เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ
(๓) วิจักขณ์ พานิช: พุทธศาสนาเป็นวิถีที่ตรงกันข้ามกับอำนาจนิยม
วิจักขณ์ พานิช: ผมจะพูดหัวข้อนี้ในแง่มุมที่ต่างออกไปนะครับ คือ จะเข้าหามิติทางจิตวิญญาณมากขึ้น แต่โดยรวมแล้ว คิดเห็นไม่ต่างจากคุณศิโรตม์ คือ หากเราจะคุยกันถึงพุทธศาสนากับสังคมและการเมือง เราอาจแยกออกได้เป็นสองประเด็นใหญ่ๆ คือ หนึ่ง พุทธศาสนาในตอนนี้กำลังมีปัญหาในตัวของมันเองหรือไม่ อย่างที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งคำถามถึง ตัวคำสอนที่ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นสินค้า การเฝ้าแต่ผลิตคำซ้ำๆหรือสิ่งที่คนในสังคมเชื่อหรือรู้กันอยู่แล้ว ตัวคำสอนที่ไม่สามารถมองมนุษย์กับตัวศาสนาเท่ากันได้ ฯลฯ และประเด็นที่สอง คือ เรื่องบทบาทที่พุทธศาสนามีต่อสังคมและการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในฐานะสถาบันหลักทางสังคม ที่เราอาจมองเห็นถึงแนวโน้มที่พุทธศาสนาไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น อย่างเช่น เรื่องบทบาทของผู้หญิง การเหยียดเรื่องเพศ การปฏิเสธความหลากหลายของคน และการเพิกเฉยต่อการฆ่าหรือความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น
เราอาจลองดูกันที่ประเด็นหลังก่อนนะครับ อย่างที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีที่เพิกเฉยของศาสนจักรต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในศาสนจักรเอง ที่ไม่เคยมีความพยายามในการออกมาปกป้อง ให้ความชัดเจน หรือคลี่คลายความขัดแย้ง อย่างกรณีธรรมกาย กรณีสันติอโศก กรณีการบวชภิกษุณี หรือศีลวินัยของสงฆ์ในบางข้อที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ปัญหาทั้งหมดเต็มไปด้วยความคลุมเครือในท่าทีของศาสนาจักรเอง และมักจบลงด้วยการเพิกเฉย ไม่พูดถึง หรือปล่อยให้ข่าวซาๆไป ซึ่งผมมองว่ามีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือที่สถาบันศาสนามีต่อเรื่องอื่นๆ
แบบอย่างความเพิกเฉยของศาสนาจักรทำให้คนตั้งคำถามกันมากนะครับ ว่าจริงๆแล้ว พุทธศาสนาเนี่ยมีมิติทางสังคมหรือเปล่า (ไม่นับเชิงสังคมสงเคราะห์) มีคนเยอะนะครับที่ปักใจเชื่อไปแล้วว่าไม่มี คือ พุทธศาสนาใช้ได้เฉพาะมิติของการเปลี่ยนแปลงภายในของปัจเจกเท่านั้น มันทำให้ผมคิดถึงคำพูดหนึ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆในแวดวงคนที่สนใจพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรม คือ ขอแค่เรากลับมาดูแลจิตใจตัวเอง ภาวนาไป แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง ไม่ต้องไปสนใจเรื่องนอกตัว ไม่ต้องไปมัววิพากษ์วิจารณ์สังคม ขอแค่ดูใจเราเอง แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง เคยได้ยินมั๊ยครับ แต่คำถามก็คือถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว การมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยจะอยู่ที่ตรงไหน การช่วยกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆที่มาจากอำนาจรัฐจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คือ พูดง่ายๆพอมาสนใจศาสนาแล้ว มิติทางสังคมมันหายไปเลย
