17.12.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนธันวาคม ๒๕๕๒

to my child

be fearless and consume the ocean.
take a sword and slay neurosis.
climb the mountains of dignity and subjugate arrogance.
look up and down and be decent.
when you learn to cry and laugh at the same time, with a gentle heart,
all my belongings are yours,
including your father.


แด่ลูกรัก

ด้วยใจที่ไม่หวั่นไหว จงดื่มกินมหาสมุทร
ไกวดาบ ฟาดฟันความวิปลาสทั้งหลาย
ปีนป่ายขุนเขาแห่งศักดิ์ศรี และกำราบอหังการให้สิ้นซาก
มองไปโดยรอบ ด้วยความอ่อนน้อม
ยามที่เจ้าร้องไห้และหัวเราะได้พร้อมกัน กับหัวใจที่อ่อนโยน
ทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพ่อได้เป็นของเจ้าแล้ว
รวมถึงตัวพ่อเองด้วย

โดย เชอเกียม ตรุงปะ
วิจักขณ์ พานิช แปล
______________________________________________

- ข่าวประชาสัมพันธ์ จากมณฑลวัชรปัญญาและบ้านตีโลปะ -
http://www.tilopahouse.com

๑. ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ ขอเชิญชวนเพื่อนฝูงที่สนใจแลกเปลี่ยนประสบการณ์บนเส้นทาง "การศึกษาด้านใน" ของตนเองร่วมกับ Matt และ Annie สองบัณฑิตจากภาควิชาผู้นำสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนาโรปะ ในโอกาสที่ทั้งสองมาเยือนบ้านตีโลปะ วงสนทนาเริ่มบ่ายสอง พกอาหารและเครื่องดื่มใส่ปิ่นโตมากินข้าวเย็นร่วมกัน แล้วพูดคุยกันต่อถึงสามทุ่ม แจ้งเจ้าบ้านล่วงหน้าที่ refish@tilopahouse.com ไม่งั้นไม่ต้อนรับ

๒. ๒๑-๒๔ มกราคม ๒๕๕๓ ต้อนรับศักราชใหม่ด้วย "PASSION ไฟตัณหา" กับ กัญญา ลิขนสุทธ์ และวิจักขณ์ พานิช เวิร์คช็อปสี่วัน ณ บ้านตีโลปะกับการร่วมกันสืบค้นการดูแลใจ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตแห่งความปรารถนาอันงดงามของความเป็นมนุษย์ ค้นพบแรงบันดาลใจแห่งการมีชีวิตอยู่ กระเทาะเปลือกแห่งสิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น สู่ความเป็นตัวของตัวเองที่จริงแท้ เต็มเปี่ยมและทรงพลัง สมัครเข้าร่วมกิจกรรมท่านละ ๓๐๐๐ บาท รับจำนวนจำกัดเพียง ๑๕ ท่านที่ refish@tilopahouse.com

๓. ๑๖-๒๑ กุมภาพันธ์ ดุ่มเดินบนหนทาง กับอ.ประมวล เพ็งจันทร์ และวิจักขณ์ พานิช ใน "ชีวิตคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์" ปฏิบัติภาวนา จาริก สนทนาธรรม และปลีกวิเวก บนวิถีอันง่ายงามท่ามกลางแมกไม้ สายน้ำ และขุนเขา สนใจติดต่อ เสมสิกขาลัย semsikkha_ram@yahoo.com

๔. อ่านบทสัมภาษณ์ Heart is a Lonely Wanderer โดยพี่หมี ในนิตยสาร IMAGE ฉบับธันวาคม ๒๕๕๒

๕. อ่านบทสัมภาษณ์อีกชิ้น โดยฮุ้ง ในนิตยสาร Secret คอลัมน์ Live&Learn ฉบับมกราคม ๒๕๕๓

5.12.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒

วิจักขณ์ พานิช: สังคมในตอนนี้หันมาตื่นเต้นกับการภาวนามาก เพราะคนมีความทุกข์มาก ความทุกข์คืออะไร การให้ความหมายอันหนึ่งที่ผมชอบก็คือ ความทุกข์คือการตัดขาด ความทุกข์เกิดเพราะเราตัดขาดจากความสัมพันธ์เชื่อมโยง เมื่อเราไม่เข้าใจว่าเราทุกข์เพราะเราตัดขาดจากตัวเอง คนอื่น ธรรมชาติ และความเป็นจริง เราก็พยายามหาบางสิ่งเข้ามาทดแทนซึ่งก็คือความสุข แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เรายิ่งหาทางเบี่ยง หาทางลัดไปสู่ความสุข โดยไม่ได้กลับมาอ่อนโยนกับตัวเอง สัมพันธ์กับตัวเอง ผู้คน ธรรมชาติ เรามัวสนใจแต่ผลลัพธ์จนหลายครั้งที่เราพยายาม ไต่ขึ้นไป เราก็ยิ่งหลงลืมว่ามีผืนดิน มีสิ่งรอบตัวที่เราควรน้อมกลับลงมาสัมพันธ์ด้วย

การภาวนาคือการฝึกที่จะอยู่กับตัวเองให้เป็น อยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น อยู่กับสิ่งแวดล้อม อยู่กับฤดูกาล ความผันแปร ฉะนั้นถ้าเรามองเห็นอย่างแจ่มชัดและผ่อนคลายกับมันได้ เราก็จะเรียนรู้มันด้วยความละเอียดอ่อน การเข้าคอร์สภาวนาก็คือการจัดสถานที่ หรือสถานการณ์บางอย่างให้เราได้อยู่กับตัวเอง เพราะปกติเราอยู่กับตัวเองไม่ได้ นั่งเฉยๆแค่ ๕ นาทีก็ไม่ได้ คอร์สภาวนาคือการให้กำลังใจว่าเราทุกคนสามารถอยู่กับตัวเองได้ เทคนิควิธีการทั้งหลายที่ครูบาอาจารย์ส่งทอดต่อกันมา ก็คือการปล่อยวางความคิด จนเราสามารถที่จะนิ่งอยู่กับตัวเองได้จริงๆ ความคิดเข้ามากั้นขวางทำให้เรามองไม่เห็นความจริงที่อยู่ตรงหน้า ช่วงแรกของการฝึกเราจะเห็นว่าเรามีความคิด ความกลัว ความคาดหวังเป็นกำแพง การฝึกช่วงแรกๆ จะเต็มไปด้วยความคิด จะทำอย่างไรให้เราปล่อยวางความคิด อยู่กับความเงียบ อยู่กับเสียงต้นไม้ อยู่กับเสียงหัวใจของเราได้

การมาเข้าวิปัสสนา หรือคอร์สอบรมภาวนาต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ จริงๆแล้วมันก็เหมือนโรงพยาบาลโรคจิต เราป่วยและต้องการการบำบัด คอร์สเหล่านี้ทำไว้สำหรับคนเมืองที่ป่วย ซึ่งผมก็ป่วยมาเช่นเดียวกัน เราเต็มไปด้วยความคิด เดินก็ลอยๆ ไม่ค่อยสัมพันธ์กับอะไร นี่คือความป่วยของคนเมืองในโลกสมัยใหม่ที่อยู่ในภาวะตัดขาดอย่างรุนแรง เราจึงมีคอร์สต่างๆ ให้เข้ามากมาย ซึ่งผมหวังว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะไม่ต้องเข้าคอร์สเหล่านี้อีกต่อไป เราสามารถเริ่มที่จะกลับมาปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เรียนรู้จากชีวิตจริง ธรรมชาติ สัมพันธ์กับผืนดินและผู้คน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ในชีวิตจริงๆ ทำให้ชีวิตมีความหมาย มีพลัง เราต้องมองให้ออกว่าการฝึกภาวนาของเรา เราทำอะไรอยู่ ชีวิตมันเป็นเป้าหมายของมันเอง ไม่ใช่เราจะมาเอาดีทางการภาวนา แต่การภาวนาคือชีวิต คือประสบการณ์ในชีวิต ทุกความทุกข์ ทุกความสุข ถ้าเรามีพื้นฐานของการฝึกใจที่ดี ใจเราจะเปิด และมันจะเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตของเรา

โจน จันได: การภาวนาคือการเป็นปกติ ถ้าเราพูดเสียงดังก็พูดเสียงดัง ไม่ต้องทำอะไรให้มันวิจิตรพิสดาร ถ้าเราฝึกที่จะยืน เดิน นั่ง นอน จับนั้นนี่ ไป ไม่ได้คิดอะไร ก็จะเกิดความไม่ประมาททางจิต เรารู้สึกได้ว่าเราทำอะไรอยู่ เป็นชีวิตปกติประจำวัน เหยียบดินถ้าเราเหยียบอะไรที่มันแข็งเราก็หยุด มันเป็นความปกติของการมีชิวิตอยู่ แต่ก่อนผมก็เคยคิดว่าการภาวนาคือการนั่งเพื่อฝึกใจให้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ เห็นชาติที่แล้ว ชาติหน้า เห็นหวย เห็นเลข สัมผัสกับญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว มันกลายเป็นเรื่องที่ไกลจากตัวเอง บางครั้งก็เพลิดเพลินกับการนิ่งเหมือนจมลึกไปสู่สิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด หรือลอยไปไกล เมื่อก่อนผมติดที่จะนั่งแบบนั้น แต่มันก็อยู่แค่นั้น ไม่ได้ไปไหน เพราะเราติดกับความรู้สึกวูบวาบ กลายเป็นการภาวนาทำให้เราเสียเวลาไปอย่างน่าเสียดาย

