26.3.08

หนังสือเล่มสอง



"หนังสือ บนเส้นทางแห่งการฝึกตน: สู่สายธารแห่งพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่ เล่มนี้ ย่อมเป็นประจักษ์พยานยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าวิถีแห่งพุทธธรรมนั้นเป็นสากล ไปพ้นพรมแดนและความแตกต่างทางวัฒนธรรมของชนชาติ หากจะธำรงคงอยู่ได้จำต้องประยุกต์รูปแบบให้ร่วมสมัย เพื่อให้ผู้คนในโลกยุคใหม่ได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงหลักธรรมอันล้ำค่าอย่างมีโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าบุคคลนั้นๆ จะสมาทานนับถือศาสนาใดหรือไม่ก็ตาม หากรากฐานสำคัญอันพึงตระหนักก็คือ จะต้องมีความเข้าใจระหว่างกัน ดังท่านอาจารย์พุทธทาสเคยฝากเป็นปณิธานไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง เพื่อยังความร่วมมือระหว่างศาสนาให้ปรากฏ แลด้วยการฝึกหัดภาวนาปฏิบัติขัดเกลาตนของแต่ละบุคคลนั้น ย่อมจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้โลกสมัยใหม่ดำเนินไปสู่สันติวิถีได้ในที่สุด"

จาก คำอนุโมทนา โดย ส.ศิวรักษ์

"บนเส้นทางแห่งการฝึกตน"
สู่สายธารแห่งพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่

เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียง
สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา

ด่วน! ประเดิมวางแผงที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
ณ ศูนย์สิริกิติ์ ๒๗ มีนาคม ถึง ๗ เมษายน ศกนี้
บูทสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา C1/ O28
(พบวิจักขณ์ที่บูทได้ ช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ ๓๑)

บางส่วนจากจดหมายถึงยิ่ง



"แม้เราจะได้เดินบนทางที่เราชอบ มันก็มักจะมีอุปสรรคให้เราได้ย้อนมองตัวเองอยู่ตลอดว่า "ที่ชอบน่ะชอบอะไร" มันเป็นเหมือนคำถามที่ไม่มีคำตอบ แต่มันติดตาม ท้าทายเราไปตลอด ให้เราได้สืบค้นแรงบันดาลใจส่วนลึกของเราไปเรื่อย ยิ่งลึกขึ้น ลึกขึ้น จนบางทีเรารู้สึกเหมือนว่า เราไม่อยากทำสิ่งที่ทำอยู่อีกต่อไปแล้ว ประมาณว่า "พอกันที" แต่น่าแปลกที่พอเราเจอกับภาวะนั้น เราก็ยังทำต่อ แต่เป็นการทำต่อที่ปล่อยวางมากขึ้น มีพื้นที่ให้ความสัปดนมากขึ้น และค้นพบวิถีทางในแบบของตัวเองมากขึ้น...

รู้สึกเหมือนว่านี่คือภารกิจของคนแต่ละรุ่น เราเรียนจากคนรุ่นก่อน ปรีชาญาณหรืออะไรก็แล้วแต่ เอามันเข้ามาสู่ตัวเรา แล้วยังไงไม่รู้ว่ะ วันนึงมันก็ตายไป สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่มันไม่เหมือนเดิมซะทีเดียว ดูมันจริงขึ้นในแบบที่เราเป็น กระบวนการเกิดตายนี้มันไม่สิ้นสุดซักที แล้วดูเหมือนว่ามันจะยากซะเหลือเกิน คนเรามันไม่มีใครอยากตายหรอก แต่พอไม่ตายก็ไม่มีพื้นที่ให้อะไรเกิดใหม่