ผลที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของบทบาทศาสนจักร และความไร้ศักยภาพของพุทธศาสนาในการเผชิญปัญหา ความขัดแย้ง และความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ มันก็ทำให้หลายๆคนเริ่มรู้สึกท้อแท้กับพุทธศาสนานะครับ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามกันมากในหมู่คนรุ่นใหม่ บ้างก็ว่าพุทธศาสนาเถรวาทแคบและเก่า พระเดี๋ยวนี้ไม่บริสุทธิ์ คำสอนใช้ไม่ได้ หรือไม่ก็เลือกจะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่มีศาสนาไปเลยก็มีนะครับ อันนี้ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น ผมอยากจะชวนให้ลองกลับมาดูในประเด็นแรก ว่าตัวพุทธศาสนาที่เป็นอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร และเรากำลังมีปัญหาในการทำความเข้าใจและการตระหนักถึงคุณค่าของตัวพุทธศาสนาเองมากน้อยแค่ไหน
ทุกคนคงรู้กันดีนะครับว่าพุทธศาสนาที่เรานับถือกับในประเทศไทยนั้นเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัว ผมชักไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถเรียกพุทธศาสนาที่เรานับถือกันอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เต็มปากนัก ซึ่งเดี๋ยวเราจะกลับมาดูกันนะครับว่าถ้าไม่ใช่เถรวาทแล้วเป็นอะไร แต่ตอนนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทในความเข้าใจของผมเสียก่อน
พุทธศาสนาเถรวาทถือเป็นนิกายของพุทธศาสนาที่มีความเก่าแก่ที่สุดนะครับ ประเทศไทยภูมิใจกับความเป็นเถรวาทของเรามาก บางคนถึงกับเรียกพุทธศาสนาของเราว่าเป็นของแท้ ของ original จากพระพุทธเจ้า เถรวาทเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสายอาวุโส (senior order) จุดเด่นของเถรวาทก็คือ การพยายามรักษาคุณค่าที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล อีกทั้งยังพยายามคงรูปแบบดั้งเดิมที่สะท้อนถึงคุณค่านั้นไว้ อย่างที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด
แบบอย่างอันเป็นอุดมคติของเถรวาท ก็คือ พระพุทธเจ้านั่นเองนะครับ และวิถีชีวิตที่พระพุทธเจ้าใช้ในการแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณในเบื้องต้น ก็คือ “การออกจากสังคม” การออกบวช พูดง่ายๆ คือ การตายไปจากสังคม เป็นการทิ้งสิทธิทั้งหมดที่ตัวเองมี สละสิทธิ์ แล้วกลายเป็นคนไม่มีสิทธิ์ใดๆในสังคมเลย
ในวัฒนธรรมอินเดีย การออกบวช หมายถึง คุณกลายเป็น nobody จริงๆ ไม่ใช่บวชแล้วกลายเป็นอะไรที่ดูโก้เก๋ สูงส่ง นักบวชนั้นไม่ใช่พราหมณ์ คือเป็นคนที่ไม่มีสิทธิอะไรเลย เวลามีใครตัดสินใจออกบวช คนในครอบครัวมีการเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ หรือถึงขั้นทำงานศพให้เลยก็มีนะครับ เพราะในสังคมอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น การไม่มีสถานะทางสังคมถือว่าคุณไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่า และไม่ข้องเกี่ยวกับสังคมอีกต่อไป