การภาวนาคือการเข้าใจการทำงานของใจตัวเองว่า เช่น ทำไมเราต้องโกรธเวลาใครพูดไม่เข้าหู ทำไมเราต้องเสียดายเวลาอะไรพรากจากเราไป เป็นการพิจารณาสืบค้นไปเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นอะไรที่มากขึ้น จนคลี่คลายปัญหาในชีวิตได้ แต่ก่อนที่จะพิจารณาสืบค้น เราก็ต้องมีใจที่นิ่งเสียก่อน นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนา เมื่อเรานิ่งแล้วก็ใช้การพิจารณาสืบค้นปัญหาในชีวิตของเรา ผมมักพิจารณาสืบค้นกายของตัวเอง ดูว่าอะไรคือตัวเรา ผมเห็นแต่การไหลของธาตุต่างๆ ในรูปของอากาศ น้ำ อาหาร แล้วมันก็ไหลออกไป แต่เราอาจเห็นว่ามันช้ามากจนเราเข้าใจว่านี่คือตัวของเรา แต่ถ้าเรามองให้ไกลออกไป เห็นเหมือนชีวิตของผีเสื้อ จะเห็นว่าชีวิตคนเรามันไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณากายบ่อยๆ ก็เห็นว่า นี่ไม่ใช่ตัวผมนะ นี่เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของตัวผมเท่านั้นเอง ตัวผมคือพื้นดิน คือน้ำ คืออากาศด้วย มันเชื่อมโยงไหลเวียนตลอดเวลา การเข้าใจว่าตัวผมมีแค่นี้ คือการเข้าใจผิดมากๆ เพราะตัวนี้จะอยู่ไม่ได้เลยถ้าตัดขาดจากพื้นดิน อากาศ พืช สัตว์ มันอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นตัวทั้งหมดคือตัวเดียวกัน ความรู้สึกอย่างนี้ได้ทำให้ใจเราไม่กลัว หรือกังวลกับการมีชีวิตอยู่ เพราะทั้งหมดคือตัวเรา ทำให้ใจเรากว้างมากขึ้น เพราะตัวเรานี้คือส่วนที่เล็กที่สุดของตัวเราเท่านั้น เราต้องดูแลตัวเราทั้งหมด โลก ต้นไม้ อากาศ

เมื่อเราเห็นความปกติของชีวิต เราก็จะไม่กลัว ใช้ชีวิตไปแบบนี้ เราใช้ชีวิตที่ไม่ทำร้ายตัวเองก็คือการไม่ทำร้ายสิ่งต่างๆ การภาวนาสำหรับผมคือการนั่งนิ่งๆ ไม่ปล่อยให้ความกลัว ความกังวล อดีตหรืออนาคตมารบกวนเรามากเกินไป ในช่วงที่สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่รบกวนเรา เราก็จะพบความนิ่ง ด้วยความนิ่งเราก็นำมาพิจารณาสืบค้น มันจะทำให้เราเห็นอะไรที่ชัด ลึก มากขึ้น

ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แต่ทำให้มันเบา สบาย ง่าย ผมก็ฝึกอย่างนี้มาเรื่อยๆ

วิจักขณ์ พานิช: สิ่งที่เรามาฝึกกับพี่โจคือการพึ่งตัวเองทางปัจจัย ๔ ส่วนการภาวนาก็คือการกลับมาพึ่งตัวเองทางจิตวิญญาณ หลายสิ่งหลายอย่างในระบบสังคมทุกวันนี้พยายามดึงเราให้เป็นทาส แม้แต่เรื่องทางจิตวิญญาณก็เหมือนกัน ที่มักหาวิธีที่จะเล่นกับความกลัว ความอยาก ความขาดพร่องของคน คนที่ฝึกภาวนาไม่ใช่ฝึกเพื่อให้คลั่งไคล้ครู คลั่งไคล้ศาสนา คลั่งไคล้ธรรมะ แต่เป็นการค่อยๆ ปลดความจริงในตัวเรา ค่อยๆเป็นอิสระจากการพึ่งพิงสิ่งต่างๆจากภายนอก ภาวนาที่แท้จริงคือการพึ่งตัวเอง การกลับมาเชื่อในศักยภาพของตัวเอง การปฏิบัติทางจิตวิญญาณไม่ควรทำให้เราอ่อนเปลี้ย กลัวยิ่งขึ้น ต้องเร่งตัวเองมากขึ้น หรือต้องถีบตัวเองให้สูงขึ้น นั่นดูจะไม่ใช่คุณค่าทางจิตวิญญาณ แต่เป็นการเล่นกับความกลัวเสียมากกว่า

โจน จันได: คำว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” เป็นคำทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่คำทางโลกที่เราเข้าใจว่าการพึ่งตัวเอง ไม่พึ่งพิงคนอื่น แต่มันหมายความว่า การที่เราจะต้องเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่มีใครที่จะพึ่งพิงได้ ตัวเราต้องทำด้วยตัวของเราเอง

เมื่อก่อนผมก็วิ่งตามอาจารย์ คิดว่าอาจารย์จะช่วยเราได้ หนังสือเล่มไหนว่าดี ก็ต้องอ่าน คิดว่าจะช่วยได้ แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่แผนที่ที่ช่วยบอกเราว่าถ้าจะไปทางนั้น จะต้องเจอสิ่งนั้น สิ่งนี้ ฉะนั้นการที่จะเข้าใจความจริงของการมีชีวิตอยู่เราต้องเดินไปเอง การอ่านมากๆ ก็แค่เป็นเพียงคนที่รวบรวมแผนที่ เข้าหาอาจารย์ทุกอาจารย์ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะมัวแต่ชื่นชมอาจารย์ นี้คือกำแพงที่ใหญ่มากสำหรับผมเองในอดีต แต่เมื่อลงมือทำมันไม่สูตร ไม่มีตำรา รูปแบบทั้งหมดถูก สำหรับคนบางคน รูปแบบทั้งหมดผิดสำหรับคนบางคน แล้วแต่จริตของใครเท่านั้นเอง เพราะว่าความจริงไม่มีศาสนาหรือลัทธิ แต่เป็นสิ่งสากลของการเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด ในหลายๆอาจารย์มีทั้งจริงและปลอมทำให้เราสับสนมากขึ้น แต่เรื่องจิตใจควรเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อน

ผมอาจจะหลงทางก็ได้ แต่ผมรู้สึกว่าชีวิตผมเบา สบายยิ่งขึ้น แค่นี้ก็พอ เพราะผมไม่ได้คิดถึงสวรรค์ นิพพาน การบรรลุ มันแค่แสวงหาความง่ายให้ชีวิต

(จากงานอบรม "จิตวิญญาณแห่งผืนดิน" ณ สวนพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่)

ขอบคุณนิ้งที่ช่วยถอดเทปออกมาอย่างด่วนจี๋

ของฝากจากผืนดิน

สำหรับเพื่อนๆที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนที่บ้านตีโลปะ เช่นในโอกาส "ชีวิตคือความรุนแรง" หรือ "เมล็ดพันธุ์ภาวนา" ที่จะมาถึงเร็วๆนี้ และอยากหนีบอะไรมาฝาก ขอแนะนำสิ่งต่างๆต่อไปนี้: ต้นไม้ที่รอการแยกเหล่าแยกกอ (โดยเฉพาะไม้ใบและไม้แขวน) ดินดีแถวบ้าน ฟาง ขี้ไก่ หินหรืออิฐจัดสวน เศษใบไม้แห้ง ปลา (หางนกยูง ปลาทอง) และวัสดุอุปกรณ์สำหรับจัดสวนที่มีเหลือใช้แบบไม่ต้องซื้อหาทุกชนิด

20.11.09

ขอบคุณ

ขอบคุณสำหรับทุกชีวิตที่ร่วมสรรค์สร้างบ้านตีโลปะขึ้นมาคนละเล็กละน้อยจนเป็นภาพอย่างที่ปรากฏ

ขอบคุณท่านตรุงปะ เร้จจี้ และลี และธรรมาจารย์ในสายธรรมทุกท่าน ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของบ้านหลังนี้

พ่อและแม่ สำหรับความเกื้อหนุนและความเสียสละ ที่มอบบ้านหลังนี้ให้เป็นสถานที่สำหรับผู้ประพฤติธรรม

อาจารย์สุลักษณ์ สำหรับความรักและกำลังใจ ที่คอยไถ่ถามถึงความเป็นไปของบ้านหลังนี้อยู่ตลอด ขอบคุณอาจารย์ที่ให้เกียรติมาเจิมบ้าน และนำพาเอาพลังที่ดีงามเป็นจุดเริ่มต้นให้แก่บ้านตีโลปะ

นภา สำหรับแรงกายและแรงใจ การอุทิศตนโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และความอดทนต่ออุปสรรคต่างๆอย่างที่ไม่สามารถหาใครมาเสมอเหมือนได้ บ้านหลังนี้คงไม่สามารถเป็นรูปเป็นร่างได้หากปราศจากสิ่งที่นภามอบให้ด้วยชีวิต ขอบคุณสำหรับเว็บไซต์ที่งามเป็นที่สุด

พี่ต้อง และป้าจิตร สำหรับไม้จากบ้านลาดพร้าว ที่นำมาใช้สร้างบ้านทั้งหลัง

พี่หนึ่ง สำหรับมิตรภาพและกำลังใจ และสองเดือนที่ช่วยดูแลการก่อสร้างบ้านระหว่างที่ผมไปต่างประเทศ สำหรับสีบ้านอันจัดจ้าน ที่่โดนใจจนใจสั่น สำหรับการช่วยย้ายของไปมาหลายต่อหลายรอบ สำหรับการโอบอุ้มในช่วงเวลาที่ปลาไม่กระโดด และกำลังจะจมน้ำ

น้ำ และแอน สำหรับงานออกแบบบ้าน ที่ต้องอาศัยความอดทนต่อความเรื่องมากของเจ้าบ้านอย่างถึงที่สุด ขอบคุณน้ำที่แวะมาเยือนและดูรายละเอียดเล็กน้อยให้บ้านตีโลปะจนเสร็จสิ้น

