เริ่มต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วย “น้อมใจรับใช้ผืนดิน” งานฝึกอบรมที่ผมทำคู่กับพี่เล็ก ปรีดา เต็มๆเป็นครั้งแรก กิจกรรมภาวนาควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจประเด็นทางสังคม ตระหนักถึงพลังชีวิตจากการทำงานด้านใน ฝึกจิตฝึกใจของเราแต่ละคน ที่ผลิล้นออกมาเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมในแบบของเราเอง “ไม่ใช่ข้างนอก” ที่การทำงานเพื่อสังคมไม่ได้ทำไปเพื่อหวังผลใดๆในการเสริมสร้างตัวตน แม้แต่ความเป็นคนดีมีคุณค่า หรือ ผู้ทำประโยชน์แก่สังคม และ “ไม่ใช่ข้างใน” ที่การฝึกใจไม่ได้เป็นไปอย่างหมกมุ่น ดูจิต แก้กรรม ทำกุศล จนเลยเถิดกลายเป็นการสร้างอัตตาทางจิตวิญญาณที่ก้าวร้าวแยกขาดจากความอ่อนน้อมต่อโลก
กิจกรรมการออกไปจาริกดูใจในสถานการณ์จริง วางใจในความเป็นไปอันแสนโกลาหล และตระหนักถึงข้อจำกัดในตัวเราที่กั้นขวางจากการ “น้อมใจ” ต่อผู้คนได้อย่างธรรมดาสามัญ สถานะ การศึกษา ภาษา ท่าที บุคลิก คุณค่า ความเชื่อ ความกลัว ความคาดหวัง... สิ่งละอันพันละน้อยที่เราเกี่ยวเกาะขึ้นเป็นตัวเรา ยึดแน่นจนไม่สามารถปล่อยสู่ความเปลือยเปล่าในสถานการณ์การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนตรงหน้าได้อย่างแท้จริง
น้อมใจรับใช้ผืนดิน นำคำถามง่ายๆที่ว่าเราแต่ละคนเกิดมาทำไมในผืนดินนี้ และเราศิโรราบให้กับการเกิดมาเหยียบอยู่บนผืนดินนี้จริงๆแล้วหรือ กับเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนที่ได้เสกสร้างสีสันอันหลากหลายตามแต่เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ ชีวิตที่มีสุขทุกข์ มีความงามและความมืดหม่นที่เปลี่ยนแปลงพลิกผลันได้ในพริบตาเดียว และนั่นคือชีวิตกับการภาวนา กับการน้อมนำทุกประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งของการสัมพันธ์ต่อกันในฐานะเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย และเข้าใจธรรมชาติแห่งการเวียนว่ายที่ไม่จบไม่สิ้น
ท่ามกลางความโหยหาทางจิตวิญญาณในสังคมไทยที่คุกรุ่นเสียเหลือเกิน ลัทธิ ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณแปลกใหม่ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด เราจะวางใจกันอย่างไร เราจะมีใครหรือสิ่งใดเป็นที่พึ่ง อะไรถูก อะไรผิด อะไรแท้ อะไรเทียม ก่อนที่จะไปถึงคำถามเหล่านั้น พื้นฐานของการน้อมใจลงสัมผัสดิน จริงใจและสัตย์ซื่อต่อสิ่งที่ตนเองเป็น น่าจะเป็นพื้นฐานที่ผู้ฝึกทุกคนควรสดับรับฟัง เสียงภายในที่จริงแท้อันปราศจากการเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดภายนอกอันเป็นสมมติ นอกจากผืนดินอันเป็นเนื้อเป็นตัว และผืนฟ้าอันเปิดกว้างเสมอเพียงสองตีนเราสัมผัสพื้นขณะที่ก้าว จริงอยู่ที่ว่าศรัทธาคือกำลัง แต่พึงจำไว้เสมอว่า ศรัทธาในทุกประสบการณ์ชีวิตอันเป็นภาพสะท้อนของจิต คือ ศรัทธาสูงสุดที่ผู้ปฏิบัติพึงมี ส่วนเทคนิควิธีการมีไว้เพียงเพื่อให้เราอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเราได้ก็เท่านั้น
การแลกเปลี่ยนสื่อสารเรื่องราวทางจิตวิญญาณจากประสบการณ์ตรงก็ยังคงดำเนินกันต่อไป เป็นไปอย่างที่เป็นไป ทุกอย่างก็คงทำเท่าที่ทำได้ ไม่น้อยไม่มากเกินกว่าที่พื้นที่ของใจจะพอเปิดรับ
บ้านตีโลปะ ๑๐๘ /๑
๒ ตุลาคม ๕๒
______________________________
-ข่าวฝากจากมณฑลวัชรปัญญา และบ้านตีโลปะ-
๑. ๗-๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ "ง่ายงามในความธรรมดา" กับ วิจักขณ์ พานิช คอร์สภาวนาระยะสั้น ๒ วัน สำหรับคนทำงาน เรียนรู้พื้นฐานการภาวนาและปรับทัศนคติต่อการเดินทางด้านในให้อ่อนโยนกับตัวเองมากขึ้น สมัครได้ที่เสมสิกขาลัย 02-314 7385 ถึง 6 หรือ semsikkha_ram@yahoo.com รับเพียง ๓๐ ท่านเท่านั้น
๒. ๒๑-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ "ชีวิตกับความรุนแรง" กับ อัญชลี คุรุธัช (และ วิจักขณ์ พานิช) ณ บ้านตีโลปะ
มาเปิดใจร่วมกันเรียนรู้และใคร่ครวญถึงปัญหาการใชัความรุนแรงกับคนใกล้ตัว ฟังเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่ถูกทำร้าย เห็นถึงความเข้มแข็งของพวกเขาในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความปลอดภัย และเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ทำความเข้าใจกับลักษณะและรูปแบบของความรุนแรง รวมทั้งผลกระทบที่ความรุนแรงเหล่านี้มีต่อเด็ก ชุมชน และสังคม จากประสบการณ์การทำงานเพื่อผู้ลี้ภัย ผู้คนด้อยโอกาส และผู้ประสบเคราะห์กรรม ของวิทยากร คุณอัญชลี คุรุธัช อดีตประธาน Buddhist Peace Fellowship (BPF)
๓. อ่านบทสัมภาษณ์ "ชีวิตคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์: บนหนทางภาวนาของวิจักขณ์ พานิช" ในสานแสงอรุณ ฉบับเดือนก.ย.-ต.ค. ศกนี้