วิถีของนักบวชในอินเดียนั้น เรียกกันว่า วิถีของสมณะ คำว่า “สมณะ” แปลว่า “ผู้เดินท่องไป” เป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสถานะ ไม่มีบทบาท ไม่มีที่พักพิงใดๆ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือการเดินท่องไปเรื่อยๆ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ของสมณโคดม สิ่งที่เขาได้รับก็คือ “เสรีภาพ” นะครับ เรียกได้ว่า เขายอมแลกสิทธิ์ทั้งหมดที่เคยมีในฐานะคนคนหนึ่ง เพื่อจะได้มีเสรีภาพจริงๆ ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้นนะครับ ว่าทำไมพุทธศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ค่อยเน้นในเรื่องสิทธิ์ที่ถูกกำหนดขึ้นจากสังคมมากนัก วิถีชีวิตอุดมคติทางศาสนาของภิกษุ/ภิกษุณี เรียกได้ว่าเป็นผู้ขอ หรือเป็นผู้ที่ไม่เรียกร้องสิทธิ์ใดๆทางสังคมเลย ขอเศษอาหาร นอนตามโคนไม้ หรือเรือนว่าง นัยของความไม่มีสิทธิ์ทางสังคม นำมาซึ่งคำว่า “อะไรก็ได้” ที่ติดปากคนไทยกันมานานนม วิถีสมณะ คือ รับอะไรก็ได้ กินอะไรก็ได้ ใครจะดูถูกดูแคลนยังไงก็ได้ ถูกปฏิเสธไม่เป็นไร ไม่พูดถึงสิทธิ์ของตัวเองเลย ขอให้มีเสรีภาพในการแสวงหาคุณค่าบางอย่างในแบบของตัวเองเป็นพอ
และสถานที่เดียวครับ ที่เหล่าสมณะจะมีเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ก็คือ สถานที่ที่สังคมยังไม่ได้แผ่อำนาจไปผูกคุณค่าไว้กับมัน สถานที่นั้น คือ “ป่า” ป่าเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ คือพื้นที่ หรืออาณาเขตที่ปลอดจากอำนาจ การกำหนดกฎเกณฑ์ หรือคุณค่าที่ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้วโดยผู้อื่นหรือโดยสังคม ป่าถือเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการแสวงหาคุณค่าใหม่ ซึ่งอันนี้ก็ไปพ้องกับความหมายของ “สมณะ” หรือ “ผู้เดินท่องไป” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ผละจากบ้านไปสู่ความไร้บ้าน สมณะเลือกที่จะตายไปจากสังคม เพื่อออกแสวงหาคุณค่าบางอย่างที่ในสังคมตอนนั้นไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่มีอยู่ สิทธัตถะเลือกวิถีชีวิตแบบนี้ในการแสวงหาคุณค่า และแม้หลังจากที่รู้แจ้งเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังคงวิถีสมณะไว้เป็นหลัก
คำว่า “ไม่มีสิทธิ์” นี่เป็นคำที่น่าสนใจนะครับ แม้หลังจากที่พระพุทธเจ้าค้นพบคุณค่าที่ท่านได้แสวงหาแล้ว โดยสถานะทางสังคม พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน ยังคงเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์เช่นเดิม คือในการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า ท่านถือว่าท่านไม่มีสถานะใดๆทั้งสิ้น ไม่มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆให้เป็นอย่างที่อยากให้เป็นเลย ตรงนี้ผมแปลคำว่า "สิทธิ์" เท่ากับคำว่า "อำนาจ" นะครับ คือ วิถีพุทธจริงๆแล้วมันตรงกันข้ามกับอำนาจนิยมโดยสิ้นเชิง เพราะวิถีพุทธนั้น หัวใจของมันนั้นคือศักยภาพบางอย่างที่ปรากฏขึ้นจากภาวะไร้อำนาจ ไม่มีนัยของการควบคุม จำกัด หรือบังคับ แต่มันคือการศิโรราบ ยอมรับความจริง และอยู่อย่างสอดคล้องกับสิ่งที่เป็น พระพุทธเจ้าแสดงแบบอย่างของคนที่สละอำนาจ ไม่มีอำนาจใดๆทั้งสิ้น ในการเดินท่องไปของพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก เรียกได้ว่า เป็นคนที่ต่ำยิ่งกว่าต่ำ เพราะฉะนั้นท่านจะถูกดูแคลน ถูกเหยียดหยามยังไง คำสอนมันจะไม่เข้าหูใครยังไง สมณะเหล่านั้นไม่ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคลหรือไม่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปต่อว่า หรือไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะไปสอนหรือแก้ไขเขานะครับ