พี่ยุทธ สำหรับความเต็มใจ เต็มกาย และความอดทนตลอดหลายเดือนที่มีให้กับบ้านตีโลปะ ดีใจมากที่ได้พี่ยุทธเป็นผู้คุมงานสร้างบ้านหลังนี้ หวังว่าวันหนึ่งบ้านคงจะได้ต้อนรับน้องผิงอัน และพี่นุชด้วย ขอบคุณต๋อ ที่มาช่วยดูรายละเอียดในช่วงที่พี่ยุทธไปทำหน้าที่พ่อ

ทีมช่างแสนประเสริฐ พี่จักร ลุงเบิ้ม พี่ชวน พี่เบิ่ง พี่ป๊อด พี่ต้อย และคณะ สำหรับทุกรายละเอียดของบ้าน ขอบคุณสำหรับมิตรภาพ ประสบการณ์ และความหมายของชีวิตมากมาย ที่ผมได้เรียนรู้จากการที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพี่ตลอดการสร้างบ้านหลังนี้ ขอบคุณต้นตะเบบูย่าเหลืองสองต้นที่พี่จักรหอบมาฝากจากนครนายก และขอบคุณที่ให้ได้รู้จักรสชาติของใบกระท่อม

เอ็ม และติ สำหรับการมาช่วยจัดบ้าน ทำความสะอาดบ้าน และเตรียมงาน อย่างไม่มีปริปากบ่น ขอบคุณสำหรับมิตรภาพที่ไม่จำเป็นต้องสื่อสารออกมาด้วยคำพูดหวานๆ

คุณแม่ของนภา สำหรับการช่วยเย็บผ้าเบาะที่งดงามอย่างเรียบง่าย

พี่เหมียว เพื่อนบ้านที่แสนดี สำหรับการช่วยเป็นหูเป็นตาให้ ยามที่ไม่มีใครอยู่บ้าน

พี่อัญชลี สำหรับการให้เกียรติมาเป็นแขกคนแรกของบ้าน และแรงใจที่เกื้อหนุน

พี่หลิ่ง สำหรับผ้าเบาะลายผ้าถุง ที่ช่วยเพิ่มสีสันให้กับห้องปฏิบัติ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำ กำลังใจ และการช่วยเหลือให้คำปรึกษาทางจิต ขอบคุณสำหรับมิตรภาพที่งอกงามอย่างรวดเร็วในช่วงไม่นานที่ได้รู้จักกัน

ขอบคุณแขกทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมเยือนและมอบพลังที่ดีงามให้กับบ้าน และพลังใจอีกมากมายร้อยแปดจากทั่วทุกสารทิศที่ไม่สามารถกล่าวได้หมดสิ้นในที่นี้

และท้ายที่สุด ขอบคุณเยเช ที่จะอยู่ในใจพ่อตลอดไปในทุกหลืบมุมของบ้านหลังนี้ ...

ติดตามการเดินทางบทต่อไปของบ้านได้ที่
http://www.tilopahouse.com

2.11.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๒

Six Illusions
As Metaphors of Impermanence


Look there at all the objects appearing outside,
Fleeting visions, like last night’s dream.
When you recall they’re dream-like, these delusions make your mind uneasy.
Have you cut delusion at the root, Rechungpa?
When I reflect on this, sublime Dharma comes to mind.

When looking inward at your body,
Transitory like a city of ghandharvas,
Its rising and falling make your mind uneasy.
Have you cut through [the fear of] birth and death, Rechungpa?
When I reflect on this, sublime Dharma comes to mind.

When looking inward at the perceiving mind,
Fugitive like a bird in the crest of a tree,
So restless its makes your mind uneasy.
Have you taken a hold of mind’s secure ground, Rechungpa?
When I reflect on this, sublime Dharma comes to mind.

When looking inward at the breath moving inside,
It’s impermanent like mist in the air.
The fading and passing of mist makes your mind uneasy.
Have you seen movement vanish on its own, Rechungpa?
When I reflect on this, sublime Dharma comes to mind.

When looking at these friends assembled here,
They’re transient like crowds at a fair.
Once gathered, they’re sure to part, making your mind uneasy.
Have you set relations on a higher level, Rechungpa?
When I reflect on this, sublime Dharma comes to mind.

When looking at the wealth collected here,
Evanescent like honey of the bees,
Someone else enjoying your things make your mind uneasy.
Have you opened the treasure of mind itself, Rechungpa?
When I reflect on this, the sublime Dharma comes to mind.


มายาแห่งความไม่เที่ยงทั้งหก

มองออกไป ยังวัตถุที่ปรากฏอยู่ภายนอก
ภาพซึ่งพริบตาเดียวก็หายวับไป ราวกับภาพฝันในคืนก่อน
เมื่อใดที่เธอระลึกได้ ช่างทำให้ใจอึดอัดสับสน
เธอได้ตัดภาพลวงตาที่รากของมันแล้วหรือยัง เรชุงปะ
เมื่อฉันได้สะท้อนถึงสิ่งนี้ ธรรมะอันลึกซึ้งเอ่อล้นขึ้นในใจ

เมื่อใดที่มองเข้าไปในร่างกายที่ยาววาหนาคืบ
ปราศจากความยั่งยืนถาวร เหมือนนครแห่งคนธรรพ์
มีขึ้นมีลง ทำให้ใจอึดอัดสับสน
เธอได้ตัดผ่านความกลัวแห่งการเกิดและการตายแล้วหรือยัง เรชุงปะ
เมื่อฉันได้สะท้อนถึงสิ่งนี้ ธรรมะอันลึกซึ้งเอ่อล้นขึ้นในใจ

เมื่อใดที่มองเข้าไปในจิตรับรู้
ไร้หลักเหมือนนกบนยอดต้นไม้
ไม่เคยมีเวลาได้หยุดพัก ทำให้ใจอึดอัดสับสน
เธอได้สร้างพื้นที่อันปลอดภัยในจิตบ้างแล้วหรือยัง เรชุงปะ
เมื่อฉันได้สะท้อนถึงสิ่งนี้ ธรรมะอันลึกซึ้งเอ่อล้นขึ้นในใจ

เมื่อใดที่มองเข้าไปในลมหายใจที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใน
ผันแปรเปลี่ยนไป ราวกับไอหมอกในอากาศ
การเลือนหายไปของมัน ทำให้ใจอึดอัดสับสน
เธอได้เห็นการเคลื่อนไหวจางคลายไปด้วยตัวของมันเองแล้วหรือยัง เรชุงปะ
เมื่อฉันได้สะท้อนถึงสิ่งนี้ ธรรมะอันลึกซึ้งเอ่อล้นขึ้นในใจ

เมื่อใดที่มองไปยังหมู่เพื่อนที่รวมตัวกันอยู่ที่นี่
ประเดี๋ยวประด๋าว ราวกับฝูงชนในตลาดนัด
ครั้นมาเจอกัน ก็ต้องจากกันไป ทำให้ใจอึดอัดสับสน
เธอได้ตั้งความสัมพันธ์ไว้ในความหมายที่สูงพอแล้วหรือยัง เรชุงปะ
เมื่อฉันได้สะท้อนถึงสิ่งนี้ ธรรมะอันลึกซึ้งเอ่อล้นขึ้นในใจ

เมื่อใดที่มองไปที่ความมั่งคั่ง อันได้ถูกสะสมไว้ที่นี่
จางใสแทบมองไม่เห็นเหมือนน้ำผึ้ง
ใครจะมามีสุขกับสิ่งของของเธอ ทำให้ใจอึดอัดสับสน
ทว่าเธอได้เปิดขุมทรัพย์ล้ำค่าแห่งใจตนแล้วหรือยัง เรชุงปะ
เมื่อฉันได้สะท้อนถึงสิ่งนี้ ธรรมะอันลึกซึ้งเอ่อล้นขึ้นในใจ...

มิลาเรปะ
แปลโดย วิจักขณ์ พานิช

28.10.09

ชีวิตกับความรุนแรง

ชื่องานดูน่ากลัว แต่ไม่มีอะไรน่ากลัวนอกจากใจตัวเองในบางที
มารู้จักแขกของบ้านตีโลปะ อัญชลี คุรุธัช
อดีตประธานองค์กรพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพโลก
(Buddhist Peace Fellowship)
กับประสบการณ์การทำงาน เพื่อผู้ลี้ภัย ชนกลุ่มน้อย
และผู้ถูกกดขี่ข่มเหง มากว่า ๒๐ ปี

บ้านรับน้ำหนักได้จำกัด เพียง ๒๐ คนเท่านั้น
สำรองที่นั่งด้วยตนเองวันนี้ ขอทีอย่าเหน็บใครมา
บอกกันไว้ล่วงหน้า
ที่ refish@tilopahouse.com

รายละเอียดเพิ่มเติม>>

21.10.09

...

do you want to know what you really are?

let it unfold.

เสียงเพรียกจากผืนดิน







is it a good retreat?
is it a bad retreat?
is there gonna be a better retreat?
or better gurus out there?
how about a perfect path?
with powerful meditation techniques?
a great lineage of the awakened ones?
have you received great teachings?
great meditative experiece?
great wisdom?
or a great life?

all seems to appear simplier than that.
in an easy life,
an easy path,
an easy way,...the sacred way.

only you take deep roots into the earth,
the unconditional space of the earth.
...
and begin
to connect.

