ปีมานี้ บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นสินค้าแบบหนึ่ง มันชัดเจนมาก เราอาจจะเรียกว่าเป็น สินค้าในตลาดเชิงจิตวิญญาณอะไรก็แล้วแต่ เราลองนึกถึงพระอย่างว.วชิรเมธี พระมหาสมปอง แบบนี้ ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่ หากย้อนไปไกลสุดก็อาจเป็นสมัยพระพยอมหรือเปล่า ผมไม่รู้นะครับ มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า สภาพของพระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมนี่มันชัดเจนมากในปัจจุบัน คำถามที่สองก็คือว่า พระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าเนี่ยขายอะไร คำตอบก็คือขายตัวเองผ่านโทรทัศน์ใช่มั๊ยครับ ขายตัวเองผ่านซีดี ขายตัวเองผ่านดีวีดี หรือ หนังสือคำสอนแบบง่ายๆต่างๆ ที่นี้ถามต่อไปอีกว่า แล้วคำสอนที่พระที่ทำตัวเองให้เป็นสินค้าในระบบทุนนิยมขายคืออะไร พูดตรงๆผมคิดว่าไม่ใช่คำสอนที่มีความลึกซึ้งอะไร คำสอนพวกนี้มักจะเป็นคำสอนประเภท “คนเราต้องขยัน” “คนเราต้องรักพ่อแม่” “คนเราต้องทำความดี” นี่คือสินค้าที่พระกลุ่มหนึ่งใช้ขายผ่านระบบทุนนิยม ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคำสอนแบบนี้มันมีประโยชน์กับคนในสังคมปัจจุบันจริงๆ หรือว่ามันเป็นคำสอนที่คนในสังคมปัจจุบันพร้อมรับมัน เพราะว่าเค้าพร้อมจะบริโภคอะไรบางอย่างที่เป็นการผลิตซ้ำคำอธิบายที่เขาเชื่อของเขาเองอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่นเวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สังคมก็จะมีพระกลุ่มหนึ่งทำบทบาทในแบบที่ พูดง่ายๆคือเหมือนพวกครีเอทีฟในวิชาโฆษณาทำกัน คือ ผลิตคำคมออกมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยคำตอบง่ายๆ เช่น ช่วงเมษา-พฤษภา ท่านว.ก็ทวิตประโยคนึงซึ่งเป็นที่ฮือฮาว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” แล้วกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ฆ่าคนบาปน้อยกว่าฆ่าเวลา อันนี้เป็นศาสนาเวอร์ชั่นไหน หรือเป็นศาสนาของอุตสาหกรรมนาฬิกา ที่การฆ่าคนบาปน้อยกว่าการฆ่าเวลา แต่ตอนหลังท่านก็ลบเรื่องนี้ทิ้งไปนะครับ

ผมว่าอันนี้มันน่าสนใจคือ คำสอนที่มันถูกผลิตซ้ำโดยพระกลุ่มนี้เนี่ย ในที่สุดแล้วมันเป็นความลุ่มลึกทางภูมิปัญญาของพุทธจริงๆ หรือมันเป็นแค่การเอาคำอธิบายที่คนเชื่อกันอยู่แล้วในสังคมมาผลิตซ้ำในแบบง่ายๆ แล้วใช้สถานภาพของความเป็นพระ ซึ่งคนไทยพร้อมจะเชื่ออยู่แล้ว เพราะคนไทยมักจะเชื่อเจ้า เชื่อพระ เชื่ออาจารย์ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นที่มาของภูมิปัญญา แล้วก็ผลิตซ้ำคำเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าในแง่หนึ่งมันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจปัญหา แต่มันใช้ได้กับคนในสังคม เพราะมันพูดเรื่องที่คนคิดกันอยู่แล้ว เวลามีความขัดแย้งทางการเมือง ก็บอกว่า ทางออกคือคนไทยต้องรักกัน พูดจริงๆก็คือ คำตอบแบบนี้เด็กประถมก็ตอบได้ คนเราต้องรักกัน คนเราต้องสามัคคีกัน ที่นี้คำถามคือแล้วสินค้าหรือสิ่งที่พุทธศาสนาผ่านพระกลุ่มที่ทำให้ตัวเองเป็นสินค้ามีให้กับสังคม มันมีอยู่แค่นี้เองเหรอ อันนี้อาจมองเป็นปัญหาของพระเอง แต่ก็เป็นปัญหาของสังคมเองด้วย ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่านี้แล้ว สิ่งที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่คำตอบที่ลึกซึ้ง แต่เป็นคำตอบที่ง่ายๆ หรืออธิบายอะไรก็ตามในแบบที่คนพร้อมจะเชื่อ

อันที่สอง ที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ผมพยายามลองนึกดูว่า ในสมัยก่อน พระที่เล่นบทบาทซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคม ท่านเล่นบทแบบนี้มากน้อยขนาดไหน อย่างบทบาทที่ให้พระเป็นภูมิปัญญา เรานึกถึงพระอย่างท่านพุทธทาส ท่านปัญญา หรือท่านประยุทธ์ ท่านก็ไม่ได้เล่นบทแบบนี้ แต่ท่านมีบทบาทที่ทำให้คนคิดเรื่องพุทธปรัชญา คิดถึงเรื่องความหมายในการดำรงชีวิตในแบบที่ลึกซึ้งขึ้น เวลามีปัญหาสังคม คนเหล่านี้ไม่ได้ให้คำตอบแบบผิวเผินว่า เราต้องรักกัน หรือว่า ประหยัดไว้ดีกว่าไม่ประหยัด แต่ท่านทำให้คนกลับมาตรวจสอบตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามิติตรงนี้ในพระที่เข้ามาเล่นกับปัญหาสังคม มันหายไปเลย บทบาทของพระ บทบาทของศาสนาในการนำเสนอคำตอบที่มันลึกกับสังคม มันไม่มี ศาสนากลายเป็นอะไรไม่รู้ที่ให้คำตอบง่ายๆในเรื่องที่คนในสังคมรู้กันอยู่แล้วว่ามันต้องตอบแบบนี้แหละ มีความขัดแย้งทางการเมือง คำตอบคือคนไทยต้องรักกัน เศรษฐกิจไม่ดีทางแก้คือคนไทยประหยัดให้มากขึ้น สังคมมีโสเภณีมากขึ้น ทางแก้คือ ก็อย่าฟุ่มเฟือยสิจะได้ไม่ต้องไปเป็นโสเภณี คำตอบแบบนี้แสดงภูมิปัญญาอะไรในทางศาสนาหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้แสดง เป็นคำตอบที่ทุกคนก็คิดได้ หมายความว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเราเลย เป็นเหมือนกับหมอนรองทางจิตวิญญาณที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออ..ศาสนามันยังมีอยู่นะ คำสอนมันยังมีอยู่ แต่จริงๆมันไม่ได้ช่วยอะไร...



: ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