10.2.09
แอ่งน้ำใจแห่งการรับฟัง
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552
มหาตมะ คานธี กล่าวว่า "จงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในโลกนั้นเถิด" (Be the change you want to see in the world) หากเราไม่ปรารถนาความรุนแรง ก็จงเป็นสันติภาพ หากเราไม่ต้องการความมืด และได้แต่เพียงก่นด่าความมืด เราก็จะเป็นเพียงเสียงก่นด่าและความคับข้องหมองใจ และแล้วความมืดก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าเราจุดเทียนไขสักเล่ม ความมืดมิดก็จะมลายหายไป เราเลือกได้ว่าจะก่นด่า หรือจุดเทียน
การมีชีวิตอยู่อย่างเปิดรับ อย่างมีแรงบันดาลใจที่ไม่คาดหวัง คือการดำรงอยู่ในแรงบันดาลใจ อย่างไม่ต้องมีชื่อหรือสถานะอะไร แม้แต่การใช้คำว่า "กระบวนกร" หรือ “ฟา” แทนคำว่า “วิทยากร” นอกจากเพื่อให้เห็นความต่างของวิธีการจัดการกระบวนการเรียนรู้แล้ว ยังต้องการสื่อสารความเป็นธรรมดา ที่ไม่ต้อง "พิเศษ" หรือ "วิเศษ" กว่าใครๆ แต่เป็นเพื่อนคนหนึ่งที่ต้องการให้เพื่อนคนอื่นๆ ได้มีโอกาสให้หรือแบ่งปันสิ่งที่มีค่าแก่กันและกัน เพราะเราทุกคนต่างมีของขวัญล้ำค่าที่จะเป็นผู้ให้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
ไม่ว่าจะยุคไหนๆ มนุษย์ได้สร้างเครื่องมือในการเชื่อมสัมพันธ์กับชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะกับผู้คนด้วยกัน หรือกับโลกแห่งธรรมชาติ ผ่านพิธีกรรม ประเพณี หรือกิจกรรมธรรมดาสามัญในชีวิต สมัยนี้ก็เช่นกัน เราต้องการการเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างรู้สึกปลอดภัย ไร้วาระซ่อนเร้นหรือกดทับ เพื่อให้เราได้ยินเสียงของตัวเองและของกันและกันอย่างตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของการยอมรับ และมากไปกว่านั้นเรายังมีสัญชาติญาณที่โหยหาความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลที่มีชีวิตนี้ แนวปฏิบัติที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาและความเชื่อต่างๆ จึงได้บังเกิดขึ้น ในโลกปัจจุบันก็เช่นกัน การค้นหาจิตอันเป็นหนึ่งเดียวนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป
<<อ่านทั้งหมด>>