"ชีวิตง่ายๆ"/ "ภาวนากับผืนดิน"
กับ โจน จันใด และ วิจักขณ์ พานิช
๙ - ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๒
สวนพันพรรณ, แม่แตง
เชียงใหม่

3.10.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๒

เริ่มต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วย “น้อมใจรับใช้ผืนดิน” งานฝึกอบรมที่ผมทำคู่กับพี่เล็ก ปรีดา เต็มๆเป็นครั้งแรก กิจกรรมภาวนาควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจประเด็นทางสังคม ตระหนักถึงพลังชีวิตจากการทำงานด้านใน ฝึกจิตฝึกใจของเราแต่ละคน ที่ผลิล้นออกมาเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคมในแบบของเราเอง “ไม่ใช่ข้างนอก” ที่การทำงานเพื่อสังคมไม่ได้ทำไปเพื่อหวังผลใดๆในการเสริมสร้างตัวตน แม้แต่ความเป็นคนดีมีคุณค่า หรือ ผู้ทำประโยชน์แก่สังคม และ “ไม่ใช่ข้างใน” ที่การฝึกใจไม่ได้เป็นไปอย่างหมกมุ่น ดูจิต แก้กรรม ทำกุศล จนเลยเถิดกลายเป็นการสร้างอัตตาทางจิตวิญญาณที่ก้าวร้าวแยกขาดจากความอ่อนน้อมต่อโลก

กิจกรรมการออกไปจาริกดูใจในสถานการณ์จริง วางใจในความเป็นไปอันแสนโกลาหล และตระหนักถึงข้อจำกัดในตัวเราที่กั้นขวางจากการ “น้อมใจ” ต่อผู้คนได้อย่างธรรมดาสามัญ สถานะ การศึกษา ภาษา ท่าที บุคลิก คุณค่า ความเชื่อ ความกลัว ความคาดหวัง... สิ่งละอันพันละน้อยที่เราเกี่ยวเกาะขึ้นเป็นตัวเรา ยึดแน่นจนไม่สามารถปล่อยสู่ความเปลือยเปล่าในสถานการณ์การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนตรงหน้าได้อย่างแท้จริง

น้อมใจรับใช้ผืนดิน นำคำถามง่ายๆที่ว่าเราแต่ละคนเกิดมาทำไมในผืนดินนี้ และเราศิโรราบให้กับการเกิดมาเหยียบอยู่บนผืนดินนี้จริงๆแล้วหรือ กับเรื่องราวชีวิตของแต่ละคนที่ได้เสกสร้างสีสันอันหลากหลายตามแต่เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ ชีวิตที่มีสุขทุกข์ มีความงามและความมืดหม่นที่เปลี่ยนแปลงพลิกผลันได้ในพริบตาเดียว และนั่นคือชีวิตกับการภาวนา กับการน้อมนำทุกประสบการณ์เป็นส่วนหนึ่งของการสัมพันธ์ต่อกันในฐานะเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย และเข้าใจธรรมชาติแห่งการเวียนว่ายที่ไม่จบไม่สิ้น

ท่ามกลางความโหยหาทางจิตวิญญาณในสังคมไทยที่คุกรุ่นเสียเหลือเกิน ลัทธิ ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติทางจิตวิญญาณแปลกใหม่ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด เราจะวางใจกันอย่างไร เราจะมีใครหรือสิ่งใดเป็นที่พึ่ง อะไรถูก อะไรผิด อะไรแท้ อะไรเทียม ก่อนที่จะไปถึงคำถามเหล่านั้น พื้นฐานของการน้อมใจลงสัมผัสดิน จริงใจและสัตย์ซื่อต่อสิ่งที่ตนเองเป็น น่าจะเป็นพื้นฐานที่ผู้ฝึกทุกคนควรสดับรับฟัง เสียงภายในที่จริงแท้อันปราศจากการเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดภายนอกอันเป็นสมมติ นอกจากผืนดินอันเป็นเนื้อเป็นตัว และผืนฟ้าอันเปิดกว้างเสมอเพียงสองตีนเราสัมผัสพื้นขณะที่ก้าว จริงอยู่ที่ว่าศรัทธาคือกำลัง แต่พึงจำไว้เสมอว่า ศรัทธาในทุกประสบการณ์ชีวิตอันเป็นภาพสะท้อนของจิต คือ ศรัทธาสูงสุดที่ผู้ปฏิบัติพึงมี ส่วนเทคนิควิธีการมีไว้เพียงเพื่อให้เราอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเราได้ก็เท่านั้น

การแลกเปลี่ยนสื่อสารเรื่องราวทางจิตวิญญาณจากประสบการณ์ตรงก็ยังคงดำเนินกันต่อไป เป็นไปอย่างที่เป็นไป ทุกอย่างก็คงทำเท่าที่ทำได้ ไม่น้อยไม่มากเกินกว่าที่พื้นที่ของใจจะพอเปิดรับ

บ้านตีโลปะ ๑๐๘ /๑
๒ ตุลาคม ๕๒

______________________________


-ข่าวฝากจากมณฑลวัชรปัญญา และบ้านตีโลปะ-

๑. ๗-๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ "ง่ายงามในความธรรมดา" กับ วิจักขณ์ พานิช คอร์สภาวนาระยะสั้น ๒ วัน สำหรับคนทำงาน เรียนรู้พื้นฐานการภาวนาและปรับทัศนคติต่อการเดินทางด้านในให้อ่อนโยนกับตัวเองมากขึ้น สมัครได้ที่เสมสิกขาลัย 02-314 7385 ถึง 6 หรือ semsikkha_ram@yahoo.com รับเพียง ๓๐ ท่านเท่านั้น

๒. ๒๑-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ "ชีวิตกับความรุนแรง" กับ อัญชลี คุรุธัช (และ วิจักขณ์ พานิช) ณ บ้านตีโลปะ

มาเปิดใจร่วมกันเรียนรู้และใคร่ครวญถึงปัญหาการใชัความรุนแรงกับคนใกล้ตัว ฟังเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่ถูกทำร้าย เห็นถึงความเข้มแข็งของพวกเขาในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความปลอดภัย และเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ทำความเข้าใจกับลักษณะและรูปแบบของความรุนแรง รวมทั้งผลกระทบที่ความรุนแรงเหล่านี้มีต่อเด็ก ชุมชน และสังคม จากประสบการณ์การทำงานเพื่อผู้ลี้ภัย ผู้คนด้อยโอกาส และผู้ประสบเคราะห์กรรม ของวิทยากร คุณอัญชลี คุรุธัช อดีตประธาน Buddhist Peace Fellowship (BPF)


๓. อ่านบทสัมภาษณ์ "ชีวิตคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์: บนหนทางภาวนาของวิจักขณ์ พานิช" ในสานแสงอรุณ ฉบับเดือนก.ย.-ต.ค. ศกนี้

30.9.09

เผชิญอย่างเทพ

- ในนาทีที่มีปัญหารุมเร้า แต่เรายังต้องให้ความเฮฮากับทุกคนอยู่ ณ ตรงนั้นปรับเปลี่ยนความรู้สึกอย่างไร?

ไม่รู้ ให้ตายห่าเลย ไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย รู้ก็รู้ว่าปัญหารออยู่ข้างหลัง แต่เราก็เชื่อในคำพระท่านว่า "เมื่อสติมา ปัญญาเกิด" ใจเย็นๆไว้ ปัญหาจะเข้ามาชนก็ชนไป ปังๆ หลบหลีกบ้าง ล้มบ้างก็ได้ เดี๋ยวเราก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้ ทุกอย่างในโลกมันไม่จริง เป็นของปลอมๆหมด ปัญหา ชีวิต ทุกข์ ผิดพลาดไปก็แก้ไขไปเดี๋ยวก็จบ ยกตัวอย่างว่า มึงจะฟ้องกูล้มละลาย ก็ฟ้องไป เป็นแค่คำที่ให้มา เดี๋ยวก็แก้ไขได้ ไม่ต้องไปเดือดร้อนอะไรมาก เคลียร์กันสิ เราก็ไม่ได้หนีหายไปไหน

- พวกพ้อง พ่อแม่พี่น้อง เรามี แต่มนุษย์เราต้องแสวงหาด้วยชีวิตตัวเราเอง

- คนเราคิดมากไปรึเปล่า? พยายามคิดอะไรให้เป็นระบบ หาเรื่องยุ่งมาให้ตัวเองมากไปหรือเปล่า คุณจะรู้เหรอว่าวันข้างหน้ามันจะเป็นยังไง หรือทำไมต้องเอาเรื่องราวมากมายไปยัดเยียดให้เด็ก อยากถามหน่อยว่าเรารู้เท่ามันเหรอ อย่าเอาความโง่ไปให้เด็กเลย

- เราต้องรู้จักเผื่อใจนะ ว่าเดี๋ยวก็อาจจะเจ็บอีก เพราะไอ้ที่เราเรียนรู้มาแล้วมันแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้นเอง อนาคตข้างหน้าใครจะรู้ว่าจะเจออะไรอีก แต่เรื่องทุกอย่างมันลองได้ ถ้าตัวเราคิดว่าดี ก็ทำออกไปเลยร้อยเปอร์เซนต์ คนอื่นจะมองยังไงไม่รู้ ถ้าสิ่งผิดพลาดไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลย เราก็คงไม่ได้มาถึงตรงนี้ เงินทองเป็นของนอกกาย กำไรชีวิตสิเก็บไว้ได้!


จาก สัมภาษณ์สุเทพ โพธิ์งาม "ชีวิตที่อยู่อย่างเทพ"
Maxim ตุลาคม ๒๐๐๙

16.9.09

ฆ่ากันเพราะรัก

คนเราฆ่ากันเพราะความรักได้จริงๆ
รักกันมาก จนถึงจุดที่ว่า
ถ้าฉันไม่ได้หัวใจของเธอมา เธอก็ตายไปเสียดีกว่า
หารู้ไม่ว่า
หัวใจทำได้แค่สัมผัสและให้ความรักความปรารถนาดีต่อกันเท่านั้น
หาใช่เป็นที่กักขังความรัก
หรือหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพแห่งความสัมพันธ์ไม่

14.9.09

warrior's heart


i'll bring pain and joy into harmony within my broken tender heart.

picture given to me by Regan Halas
at the end of VTI 09

คำถาม

หากเราต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกับคนเหล่านี้
เป็นเมียฆาตกรฆ่าข่มขืน เป็นสามีหญิงมีชู้
เป็นลูกนักการเมืองโกงกิน
เป็นแม่ของลูกที่คิดจะฆ่าแม่ตัวเอง...