การเป็นคนเก่งหรือคนประสบความสำเร็จเนี่ยก็คงไม่น่าจะยากอะไรสำหรับคนแถวๆนี้ แต่ไอ้การเป็นคนจริงเนี่ยสิ ยากชิบหาย เพราะมีแต่เราคนเดียวที่รู้ ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้จักพอ แต่เรารู้ว่าเรากำลังฝึกอะไรอยู่กับตัวเอง บางทีก็รู้สึกว่าตัวเองบ้า ทำไมไม่ยอมทำอะไรๆให้เหมือนคนอื่นๆ แบบง่ายๆครึ่งหลับครึ่งตื่น แต่ก็ไม่รู้ดิ ก็กูไม่ได้เป็นแบบนั้นนี่หว่า ทำไงได้ คือเรามันชอบท้าทายตัวเอง และชอบความสด เลือกเดินบนคมมีดให้บาดใจเล่น

พี่นับถือยิ่งและมีความรู้สึกร่วมหลายๆอย่างกับสิ่งที่ยิ่งเขียนเล่ามา แม้แต่ความรู้สึกอยากกลับบ้าน แต่ก็นั่นล่ะยิ่ง พี่เชื่อว่าคนอย่างยิ่ง พอกลับบ้านมาแล้ว ก็ยังจะมีการเดินทางต่ออยู่ดี อย่างพี่เองตอนนี้ก็ถามตัวเองอยู่เสมอว่า "บ้านจริงๆของกูอยู่ไหนวะ" หรือจริงๆแล้วกูเป็นคนไม่มีบ้าน...แต่ก็นั่นแหละ บ้านเราจะอยู่ไหนมันก็ขึ้นกับเรา เหมือนเป็นมณฑลแห่งความตื่น ที่เราจะพามันไปไหนต่อไหน วันนึงอาจจะพามันเดินทางไปกับเรา พบเจอผู้คน หรือวันนึงมันอาจจะหยุดกับที่ มีเมีย มีลูก มีบ้าน อันนี้คงแล้วแต่จังหวะเวลาหรือตามยถากรรม (ฮา)"

พี่ตั้ม

24.3.08

"หยุด" เปลี่ยน



โดย วิจักขณ์ พานิช
คอลัมน์จิตวิวัฒน์ มติชนรายวัน หน้า ๙ เสาร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๑

"บางทีการที่สังคมเราจะน่าอยู่ขึ้น อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปลุกกระแสของการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่ ตรงกันข้ามจุดเริ่มต้นอาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างการหยุดความคิดที่จะเปลี่ยน และหันกลับมารู้เนื้อรู้ตัวกับสิ่งที่เราแต่ละคนกำลังทำๆ กันอยู่ให้มากขึ้น ไม่ว่าสิ่งที่คุณเป็นมันจะน่าเกลียดน่ากลัวขนาดไหน ไม่ว่าสถานการณ์ในชีวิตของคุณจะเต็มไปด้วยความทุกข์และอุปสรรคมากเพียงไร คุณก็พร้อมที่จะยอมรับ เผชิญ และเรียนรู้กับทุกประสบการณ์ตรงหน้าตามที่เป็น อย่างไม่รีบที่จะวิ่งหนี หรือขอเปลี่ยน"

<อ่านทั้งหมด>

23.3.08

บ้านดอกแก้ว








บ้านน่ารักหลังเล็กนี้มีชื่อว่า “บ้านดอกแก้ว”
ดีนะที่ได้ชื่อนี้มาซะก่อน
เหตุเพราะมีต้นแก้วอยู่รอบบ้าน ส่งกลิ่นหอมบ้างเป็นบางเวลา
บ้านหลังนี้ร่มเย็น อบอุ่น และสงบเงียบ
ยกเว้นนอกเวลาทำการ ๑๙.๐๐ น. ถึง เที่ยงคืน
ที่จะต้องทำใจกับเสียงตึ่งโป๊ะของ “น้องใหม่”คาราโอเกะ

บ้านดอกแก้วมีตุ๊กแกตัวใหญ่อยู่สองตัว
ตัวมันสีเทา ตาโปน ตีนเหนียว และมีลายจุดสีแดง
ตัวนึงอยู่ในครัว แอบอยู่หลังตู้กับข้าว
อีกตัวยังหาไม่เจอ คิดว่าน่าจะหลบอยู่ตามซอกเสาหน้าบ้าน
นอกบ้านมีจิ้งจกมากมาย จิ้งเหลน และกิ้งก่า บ้างประปราย
น่าแปลกที่ไม่ค่อยมียุง
อาจเป็นเพราะการมีอยู่ของตุ๊กแก
หรือไม่ก็น้องใหม่คาราโอเกะ

