18.5.05

งานแปล

งานแปลเป็นสิ่งที่น่าสนใจและท้าทาย เพราะผมมองว่ามันเป็นการฝึกให้เราชัดเจนในความหมายที่เป็นของเราเอง ผมไม่ชอบแปลอะไรตามแบบแผน แต่เวลาแปลก็มักจะคิดวิธีการสื่อในภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง กลับมาเมืองไทยคราวนี้ เห็นความเติบโตของธุรกิจงานแปลเด่นชัดขึ้นมาก หนังสือดังๆของฝรั่งถูกแปลออกมา แล้วคนไทยก็อุดหนุนกันมาก พิมพ์กันเป็นสิบๆหน ขายได้หลายหมื่นเล่ม โดยเฉพาะพวกหนังสือนิยายอ่านง่าย ที่เกิดตามกระแสอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ในบ้านเรา แต่ขณะเดียวกัน หนังสือที่อ่านแยก เพราะให้แนวคิดที่ต่างออกไปจากกระแสการเอนเตอร์เทนสังคม ที่บ้านเราถนัดนัก ก็ดูจะยังไม่เฟื่องนัก แต่ก็ยังดีที่สำนักพิมพ์อย่างคบไฟ สวนเงินมีมา และอื่นๆ ยังพอเลี้ยงตนอยู่ได้ ไม่มลายหายไปแต่ยังเยาว์ โดยเฉพาะสวนเงินมีมา ตอนนี้มีงานดีๆออกมาเยอะเหลือเกิน

ผมได้แวะเข้าไปที่สำนักพิมพ์เพื่อพูดคุยเรื่องงานแปลที่คิดจะทำให้เสร็จภายในต้นปีหน้า ทันเปิดตัวในช่วงที่อาจารย์เรย์ของผมจะมาเมืองไทย จึงได้มีโอกาสไปร้านหนังสือศึกษิตสยามเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีแต่ความอยากมาอยู่เป็นชาติ (เขาถึงบอกว่าจะทำอะไร อย่าอยาก ให้ทำเลย อิสรภาพมีอยู่ตลอดเวลาตรงหน้า)

เกริ่นมาเสียนาน เข้าประเด็นที่จะเขียนเสียที คือ จากการสำรวจแผงหนังสือแปล ก็ทำให้ได้รู้ว่า มีหนังสือดีๆ ที่ผมเคยคิดอยากให้คนไทยได้อ่าน แปลเป็นภาษาไทยแล้วเยอะมาก หนังสือของท่านนัท ฮันห์ และท่านตรุงปะ อีกทั้งตำราทางทิเบตและวัชรยานอื่นๆ อาทิโพธิจรรยาวตารของศานติเทวา บทนำสู่ตันตระโดย ลามะเยเช หรือ ประวัติของท่านมิลาเรปะ และอื่นๆ รู้สึกตื่นเต้นที่เห็นหนังสือเหล่านี้ แต่พอพลิกๆดู กลับค่อนข้างผิดหวัง เพราะการแปลของนักแปลไทย ยังมีกลิ่นอายของเถรวาทอยู่มาก ถึงมากเกินเหตุ ทำให้อ่านยากจนถึงไม่อยากอ่านเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่ต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้นใช้คำที่ง่ายมาก แทบไม่มีความแตกต่างระหว่างหนังสือธรรมะกับหนังสือทั่วไป ผมขอยกตัวอย่าง...

คำว่า Five Buddha Families คุณพจนา ใช้คำไทยว่า ปัญจพุทธวงค์ ผมว่านี่มันเกินไปนิด มันกลายเป็นอ่านตำราวรรณคดีหรือประวัติศาสตร์ศาสนาไป ผมมองเห็นว่าการศึกษาธรรมะร่วมสมัยจะต้องมีการทอนความหมายลงให้เข้าใจได้ในชีวิตประจำวัน เป็นศัพท์ที่คนร่วมสมัยเข้าใจได้ไม่ยาก หากจะใช้คำยากก็ควรมีอรรถาธิบายให้ดูรื่น มากกว่าการคำนึงถึงความงามของคำจนไม่สนใจว่าใครจะอ่าน คำนี้ผมคุยกับอาจารย์สุลักษณ์ ท่านใช้คำว่าพุทธกุลละ ตัดปัญจ ออกไปแล้วใช้กุล ที่ดูง่ายกว่า ซึ่งตัวผมเองที่ก็ว่าจะเขียนบทความเรื่องนี้อยู่ ที่แม้จะชอบคำนี้ของอาจารย์ส. แต่ก็ยังอยากใช้อรรถาธิบายแบบง่ายๆ ให้เห็นว่าจริงๆมันก็คือ พลังงานของจิตห้าสี มากกว่าอะไรที่ดูยากจะเข้าใจ

ผมยังอยากเห็นการแปลทางวัชรยานและทิเบต โดยเฉพาะงานของท่านตรุงปะ อ่านง่านและเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าพุทธศาสน์ เพราะเท่าที่ผมศึกษางานของท่านตรุงปะ ท่านอธิบายธรรมะด้วยภาษาของชาวตะวันตก โดยแทบจะไม่ใช้ภาษาวิลิศมาหรา หรือตะวันออกเลยแม้แต่น้อย