เราจะอยู่ร่วมกับเขาอย่างไร
เราจะสัมพันธ์กับเขาอย่างไร
ด้วยความรักในหัวใจที่ปรารถนาดีต่อเขา
กับจุดยืนและความต้องการของเราที่ต่างออกไป

เราจะอยู่กับสถานการณ์นี้อย่างไร
เราจะรักษาอิสรภาพของใจเราไว้ได้อย่างไร
เราจะรักคนที่เขาไม่รู้จักความหมายของความรักได้อย่างไร
เราจะให้อภัยคนที่เขาไม่รู้จักความหมายของคำว่าให้อภัยได้อย่างไร
เราจะเคารพคนที่เขาไม่เคยเคารพใครแม้แต่ตัวเองได้อย่างไร
เราจะให้อย่างไม่มีเงื่อนไขได้อย่างไร

ยากชิบหาย
แต่นั่นดูจะเป็นหนทางเดียว...

11.9.09

เปลี่ยนใครไม่ได้

เราคาดหวังให้ใครเปลี่ยนไม่ได้หรอก
คนเราในชีวิตหนึ่งๆ เปลี่ยนจริงๆน้อยมาก
ส่วนใหญ่ก็คงเดิมในสิ่งที่มีอยู่แล้ว
สิ่งที่อาจจะมีคุณค่าและความหมายที่สุกสว่างมากขึ้น
หากยอมรับถึงความมีอยู่ของมัน

ใครมีแนวโน้มความกะล่อน
จะไปดุด่า และบอกให้เขาปรับปรุงตัว คงยาก
ความกะล่อนก็คงจะอยู่ของมันต่อไป
และคงมีประโยชน์บ้าง หากเขารู้ตัวถึงแนวโน้มนั้นของเขา

คนที่มีแนวโน้มที่จะทำร้ายคนอื่นทั้งทางกายและวาจา
ก็เช่นกัน จะบอกให้เขาปรับปรุงตัว คงยาก
เราก็ทำได้แค่แสดงความรู้สึกและความต้องการของเรา
จากสิ่งที่เราสัมผัส
และหาระยะห่างที่เหมาะสมในความสัมพันธ์
เราคงทำได้เพียงเท่านั้น

เพราะทั้งหมดก็เป็นเรื่องของเขา
ที่คงต้องเรียนรู้ผลจากสิ่งที่เขาเป็น ด้วยประสบการณ์ของเขาเอง
อย่าได้คิดไปเปลี่ยนใครเลย

10.9.09

หมายเหตุ

คอร์สจิตวิญญาณแห่งผืนดินที่เชียงใหม่กับพี่โจ คนสมัครน้อย จนมีแนวโน้มว่าจะอาจต้องล้มเลิก ซึ่งเราเองก็แอบเสียดายอยู่ลึกๆ แต่หากในโค้งสุดท้าย ยังมีใครที่สนใจแล้วยังไม่ได้ส่งอีเมล์มาแจ้ง อาจจะมาไม่ครบทุกวัน หรือ ขัดสนประการใดเรื่องค่าสมัคร ก็ขอให้กระซิบมาได้ที่ shambhala04@gmail.com

จริงๆแล้วคอร์สนี้วิทยากรทั้งสองคนมีความตั้งใจมาก เราถึงขนาดเดินทางขึ้นไปคุยกับพี่โจที่สวนพันพรรณ พี่โจบอกว่า แกไม่ค่อยได้เปิดคอร์สอบรมให้กับคนไทยมากเท่าที่ควร จะมีก็แต่คนที่มาขอดูงานเป็นกลุ่มจากที่ต่างๆ แกอยากทำอะไรให้สังคมไทย และเยาวชนไทยมากขึ้น (มีคนมักครหาว่าแกคบแต่กับฝรั่ง)ส่วนในส่วนของเราก็อยากจะมีโอกาสได้จัดคอร์สภาวนาระยะยาวขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็ลองดูที่ ๙ วัน ซึ่งด้วยสถานที่ของสวนพันพรรณ ก็น่าจะเอื้อต่อการประสานภาวนาเข้ากับการใช้ชีวิตอย่างติดดินร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น สวนพี่โจยังใกล้กับป่า ที่น่าจะได้ลองพาเพื่อนๆเข้าไปสัมผัสกับการฝึกภาวนาในป่า เข้าฝึกเดี่ยวเผชิญความกลัวในนั้นกันซักคืนสองคืน

ยังไงก็ขอเชื้อเชิญนะครับ ไม่อยากให้คอร์สนี้ล่มจริงๆ แต่ก็เข้าใจดีถึงข้อจำกัดทั้งทางค่าสมัคร ระยะทาง และระยะเวลา ทว่าก็อยากให้ทุกคนที่สนใจได้บอกความต้องการของตัวเองมาก่อน หากอยากเข้าร่วมจริงๆเราค่อยมาหาทางออกร่วมกันครับ

8.9.09

ก้าวทีละก้าว

สวนกระแสก้าวๆๆ (090909) ด้วยการมาก้าวทีละก้าว (919)
กับ ชุมนุมโยคีและโยคินี ครั้งที่ ๖ ไม่ใช่ครั้งที่ ๙
วันเสาร์ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๒
ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา
๘.๓๐ ถึง ๑๗.๐๐ น.

เช้าจดเย็นกับการนั่งเฉยๆร่วมกับเพื่อนร่วมทางที่เคยเจอกันมาในหลากหลายโอกาส
ใครจะมาก็มา ขอให้รู้ว่า "แค่มาภาวนากัน"

สำรองที่ล่วงหน้าด้วยตนเอง
ส่งอีเมล์มาที่ shambhala04@gmail.com
ระบุที่หัวอีเมล์ว่า “ก้าวทีละก้าว”

ค่าผ่านประตู: ช่วยลงขันกันคนละนิดละหน่อยตามกำลังก็แล้วกัน
จำนวน: ไม่เกินสี่สิบเก้า

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมมา:
๑. สายรัดเข่า, เข็มขัด, หรือ ผ้าขาวม้า
๒. อาหาร/ ของว่าง/ ของแจก สำหรับแบ่งปันเพื่อนๆโยคีและโยคินี (ถ้ามี)
๓. เบาะรองก้นที่คุณนั่งถนัดถนี่ (ถ้ามี)
๔. (กับ) เนื้อกับตัว

สิ่งที่ไม่ควรเอามา: รถยนต์

เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา: เลขที่ ๖๖๖ ถ.เจริญนคร เป็นตรอกห้องแถว
อยู่ระหว่างซ.เจริญนคร ๒๑ กับ ๒๒ ฝั่งตรงข้ามมีปั๊มเชลล์ ข้างๆมีอู่ซ่อมรถ และธนาคารไทยพาณิชย์

แผนที่ตามลิงค์ข้างล่าง
http://www.semsikkha.org/semmain/images/map/roychanum.jpg


แล้วเจอกันครับ
วิจักขณ์

มอง



เราต่างก็ต้องการมองเห็นสิ่งต่างๆอย่างชัดเจน
ปราศจากผลกระทบให้บิดเบี้ยวจากอคติ
บิดพลิ้วจากความหวัง
บิดเบือนจากความกลัว
...
เราต่างก็ต้องการมองเห็นตัวเองและผู้อื่นตามที่เป็นจริง
ต่างก็อยากโบยบินเป็นอิสระ

แต่ขณะเดียวกัน
เราก็เพียงต้องการมองสิ่งที่อยากมอง
ปราศจากการศิโรราบให้กับสิ่งใด
...
เราบอกตัวเองว่า "ไม่พร้อม"
โลกที่เป็นจริง สว่างเกินไป
เจ็บเกินไปที่จะมอง
เจ็บเกินไปที่จะยอมปล่อยบางสิ่งบางอย่าง
ที่เราหวงแหนยิ่งกว่าชีวิต
...
แล้วเราก็ได้สูญเสียชีวิต
ได้สูญเสียศักยภาพของการมอง
ได้สูญเสียมิตรภาพกับสิ่งที่เป็นจริง
ทั้งๆที่เห็นแสงสว่าง
และความเป็นไปได้ในตัวเองอยู่รำไร

7.9.09

น้อมใจรับใช้ผืนดิน







"น้อมใจรับใช้ผืนดิน"
ภาวนากับการรับใช้สังคม
๒-๖ กันยายน ๒๕๕๒
กับ ปรีดาเรืองวิชาธร และ วิจักขณ์ พานิช
ณ อาศรมวงศ์สนิท นครนายก

1.9.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๕๒

บทนำ
งวลล กลลวง: ชีวิตและคำสอนของมหาสิทธานาโรปะ

โดย วิจักขณ์ พานิช

คำถามที่ดี คือคำถามที่รู้สึกดีที่ได้ถาม แต่หาได้มีคำตอบตายตัวให้เราได้พึงใจในทันทีไม่ ชีวิตทางจิตวิญญาณคือชีวิตที่อุดมไปด้วยคำถามเหล่านั้น ดังที่พระบรมศาสดาได้แสดงเป็นแบบอย่างของผู้แสวงหาความจริง ที่ไม่ตอแหล ไม่ดัดจริต และไม่ ”ปกติ”