21.3.08

the cry of snowlions



"ดาไลลามะ ท่านมีจุดยืนของท่าน ซึ่งพวกที่ใจร้อนคงไม่พอใจ ท่านใช้น้ำเย็น แต่ในระยะยาว น้ำเย็นจะชนะน้ำร้อน ท่านใช้อหิงสาธรรม ใช้ความรักความเมตตากรุณา ซึ่งผมว่านี่เป็นจุดเด่นของทิเบต ไม่ใช่ท่านองค์เดียว หลายคนที่ถูกจีนรังแกก็ใช้วิธีนี้ นี่เป็นวิธีเดียวที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพได้ในระยะยาว ดาไลลามะได้รับสั่งแล้วว่า สันติภาพจะเกิดขึ้นในโลกไม่ได้ เว้นแต่เราจะสร้างสันติภาวะภายในตนเอง แม้นี่จะยากเย็นเพียงใดก็ตาม แต่เป็นวิธีเดียว และผมว่า ตอนนี้คนก็เริ่มเห็นด้วยกับท่านมากขึ้นทุกทีแล้ว แน่นอนไม่ใช่เห็นด้วยทั้งหมด ยังมีพวกใจร้อนไม่พอใจ ก็ไม่ได้ว่าอะไร..."

อ่าน ความต้องการแห่งทิเบต "เหนือเอกราช คือ สันติภาพ"
สัมภาษณ์ ส.ศิวรักษ์ กรณีข่าวการลุกฮือต่อต้านการริดรอนเสรีภาพจากรัฐบาลจีนของชาวทิเบตในลาซา

20.3.08

อาชีพของผม



เมื่อวานระหว่างการทำบัตรประชาชน คุณพี่ที่เคาน์เตอร์ก็ชวนวิจักขณ์คุยเรื่อยเปื่อย

อ้าว..บ้านอยู่กรุงเทพเหรอ มาทำอะไรเชียงรายล่ะ
มาเช่าบ้านอยู่ ทำงาน เขียนหนังสือครับ

แล้วทำงานอะไรล่ะเราเนี่ย
อืม...เป็นอาจารย์พิเศษครับ

สอนอะไร
อือ อา...สอนเรื่อง...อา...อือ สอนภาวนาแล้วก็เรื่องเกี่ยวกับการศึกษาครับ

....(ชะงักไปพักนึง)
อือ...สอนที่ไหน
ก็ที่กรุงเทพน่ะครับ

งั้นช่องอาชีพจะกรอกว่าไงดี
อา...อาจารย์พิเศษดีมั๊ยครับ เพราะไม่ได้สอนประจำ

.....
แล้วคุณพี่ก็บรรจงกรอกลงช่องอาชีพว่า
....
(ให้ทาย)
...
“รับจ้าง”

...ในที่สุดเราก็มีคำที่เหมาะสมที่จะใช้อธิบายอาชีพของตัวเองเสียที

16.3.08

จดหมายข่าววัชรปัญญา มีนาคม ๒๕๕๑

สวัสดีครับเพื่อนๆ

ตอนนี้ผมอยู่เชียงราย แอบหลบลมร้อนในกรุงเทพ ขึ้นมาทำงานอยู่เงียบๆกับตัวเอง บรรยากาศเงียบสงบของบ้านสวน และการที่มีเวลาทำงานด้านในเพิ่มขึ้นทำให้ความโกลาหลของกราฟชันแห่งชีวิตของผมช่วงนี้ดูจะมีที่ทางของมันมากขึ้น นอกจากบทความชิ้นนึงที่กำลังเขียนให้กับจิตวิวัฒน์ ยังมีงานสำคัญชิ้นนึงที่ส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้นกับมันเป็นอย่างมาก นั่นคือบท "สาธนาแห่งมหามุทรา" ภาคภาษาไทย ที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติในรูปแบบ "งานพบปะเลี้ยงฉลองของเหล่าโยคี (Feast Practice)" ที่ผมกำลังคิดว่าจะจัดให้มีขึ้นในเร็วๆนี้