พระพุทธองค์ยังบอกอีกนะครับ ว่าแม้แต่สาวกที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วเนี่ย ก็ขอให้รักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบนี้ คือ วิถีของการเดินท่องไป ผมว่ามันมีนัยอะไรบางอย่างของการวางรากฐานจิตวิญญาณของพุทธศาสนาในแบบนี้ แม้ว่าในช่วงหลังคำสอนของพระพุทธองค์จะเริ่มเป็นที่ยอมรับกันในคนจำนวนไม่น้อยในสังคมแล้วก็ตาม พระพุทธองค์ก็ยังเดินท่องไปเรื่อยๆจนวันตายเลยนะครับ คือ เดินจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง สิ่งที่เจอก็คือสถานการณ์ต่างๆของสังคมที่ต่างกันออกไป วัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ภาษาที่ไม่เหมือนกัน คุณค่าทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน ความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน โรคภัยไข้เจ็บที่ไม่เหมือนกัน เรียกได้ว่าวิถีการเดินท่องไปแบบนั้น ไม่มีหลักยึดอะไรได้เลย ต้องปล่อยสิ่งที่ตนคิดไว้อยู่ตลอดเวลา ต้องตื่น และเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา มันทำให้คนที่เดินบนวิถีนี้ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้ที่เกิดขึ้นมันถูกสังเคราะห์ใหม่อยู่ตลอดเวลา คือต้องเปิดรับและอยู่กับความไม่รู้ อย่างที่ไม่สามารถจะเอาความรู้เดิมที่คิดว่ารู้แล้วมาใช้แบบสำเร็จรูปได้ กลุ่มคนเหล่านี้แม้จะไม่มีสิทธิ์อะไรในทางสังคมเลย เดินจากบ้านสู่ความไร้บ้านตลอดชีวิต แต่กลับเป็นเหมือนเอเย่นต์ของการเปลี่ยนแปลง หรือเอเย่นต์ของการเรียนรู้ใหม่ การทำความเข้าใจใหม่อยู่ตลอดเวลา และนี่คือวิถีของพุทธะ หรือวิถีของความตื่น
จะสังเกตเห็นนะครับว่าการประกาศพุทธธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นประกาศความเชื่อ หรือหลักคิดใหม่ทางสังคมและการเมือง ธรรมวินัยไม่ได้แสดงถึงอำนาจที่จะไปเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่เราคิดว่าดี แต่เป็นการประกาศถึงการวางตัววางใจอันแสดงออกในวิถีชีวิตที่ลงไปเรียนรู้และสัมผัสกับความทุกข์ ปัญหา และผู้คน โดยยังรักษาต้นธารใน "ป่า" คือ พร้อมที่จะสละสิทธิ์ ปล่อยวางจากอำนาจ ผละจากบ้านหรือความยึดถือในตัวตน แล้วใช้ศักยภาพของความตื่น สติปัญญาในการเข้าหาผู้คน เรียนรู้สังคม วัฒนธรรม และเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไปอย่างสอดคล้อง
เราอาจสงสัยว่า เมื่อไม่มีสิทธิ์แล้ว จะมีอำนาจอะไรไปเปลี่ยนแปลงสังคม ก็เล่นอยู่ในป่า หาที่หลีกเร้นไปภาวนา อยู่ตามชายขอบของสังคม อาจจะเรียนรู้ผู้คนในสังคมและวัฒนธรรมนึง แต่สักพักก็จากออกมา แล้วเดินทางต่อ แต่ในทางปฏิบัติ วิถีของคนไม่มีสิทธิ์ หรือคนชายขอบเหล่านี้กลับมีผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอินเดียสูงมาก เพราะมันทำให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดกัน และแม้จะออกจากสังคมไปแล้ว แต่วิถีสมณะนั้นก็ยังต้องสัมพันธ์กับสังคมจากการขอ โดยเฉพาะในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ากำหนดไว้เลยว่าการบิณฑบาตถือเป็นกิจอย่างหนึ่งที่จะยกเว้นไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณค่าใดที่ถูกค้นพบ ฝึกฝน