น่าแปลกที่“แรงดลใจ” ของคน คนหนึ่งกลับเป็นอะไรที่อยู่ในรูปของคำถามเช่นเดียวกัน เพราะอะไรที่ใจถูกดลก็มักจะอยู่เหนือตรรกะเหตุผล จนนำใจเราไปสู่การเดินทางแสวงหา สัมผัสและดื่มด่ำไปในประสบการณ์การลองผิดลองถูกของคนเดินดินธรรมดาคนหนึ่ง ที่เราก็ไม่ยักรู้ว่าเป้าหมาย หรือคำตอบสุดท้ายของมันคืออะไร หากใครถามเราว่ามีแรงดลใจอะไรในชีวิต นั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะมันเป็นคำถามที่นำไปสู่คำถามอันรู้สึกดีที่ได้ถาม นั่นคือ “แรงดลใจ” ที่คงปราศจากคุณค่าและไร้ซึ่งเนื้อหาสาระ หากใจยังกล้าๆกลัวๆที่จะออกเดินทางสู่ทิศตะวันออกที่ทอดยาวรอเราอยู่เบื้องหน้า

เข็มทิศรู้ดีรู้ชั่ว รู้ถูกรู้ผิด กับหลักธรรมที่เราศึกษาร่ำเรียนกันมาเป็นอย่างดี จำเป็นต้องถูกซึมซับเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัว จนสลายขั้วกลายเป็นความนุ่มนวลอ่อนโยน ต่อทุกประสบการณ์ชีวิต และต่อทุกผู้คนที่ผ่านเข้ามาอย่างไม่ขัดขืน นั่นคือเข็มทิศอันจริงแท้ของผู้ปฏิบัติที่จะชี้ไปยังทิศแห่งปัจจุบันขณะเสมอ แต่กว่าการซึมซับเข้าสู่เนื้อสู่ตัวจะเกิดขึ้นได้อย่างจริงใจเป็นธรรมชาติ การถูกตบหน้าจนสลบครั้งแล้วครั้งเล่าจำเป็นต้องเกิดขึ้น กระบวนการทั้งหมดช่างเป็นเรื่องเจ็บแสบปนตลกขบขัน เป็นความน่าอับอายขายขี้หน้า ที่ยากจะรับได้ของเส้นทางการขัดเกลาตน ความขรุขระ เทอะทะ หยาบกระด้าง จะค่อยๆถูกเจียระไนให้เนียน ใส และคมชัดด้วยวงล้อวัฏสงสาร เจ็บ ปวด แตก สลาย กลายเป็นพลังแห่งความตื่นจากการเข้าไปสัมผัสทุกขสัจจ์อย่างตรงไปตรงมา เปิดลอกม่านบังตาทางตรรกะออกทีละชั้น จนเราสามารถเห็น สัมผัส และดื่มด่ำโลกด้วยใจที่เปล่า ปล่อย และเปลือยแท้จริง

“อย่าได้สับสนความพึงใจในนิโรธ โดยปราศการเอาชีวิตเข้าแลกบนอริยมรรค” เส้นทางการแสวงหา “ครู” ไม่ได้ถูกโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ได้มีไว้ให้หลับๆตื่นๆ งงๆและงมงายไปวันๆ ไม่ได้มีไว้ให้กับ “ผู้รู้” ผู้ไม่ยอมลงมาเนียนัว เกลือกกลั้วกับดินโคลนแห่งประสบการณ์ชีวิตเพราะกลัวเจ็บ

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยถ้อยคำประหลาด ไม่ต่างกับการพบเจอหญิงอัปลักษณ์ ๓๗ ประการ ที่พูดอะไรไม่รู้เรื่อง เราอาจจะรู้สึกรังเกียจ และไล่เตะหญิงอัปลักษณ์ (และหนังสือเล่มนี้) ไปอย่างไม่ใยดี แต่บางทีเงามืดของเธอที่ทอดทับโลกที่คาดเดาได้ของเรา อาจเข้ามาเสียดสีให้เรารู้สึกระคายเคือง เกิดเป็นคำถามกับตัวเอง ที่รู้สึกดีที่ได้ถาม จนอาจนำไปสู่การเดินทางออกตามหา “ตีโลปะ” ก็ได้ใครจะไปรู้

และผมก็แอบหวังเช่นนั้นอยู่ลึกๆ…


วิจักขณ์ พานิช
สิงหาคม ๒๕๕๒

________________________________

ข่าวฝากประชาสัมพันธ์มณฑลวัชรปัญญา

๑. จิตวิญญาณแห่งผืนดิน กับ โจน จันได ๙ ถึง ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ ณ สวนพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

นานๆทีจะมีคอร์สพรรณนี้ ภาวนา เข้าป่า ปลูกผัก นอนบ้านดิน กินออร์แกนิค สมัครไปอย่าได้ลังเล รีทรีทเดียวและรีทรีทสุดท้ายที่เหลืออยู่ของปีนี้ ก่อนวิจักขณ์จะหลบกบดานอยู่ที่บ้านตีโลปะ (เหล่านักรบ "ภาวนาคือชีวิต" พิจารณามารวมตัวกันที่นี่ด่วน) ติดต่อ shambhala04@gmail.com หรือ นภา 089-160-3588

๒. หนังสือยังไม่เสร็จ ใจเย็นๆ

31.8.09

A Golden Compass

Forget every idea of right and wrong
Any classroom ever taught you
Because an empty heart, a tormented mind, unkindness, jealousy and fear are always the testimony that you have been completely fooled.
Turn your back on those who would imprison your wondrous spirit
with deceit and lies
Come join the honest company of the king’s beggars, those gamblers, scoundrels and divine clowns and those astonishing fair courtesans who need divine love every night
Come join the courageous who have no choice but to bet their entire world that indeed God is real
Let me lead you into the circle of the beloved’s cunning thieves, those playful royal rouges, the ones you can trust for true guidance who can aid you in this blessed calamity of life.

Shams al-Din Hafiz

28.8.09

Absolutely Clear

Don't surrender your loneliness
So quickly.
Let it cut more deep.

Let it ferment and season you
As few human
Or even divine ingredients can.

Something missing in my heart tonight
Has made my eyes so soft,
My voice
So tender,

My need of God
Absolutely
Clear.

Shams al-Din Hafiz

(from my heart sister, Kanya)

25.8.09

หยั่งราก

รากแก้ว
เกิดขึ้นจากการที่ทุกคนมีความศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองเป็น
ทั้งในศักยภาพ และข้อจำกัด
จนนำไปสู่ความไว้วางใจในทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามา
ไม่ว่ามันจะดีหรือร้ายอย่างไรในสายตาผู้อื่น
รากแก้วหาได้เป็นความบูชาในพระศาสนา
หาใช่ความบ้าในอุดมคติ...

21.8.09

...



when your blood boils,
relax with the wind;
the wind always blows.
play with a blade of grass;
the truth will always be told.

Chogyam Trungpa

17.8.09

ห้องของทริสตัน






ทริสตัน คือ เพื่อนรักของผม เรารู้จักกันตอนทำงานห้องสมุด ทริสตันเป็นนักประดิษฐ์ ผมเรียนรู้อะไรมากมายจากเขา เขามีวิถีการดำเนินชีวิตและการทำงานศิลปะที่น่าสนใจ เขาไม่เคยรีบร้อน ออกจะเป็นคนช่างเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด

ผมรักทริสตันมาก รู้สึกมีความสุขที่ได้ใช้เวลาอยู่กับเขาหลังจากที่ออกมาจาก marpa house ห้องเล็กๆของทริสตัน ช่างอบอุ่น เหมือนได้กลับมาบ้าน เหมือนได้อยู่ในวอนเดอร์แลนด์ของอลิซ

3.8.09

who is he?



i don't know.
one thing i know is that...
...
this guy is very very strange.
...

31.7.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒

ในปี ๑๙๗๑ ซูซูกิ โรชิ เสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ศิษย์ชาวตะวันตกของซูซูกิในชุดฝึกเสื้อคลุมสีดำ ยืนไว้อาลัยอย่างสงบนิ่ง แม้บางคนจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ แต่พวกเขาก็รวบรวมสติเผชิญกับอนิจจลักษณะของชีวิตได้อย่างคู่ควรแก่กาลเทศะ ทว่าไม่ไกลจากจุดที่พวกเขายืนอยู่ ชายร่างเล็กในชุดสูทดำกำลังสะอึกสะอื้น ร้องไห้ครวญครางอย่างไม่อายใคร น้ำตาที่ปนด้วยกลิ่นแอลกอฮอล์ไหลอาบเสื้อเชิร์ตขาว สักพักชายผู้นี้เริ่มทรุดตัวลงไปกองกลิ้งอยู่กับพื้น ความเสียใจอย่างที่ไม่อาจพรรณาออกมาเป็นคำพูด และไม่อาจเก็บกลั้นไว้ภายใต้ความดูดีมีกาลเทศะ ศิษย์เซนชาวตะวันตกของซูซูกิต่างจ้องมองไปยังชายผู้นี้ และน้ำตาของพวกเขาก็เริ่มรินไหลอย่างที่ไม่อาจกลั้นไว้ได้อีกต่อไป

ชายผู้นั้น คือ วัชราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่นาม เชอเกียม ตรุงปะ กับความจริงใจและตรงไปตรงมาที่มักจะทำให้ผู้ที่พบเห็นถึงกับตะลึงงัน ตัวตนทางจิตวิญญาณของเรารู้สึกถูกถางถางอย่างรุนแรง ด้วยวิถีแห่งการนัวเนียและดื่มด่ำอยู่กับชีวิตโลกๆได้อย่างไม่กลัวเกรงของชายผู้นี้