แนวทางของ Feast Practice นั้นกำเนิดขึ้นในอินเดีย โดยในขณะนั้นวิถีพุทธแบบวัชรยานยังต้องฝึกฝนกันอย่างลับๆโดยปัจเจกบุคคลที่มีชีวิตอยู่ตามชายขอบของสังคม เส้นทางชีวิตของพวกเขาพาพวกเขามาในสถานการณ์ที่ "ไม่มีทางเลือก" เป็นจุดที่โดนตีตรา ตัดสินจากสังคมในทุกทาง แต่กระนั้นพวกเขาก็ยังมุ่งมั่นฝึกฝนตนเองบนคมมีดแห่งชีวิตอย่างมุ่งมั่น ในคืนพระจันทร์เต็มดวงโยคีผู้กล้าเหล่านี้ก็จะมาพบเจอกันในป่าช้า เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ปฏิบัติร่วมกัน และ "เลี้ยงฉลอง" ด้วยมณฑลแห่งการตื่นรู้จากการฝึก บทสาธนาแห่งมหามุทราถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่เชอเกียม ตรุงปะ ได้รจนาไว้ โดยที่เนื้อหาได้หลอมรวมเอาแก่นอันลึกซึ้งของวิถีพุทธวัชรยานไว้อย่างครบถ้วน

แม้ผมจะไม่ปฏิเสธกับยี่ห้อ "วัชรยาน" ที่ทุกคนพากันแปะให้กับนายวิจักขณ์ แต่ผมก็ยังขอยืนยันกับเพื่อนๆทุกคนถึงความมุ่งมั่นอุทิศตนในวิถีแห่ง "พุทธธรรม" ที่ไม่มีการแบ่งแยกลัทธินิกาย เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าความเข้าใจนั้นจะมาจาก วิถีแห่งอรหันต์ (เถรวาท) วิถีแห่งโพธิสัตว์ (มหายาน) หรือ วิถีแห่งสิทธา (วัชรยาน)ก็ตามที พลังแห่งการตื่นรู้อันเป็นความดีงามพื้นฐานภายในของมนุษย์ก็ยังคงดำรงอยู่แล้วอย่างไม่มีใครสามารถจะใส่ยี่ห้อหรือแบ่งขั้นความสูงต่ำของมันได้ วิถีการปฏิบัติทั้งหมดจำต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจพื้นฐานที่สำคัญข้อนี้ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ในฐานะวิถีปฏิบัติที่ไม่แยกขาดจากความเป็นจริงในชีวิตของคนเดินดินธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ต้องการจะเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น คนจริงที่มุ่งมั่นที่จะเข้าถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตนเอง ภาพสะท้อนให้เห็นตัวเองชัดขึ้นไปอีกจากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จนท้ายที่สุดเส้นทางนั้นจึงค่อยๆพาเขาเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง

ผมดีใจที่การฝึกอบรม "บนเส้นทางแห่งการฝึกตน" ทั้งสองครั้งผ่านไปได้ด้วยดี มีผู้เข้าร่วมเต็มตามจำนวนทั้งสองครั้ง แต่ก็เสียดายที่ระยะเวลาอันสั้นทำให้ผมไม่สามารถที่จะทำความรู้จักและรับฟังเรื่องราวบนเส้นทางแห่งการฝึกตนของเพื่อนๆแต่ละคนได้ลงลึกนัก แต่กระนั้นผมก็ถือว่าสองวันนี้ก็ได้บรรลุเป้าหมายเล็กๆของผมที่จะได้จุดประกายการตื่นรู้เล็กๆไว้ในใจของเพื่อนๆที่เข้ามาฝึกร่วมกัน ถือเป็นการให้โอกาสกับคนกรุงที่แทบจะไม่สามารถลาพักร้อนออกมาจากหน้าที่การงานหรือความรับผิดชอบทางครอบครัวได้มากนัก