และปฏิบัติ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมอยู่ตลอด การบิณฑบาตถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงให้พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับสังคม ไม่หลุดลอยออกมากลายเป็นการตัดขาดจากผู้คนหรือความทุกข์ร่วมกับคนอื่น อีกทั้งวิถีของการเดินท่องไปก็ไม่ได้ให้นัยของการตัดขาดตัวเองจากคนอื่นอยู่แล้ว มันทำให้มีการปฏิสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นมีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้มาจากสถานะที่อยู่สูงกว่า คือตรงกันข้าม มันต้องมาจากสถานะที่เท่ากันหรือต่ำกว่าเสียด้วยซ้ำ
และอีกประเด็นที่น่าสนใจมากของ ความไม่มีสิทธิ์ ซึ่งมันอาจดูไม่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเลย แต่ผมกลับมองว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มากๆ ก็คือว่า คนที่ไม่มีสิทธิ์เนี่ย เนื่องจากว่าเค้าไม่ได้ต้องการการรับรองหรือการยืนยันในเชิงคุณค่าใดๆจากสังคม คุณค่าของเขาได้ถูกพบแล้วด้วยตัวเอง และเป็นสิ่งที่เขานำมาฝึกฝนและปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเขาด้วย ขณะเดียวกันเขาก็เจียมตัว และพร้อมที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกเตะออกไปจากสังคมอยู่ตลอดเวลา ตรงนั้นทำให้คนเหล่านี้ แม้จะไม่มีสิทธิ์ แต่ด้วยความตื่นและความเข้าใจในความเป็นไปต่างๆที่ได้ไปพบเห็น ทำให้เขามีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ “ความกล้า” คนพวกนี้เรียกได้ว่าไม่มีอะไรต้องกังวล ไม่มีอะไรจะเสีย ไม่ต้องเกรงว่าคนจะไม่ยอมรับ หรือคนจะไม่รัก เพราะวิถีของสมณะไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิ์หรืออำนาจถูกมั๊ยครับ สิ่งที่เขาสนใจมีแค่ความจริง และหนทางที่จะคลี่คลายความทุกข์ ความขัดแย้งในตนเองและผู้อื่นเท่านั้น อันนี้ผมว่ามันน่าสนใจ และมันอาจเปิดมุมมองให้เราเห็นถึงอิทธิพลที่พุทธศาสนามีผลต่อสังคมในหนทางที่ต่างออกไป โดยเฉพาะในเรื่องของ “ความกล้า” และ “ความตื่น” ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อรับใช้อำนาจทางสังคมที่ถูกกำหนดไว้
ความกล้าหาญทางจริยธรรมมันเกิดขึ้นมากนะครับในสมัยพุทธกาล มันมีความตื่นอยู่ในนั้น มีใจที่เปิดกว้างอยู่ในนั้น ขณะเดียวกันก็ยังรักษาต้นธารหรืออุดมคติที่มีรากอยู่ใน “ป่า” ซึ่งคือพื้นที่ของอิสรภาพ พื้นที่ที่ไม่ถูกอำนาจของสังคมในการควบคุม พื้นที่ที่ไม่ถูกปรุงแต่งหรือกำหนด หรือเจือปนด้วยอคติ ซึ่งพื้นที่นั้นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากเราจะพูดถึงจิตวิญญาณของพุทธศาสนา
สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดเป็นมุมมองในทางประวัติศาสตร์ศาสนา ที่อธิบายถึงจิตวิญญาณอันเป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนาเถรวาท ถ้าพุทธศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นพุทธศาสนาเถรวาท เป็นพุทธศาสนาสายที่เก่าแก่ที่สุด และซื่อตรงต่อธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ที่สุด คำถามก็คือ รากฐานเหล่านั้นมันอยู่ตรงไหน และเรายังมองเห็นอะไรที่ตั้งอยู่บนรากฐานนั้นอยู่บ้างหรือไม่...
ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