ท่านตรุงปะ เคยบอกกับศิษย์ของเขาว่า หากเขาไม่ใช่ลามะ ไม่ใช่รินโปเช แล้วมีใครเดินไปพบเขาในผับบาร์ หรือบนท้องถนน เขามั่นใจว่าจะไม่มีใครให้ความสนใจแก่เขาเลย ท่านตรุงปะยืนยันว่าเขาเป็นเพียงแค่คนธรรมดาๆคนหนึ่ง ที่ไม่วิ่งหนีจากชีวิตเพียงเท่านั้น ความทุกข์ ความเจ็บปวด และความเศร้า เป็นเส้นด้ายที่ร้อยเรียงพลังแห่งความจริงแท้ของธรรมาจารย์ผู้นี้ บุคคลที่บ้านแตกสาแหรกขาด ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีครูบาอาจารย์ผู้เป็นที่รัก ความโดดเดี่ยว ร่างกายที่พิการ เพื่อนรักที่ทรยศหักหลัง ศิษย์ที่ไม่เคยเห็นคุณค่าของครู ทั้งหมดนี้คือความเป็นจริงในชีวิตของชายผู้นี้ กับหัวใจที่แตกสลาย อันส่องแสงเรืองรองเป็นวัชรธรรมะที่งดงาม จริงแท้ และแสนไพเราะ

การเดินทางบนเส้นทางสายนี้ หาใช่ทางเบี่ยงหรือทางออกจากความทุกข์ ขั้นแรกผู้ปฏิบัติรู้จักที่จะน้อมเข้าหา "ธรรมะ" แต่นั่นเป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น เส้นทางที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติคือ การกลับเข้าไปซึมซับธรรมะที่แท้จากชีวิต ธรรมะที่ว่า ชีวิตคือความทุกข์ เราไม่มีวันที่จะได้สิ่งที่เราต้องการ และหลบเลี่ยงจากสิ่งที่เราไม่ต้องการได้ ไม่มีความแน่นอนใด นอกเสียจากความตาย ชีวิตมีเพียงเท่านี้ กับแต่ละชั่วขณะที่มีความหมายอย่างเต็มเปี่ยมในตัวของมันเอง ขอเพียงแค่เรารู้ที่จะปล่อยวาง ทุกอย่างเกิดขึ้นเพียงแว้บเดียวก็เปลี่ยนแปลงและผ่านพ้นไป กับความเศร้าพื้นฐานที่สถิตอยู่ในใจตราบใดที่เรายังดำเนินชีวิตเป็นมนุษย์คนหนึ่งบนโลกใบนี้

เส้นทางสายนี้คือการฝึกที่จะดำเนินชีวิตไปอย่างสอดคล้องกับความเศร้าพื้นฐานแห่งผืนดินและผืนฟ้า เปิดใจยอมรับความเป็นไปของสัจธรรมอันดูเหมือนจะโหดร้ายเสียเหลือเกิน ทว่าเพียงแค่เราน้อมใจเข้าหาอย่างปราศจากความกลัวและความคาดหวัง เราก็จะสามารถสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่แห่งประสบการณ์ชีวิตในแต่ละขณะ เป็นความรักและความเมตตาอันแสนยิ่งใหญ่ ดั่งแสงเรืองรองของอาทิตย์อุทัยในยามเช้า ที่ฉายแสดงให้เราตื่น แต่ละรอย แต่ละริ้วแห่งการสั่นไหวของใจ ค่อยๆหล่อเลี้ยงให้หัวใจเรามีพลังและเติบใหญ่ขึ้น เพียงแค่เราเปิดรับ รู้สึก และสัมผัส กับทุกประสบการณ์ชีวิตอย่างจริงแท้ เผชิญหน้ากับตัวเอง ไม่ว่ามันจะเจ็บปวดแสนสาหัสเพียงไรก็ตาม

ความเบิกบานของผู้ปฏิบัติก่อกำเนิดจากหัวใจอันอ่อนโยนที่สัมผัสกับความไม่จีรังพื้นฐานแห่งการมีชีวิตอยู่ ความเบิกบานคลี่เผยจากการได้เป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นไปอันแท้จริงในแต่ละขณะอย่างเต็มเปี่ยม ปล่อยให้ทุกสิ่งโบยบินไป ปราศจากเป้าหมาย หรือการควบคุมให้เป็นไปอย่างที่ใจเราปรารถนา ...อิสรภาพอันเกิดมาจากความเข้าใจและยอมรับในธรรมชาติแห่งความทุกข์ ที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของการสัมผัสรับรู้อันเปราะบางยิ่ง นำไปสู่ความเบิกบานที่แท้แห่งการดำเนินชีวิตของผู้ปฏิบัติในแต่ละลมหายใจเข้าออกที่ยังมีอยู่


ด้วยรักแด่เยเช เนื่องในวันเกิดครบรอบ ๑ ปี

จากใจพ่อ
เครสโตน, โคโลราโด
๓๐ กรกฎาคม ๕๒

18.7.09

back to the origin





as painful as it is,
as powerful as it is,
this is our journey of life,
which will happen
only once
in the history
of this entire universe.

2.7.09

ต้นธาร

“The problem is not enjoyment; the problem is attachment.”

Tilopa

29.6.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนมิถุนายน ๒๕๕๒

แม้ผมจะไม่โปรดปรานกับสถานะของการเป็นนักท่องเที่ยว กับภาพบรรยากาศของธุรกิจการท่องเที่ยวที่แทรกซึมอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ผมก็ยังเห็นข้อดีของการเดินทางไปสัมผัสสถานที่ ภูมิอากาศ ภาษา และวัฒนธรรมของผู้คนต่างชาติต่างภาษา มีอะไรบางอย่างที่การเดินทางได้มอบให้เรา ให้เราได้อยู่กับความไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งการได้หยุดอยู่กับอะไรที่ไม่ได้ดังใจและไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด ยิ่งหากเรามีโอกาสได้เดินทางคนเดียวก็เป็นโอกาสที่เราจะได้อยู่กับตัวเอง ทนอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่างในตัวเองที่หลายครั้งเรามักมีคนใกล้ชิดเป็นที่รองรับ

การเดินทางไปลาดักและแคชเมียร์ในช่วงสามอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปสัมผัสท้องถิ่นที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมพุทธวัชรยาน วัดวาอารามบนยอดเขา ทะเลทรายกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา กับบรรยากาศและสีสันของภูมิประเทศอันดิบโหดอันเป็นพื้นหลังของสายปฏิบัติสายนี้ ความตรงไปตรงมาของสัจธรรมความจริงอันไม่ปรานีต่อหลักเกาะเกี่ยว ได้ก่อร่างพุทธวิถีที่ตรงไปตรงมา ไร้มายา ไร้จริต เข้มข้น และเข้มแข้ง อย่างที่ในแก่นสาระที่หากผู้ใดเข้าถึง ก็เรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่จะสามารถเข้าไปทำลายได้

แต่สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในวิถีปฏิบัติและวัฒนธรรมเก่าแก่ดั้งเดิมในประเทศพุทธในทวีปเอเชีย ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนสนธยาอย่างลาดัก ภูฐาน หรือ ทิเบต ในปัจจุบัน ในหลายแง่มุมได้กลายเป็นสิ่งที่กำลังค่อยๆตายลงไป คุุณค่าทางจิตวิญญาณในเอเชียกำลังค่อยๆกร่อนลงเหลือแต่เพียงเปลือกนอกที่สวยงามอันไร้จิตวิญญาณ การรุกล้ำของลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยม เทคโนโลยี สื่อสมัยใหม่ และการท่องเที่ยว ได้เข้าไปแนบขนาบรั้ววัดและชุมชนพื้นเมืองในทุกๆด้าน การตั้งรับอย่างไม่มีทิศทางจนกลายเป็นความเมินเฉยและสยบยอมต่อเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไป ภาพที่เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าของการพยายามปรับตัวของพุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่ ที่เป็นไปในลักษณะของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างฉาบฉวย การพยายามเข้าใจโดยขาดความลุ่มลึกและการเห็นแจ้งแทงตลอด รูปแบบตามประเพณีดั้งเดิมของพุทธศาสนาได้อ่อนกำลังลงอย่างเห็นได้ชัดในบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงของโลกสมัยใหม่ การพยายามถอยหนีที่ดูจะใช้ไม่ได้ผล และการโผเข้าไปหาก็ออกจะปราศจากทักษะที่กลั่นมาจากความเข้าใจ ความกล้า และรากอันหยั่งลึกของการฝึกปฏิบัติ

วิถีแห่งพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่? นั่นคือ วลีที่เป็นคำถามในใจผมเสมอมา เป็นทั้งคำถามและแรงดลใจ เป็นทั้งคุณค่าทางจิตวิญญาณและไฟแห่งความทุกข์ที่ผมเข้าไปประสบ แต่ทั้งหมดนั้นก็คือประสบการณ์บนเส้นทางการแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณของคนๆหนึ่ง ที่อยากจะเอาชีวิตของตัวเองเข้าไปทดลอง ล้ม ลุก คลุก คลาน "ตามที่เป็นจริง" จนหาท่าทีเดิมแท้แห่งการวางตัว วางใจ ท่ามกลางเหตุปัจจัยที่โกลาหลและพิลึกพิลั่นตามธรรมชาติของสังคมที่เปลี่ยนไปของเพื่อนมนุษย์ร่วมสมัย ไม่มีใครรู้ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ว่ามันจะออกหัวออกก้อย และไม่ว่าเพื่อนๆจะชอบมันหรือไม่ ผมว่าเราก็ดันมารู้จักกันเสียแล้ว และไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราก็อยู่ร่วมกันในคำถามแห่งยุคสมัยคำถามนี้ไม่มากก็น้อย

อีกสองเดือน "บ้านตีโลปะ" คงจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมสำหรับการเป็นห้องทดลองความจริงของเราทุกคน และผมยังคงหวังว่า ไม่ว่าใครจะทำอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไร เราจะยังคงเป็น "กัลยาณมิตร" ที่ดีงาม คอยพูดคุย สนทนา ตักเตือนกัน เรียนรู้ไปด้วยกันบนการเดินทางอันยาวไกลและแสนโดดเดี่ยวสายนี้

ด้วยรักและคิดถึง
วิจักขณ์

"You know, happiness is not the point... it's much more interesting than that." - Chogyam Trungpa Rinpoche.