กระนั้นผมก็ยังหวังว่า ประกายการตื่นรู้ที่ปรากฏขึ้นนั้นจะได้ฉายแสงเรืองรองส่องสว่างในใจเพื่อนๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามการฝึกฝนในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเพียงวันละ ๒๐ นาทีก็ยังดีกว่าปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามข้อจำกัดความคิดแบบคุ้นชินเดิมๆอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว และในอนาคตก็หวังว่าเพื่อนๆจะได้มีเวลากลับมาฝึกกันอีก ไม่ว่าจะเป็น ๔ วันที่หมู่บ้านเด็ก ๗ วันที่สวนโมกข์ หรือจนถึงวันหนึ่งหากความบ้าของผมยังไม่ลดน้อยถอยลง และอายุขัยยังไม่สิ้น ก็จะเห็นการฝึกภาวนาเข้มแบบหนึ่งเดือนเต็ม ที่เรียกกันว่า "ดาทุน" ในเมืองไทยอย่างแน่นอนครับ

ท้ายสุดก็ขอให้เพื่อนๆมีชีวิตที่มีสีสันกันต่อไป จำไว้เสมอนะครับว่าไม่ว่าจะสุขทุกข์ประการใด เพียงแค่เรามีพื้นที่แห่งการตื่นรู้ภายในที่เปิดกว้าง ทุกประสบการณ์ ทุกผู้คน และทุกภาวะทางอารมณ์ก็สามารถถูกหลอมรวมเข้ามาเป็นเชื้อไฟให้กับการฝึกฝนของเราได้ทั้งสิ้น

ในสายธารธรรม
วิจักขณ์

๑๕ มีนาคม ๕๑
บ้านดอกแก้ว, เชียงราย

10.3.08

two




"shambhala, the path of the warrior (2)"

meditation workshop with vichak panich
@ Suan Ngeun Mee Ma, Klongsan,
Bangkok
8-9 March 2008

9.3.08

มหาบูรพสูรย์




เมื่อเราหวนมองกลับไปยังรังดักแด้
เราจะสัมผัสได้กับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในโลกของความกลัว
อันจะดลใจให้เรามุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไปบนหนทางของนักรบ

การเดินทางหาได้หมายถึงการเดินดุ่มๆอยู่บนทะเลทราย
ที่เป้าหมายอยู่ที่การไขว่คว้าตามหาเส้นขอบฟ้าอันไม่มีที่สิ้นสุด
ทว่าการเดินทางครั้งนี้ คือ การเดินทางด้านในที่จะค่อยๆคลี่คลาย
ด้วยคุณค่าและความหมาย
ที่จะประทับไว้อยู่ในจิตวิญญาณของเราตราบชั่วนิรันดร์

แสงเรืองรองแห่งอรุณรุ่งยามเช้า
หาได้อยู่นอกตัวเรา ราวกับดวงอาทิตย์ในท้องฟ้า

ทว่ามันได้ฝังอยู่แล้วในทุกๆอณู
ในศีรษะ
ในหัวไหล่
ในใบหน้า
ในเส้นผม
ในริมฝีปาก

ขอเพียงแต่เรามุ่งมั่นที่จะสืบค้น ทำความรู้จักกับท่วงท่า
ลักษณะนิสัย และความเป็นไปในทุกสภาวะ
เมื่อนั้น
เราก็จะสามารถพบได้
กับแสงเรืองรองอันยิ่งใหญ่
ที่จะฉายสะท้อนในทุกภาวะของการดำรงอยู่


เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
ร้อยเรียงโดย วิจักขณ์

8.3.08

reggie on elevision



the sun shines brightly on the horizon,
wakes me up from another sleepless night,
good morning, reggie,
...
how are you?