[quote sent along by Amy Stahl]

25.6.09

นักรบแห่งตันตระ



ความงามของอาจารย์ประมวลปรากฏอยู่ในความอ่อนน้อมถ่อมตน และความเมตตาต่อทุกผู้คนที่อาจารย์พานพบ ความเรียบง่ายของการดำเนินชีวิต การตั้งจิตอธิษฐาน ใส่ความตั้งใจในเรื่องเล็กๆที่มีความหมายต่อการงอกงามทางใจ ความโปร่งใสไม่มีอะไรที่ต้องกลัวหรือหลบซ่อน นำมาซึ่งความสง่างามในการดำเนินชีวิตอย่างไม่อาจอธิบายได้

ดีใจที่ได้สัมผัสผู้ใหญ่ที่น่ารักอย่างอาจารย์ประมวล ผู้ใหญ่ที่น่าเคารพและน่ากราบไหว้ หนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถเข้าใจนัยของการเดินทางแห่งตันตระด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์หมดจด อย่างปราศจากความตื่นตาตื่นใจอย่างผิวเผิน

1.6.09

เติมความบ้าให้สวนโมกข์

สวนโมกข์ คือ อะไร
อะไรคือสวนโมกข์
สวนโมกข์ ของใคร
คนใน คนนอก
สวนโมกข์ไม่มีวันตาย?
อะไรที่ไม่มีวันตาย
พุทธทาสไม่มีวันตาย
อะไรคือ พุทธทาส

...ไอ้เด็กบ้าพวกนี้

ป.ล. ฟังไฟล์เสียงสัมภาษณ์กัญญา ลิขนสุทธิ์ และ วิจักขณ์ พานิช
ส่วนที่ ๑ และ ส่วนที่ ๒










ถ่าย by วอก

31.5.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒

"เป็น อยู่ คือ" ได้ฝากทั้งประสบการณ์ที่มีค่า ภาพความเป็นไปได้แห่งอนาคต และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของอดีต ช่วงเวลาตลอด ๗ วัน ผมกับพี่หลิ่งได้ทดลองความเป็นไปได้ในการบรรสานดินกับฟ้า โลกกับธรรม สัมพันธ์กับสัมบูรณ์ สังสารกับนิพพาน ในรููปแบบของการภาวนาที่หมิ่นเหม่และท้าทาย การกลับไปกลับมาระหว่าง absolute space ของการภาวนา และ relative space ของอารมณ์ ความรู้สึก และการเลื่อนไหลของอารมณ์และความรู้สึกนั้น ถือเป็นการเดินทางร่วมกันของเราทั้ง ๔๑ ชีวิตอย่างแท้จริง แต่ละวันที่วิทยากรต่างก็โดนหั่นเฉือนไม่แพ้ผู้เข้าร่วม เราได้เอาตัวตนของเราแต่ละคนมาวางไว้บนโต๊ะอย่างไม่เขินอาย ไม่มีการสร้างภาพของการตรัสรู้ของผู้ฝึกภาวนา มีก็แต่ความจริงใจต่อตนเองในการขัดเกลาจิตใจบนเส้นทางเพียงเท่านั้น

การร่วมสืบค้น เรียนรู้ ฝึกฝน และแสวงหา กับคนหนุ่มมากด้วยตัณหาราคะอย่างผม อาจเป็นสิ่งที่ดูไม่น่าไว้วางใจนัก เพราะหากผลของการปฏิบัติของผู้สอนยังไม่ได้แสดงถึงภาวะแห่งการดับทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้วไซร้ แล้วอะไรคือหลักประกันของเป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้เล่า ใช่แล้วครับ...ไม่มีหลักประกันใดๆทั้งสิ้น และนั่นอาจถือเป็นหัวใจสำคัญของลงมาว่ายวนในสังสารวัฏครั้งนี้ของเราๆ คือการถอดถอนหน้ากาก หลักประกัน และความหวังที่จะไปสู่สถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่มีพระเจ้า ไม่มีคุรุ ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีสัญญาใจจากใครทั้งนั้น ขอเพียงแค่อยู่กับสิ่งที่เป็น ลงมาจากหอคอยงาช้างบนสรวงสวรรค์ มานัวเนียพัวพันทำความเข้าใจกับไฟที่แผดเผาแห่งความเป็นไปที่แท้จริง ท่ามกลางเหตุปัจจัยที่มืดมนในโลกแห่งวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ ที่เต็มไปด้วยเล่ห์ กล ภาพสะท้อนที่ลวงหลอก และคำมั่นสัญญาจากภายนอกที่ไม่มีแก่นสาระ ในยุคแห่งการหนีทุกข์ ยุคแห่งสุขนิยม ยุคแห่งความกลัวที่จะอยู่บนผืนดิน และนั่นคือการเดินทางของผม...กับแรงบันดาลใจ ที่ไม่จำเป็นว่าใครๆจะต้องเห็นด้วย

ไม่ว่าการเดินทางและแรงบันดาลใจของเราแต่ละคนจะเป็นเช่นไร สัมภาระของเราแต่ละคนจะมีสะสมมาต่างกันแบบไหน ทว่าเราก็ยังสามารถปฏิบัติร่วมกันได้เสมอ ณ พื้นที่ของการภาวนา มณฑลที่น้อมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถจะเป็นได้ ขอเพียงแค่เรารู้ในสิ่งที่ตัวเองเป็น รู้ในคุณค่าและความปรารถนาเบื้องลึกของเรา รู้ในข้อจำกัดและสิ่งที่เรารับไม่ได้ รู้ถึงรายละเอียดของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเป็น รู้ถึงภาพสะท้อนจากสิ่งที่เราเป็นในทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญ "รู้ที่จะวางทุกอย่างในพื้นที่ของความรู้เนื้อรู้ตัว"...โดยไม่ต้องใส่ป้ายว่าอันนี้ "ควร" "ไม่ควร" "เหมาะ" "ไม่เหมาะ" "ดี" "ไม่ดี" ความหลากหลายของคำถาม การรู้แจ้ง ความสับสน ประสบการณ์ความเป็นคนของเพื่อนๆ ต่างก็เป็นสิ่งที่มีค่าเป็นอย่างยิ่ง มีค่ายิ่งกว่าคำสอนสูงส่งทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกหยิบยื่นให้

ขอให้เราได้เป็นกำลังใจให้แก่กัน คงมั่นบนเส้นทางการฝึกตนของตนกันต่อไป

ในสายธารธรรม
วิจักขณ์

28.5.09

ฟังตรุงปะเสวนา


ฟังเสวนาคลิ๊กที่นี่

"ตรุงปะ เสวนา"
กับ ส.ศิวรักษ์, กฤษฎาวรรณ หงศ์ลดารมภ์,และ วิจักขณ์ พานิช
๒๓ พฤษภาคม ๕๒
เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา

19.5.09

อยู่กับสิ่งที่เป็น





๔๑ ชีวิตกับเส้นทางการอยู่กับสิ่งที่เป็น...

"เป็น อยู่ คือ"
โดย กัญญา ลิขนสุทธิ์ และ วิจักขณ์ พานิช
๑๒-๑๘ พฤษภาคม ๕๒
ณ สวนโมกข์นานาชาติ

18.5.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๒

จดหมายข่าวฉบับนี้มาถึงในเวลาที่เดือนเมษายนผ่านพ้นไปนานแล้ว ไอร้อนของเดือนเมษายนเริ่มที่จะเจือจางไปด้วยพายุฝน ฤดูกาลยังคงหมุนวน ดั่งความรักของธรรมชาติที่ยังคงพร่ำแสดงสัจธรรมอันสูงสุดที่ปุถุชนไม่อยากมอง ท่ามกลางความร้อนรุ่มในใจเรา ที่มักตามด้วยการโหมซัดของสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด จะมีบ้างไหมที่เรายังตระหนักอยู่ว่า พื้นหลังของความผกพันนานา ยังมีผืนฟ้าที่กระจ่างชัดไม่ลางเลือน

แด่เพื่อน ผู้ร่วมนำสาส์นแห่งความสัจจ์

"ดอกไม้แห่งฟากฟ้า ฑาคะขี่หลังลูกม้า
ถือกำเนิดจากแม่ม้าที่เป็นหมัน
การถ่ายทอดผ่านคำสอนปากเปล่า
ได้ทำให้ขนเต่ากระเจิดกระเจิง สิ่งที่ไม่อาจพรรณนาได้
ด้วยการกระทุ้งแหย่จากเขากระต่าย สิ่งที่ไม่ถือกำเนิด
ปลุกเร้าตีโลปะในความลุ่มลึกแห่งสัจธรรมอันสูงสุด

จากตีโลปะผู้บื้อใบ้ สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้
สกัดกั้นความพยายามทั้งหมดในการสื่อสาร
นาโรปะผู้มืดบอด ได้เป็นอิสระในการมองเห็นความจริงโดยไร้การมอง
บนภูเขาแห่งกายธรรม ฉายแสดงสิ่งอันสูงสุด หนวกนาโรปะ
เป๋มาร์ปะ วิ่งเข้าสู่แสงอันเจิดจ้า
ซึ่งหาได้มีที่มาหรือที่ไป
ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และเกสัปปะ ดอร์เจ

การเริงรำของพวกเขาคือความเป็นหนึ่งเดียวแห่งความมากหลาย
แตรเปลือกหอย ประกาศก้อง เกียรติแห่งความว่างในทุกทิศทาง
มันได้ร้องเรียกผู้อุตสาหะ ภาชนะอันควรค่าแก่คำสอน
จุดรวมใจทั้งหลาย จักรสัมวาระ โลกแห่งนี้
คือวงล้อแห่งคำสอนปากเปล่า
หมุนมันสิ ลูกรัก ...โดยปราศจากการยึดถือ"


จาก "ILLUSION'S GAME" แปลโดย วิจักขณ์ พานิช