31.5.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒

"เป็น อยู่ คือ" ได้ฝากทั้งประสบการณ์ที่มีค่า ภาพความเป็นไปได้แห่งอนาคต และการตระหนักรู้ถึงคุณค่าของอดีต ช่วงเวลาตลอด ๗ วัน ผมกับพี่หลิ่งได้ทดลองความเป็นไปได้ในการบรรสานดินกับฟ้า โลกกับธรรม สัมพันธ์กับสัมบูรณ์ สังสารกับนิพพาน ในรููปแบบของการภาวนาที่หมิ่นเหม่และท้าทาย การกลับไปกลับมาระหว่าง absolute space ของการภาวนา และ relative space ของอารมณ์ ความรู้สึก และการเลื่อนไหลของอารมณ์และความรู้สึกนั้น ถือเป็นการเดินทางร่วมกันของเราทั้ง ๔๑ ชีวิตอย่างแท้จริง แต่ละวันที่วิทยากรต่างก็โดนหั่นเฉือนไม่แพ้ผู้เข้าร่วม เราได้เอาตัวตนของเราแต่ละคนมาวางไว้บนโต๊ะอย่างไม่เขินอาย ไม่มีการสร้างภาพของการตรัสรู้ของผู้ฝึกภาวนา มีก็แต่ความจริงใจต่อตนเองในการขัดเกลาจิตใจบนเส้นทางเพียงเท่านั้น

การร่วมสืบค้น เรียนรู้ ฝึกฝน และแสวงหา กับคนหนุ่มมากด้วยตัณหาราคะอย่างผม อาจเป็นสิ่งที่ดูไม่น่าไว้วางใจนัก เพราะหากผลของการปฏิบัติของผู้สอนยังไม่ได้แสดงถึงภาวะแห่งการดับทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้วไซร้ แล้วอะไรคือหลักประกันของเป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้เล่า ใช่แล้วครับ...ไม่มีหลักประกันใดๆทั้งสิ้น และนั่นอาจถือเป็นหัวใจสำคัญของลงมาว่ายวนในสังสารวัฏครั้งนี้ของเราๆ คือการถอดถอนหน้ากาก หลักประกัน และความหวังที่จะไปสู่สถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่มีพระเจ้า ไม่มีคุรุ ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีสัญญาใจจากใครทั้งนั้น ขอเพียงแค่อยู่กับสิ่งที่เป็น ลงมาจากหอคอยงาช้างบนสรวงสวรรค์ มานัวเนียพัวพันทำความเข้าใจกับไฟที่แผดเผาแห่งความเป็นไปที่แท้จริง ท่ามกลางเหตุปัจจัยที่มืดมนในโลกแห่งวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ ที่เต็มไปด้วยเล่ห์ กล ภาพสะท้อนที่ลวงหลอก และคำมั่นสัญญาจากภายนอกที่ไม่มีแก่นสาระ ในยุคแห่งการหนีทุกข์ ยุคแห่งสุขนิยม ยุคแห่งความกลัวที่จะอยู่บนผืนดิน และนั่นคือการเดินทางของผม...กับแรงบันดาลใจ ที่ไม่จำเป็นว่าใครๆจะต้องเห็นด้วย

ไม่ว่าการเดินทางและแรงบันดาลใจของเราแต่ละคนจะเป็นเช่นไร สัมภาระของเราแต่ละคนจะมีสะสมมาต่างกันแบบไหน ทว่าเราก็ยังสามารถปฏิบัติร่วมกันได้เสมอ ณ พื้นที่ของการภาวนา มณฑลที่น้อมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถจะเป็นได้ ขอเพียงแค่เรารู้ในสิ่งที่ตัวเองเป็น รู้ในคุณค่าและความปรารถนาเบื้องลึกของเรา รู้ในข้อจำกัดและสิ่งที่เรารับไม่ได้ รู้ถึงรายละเอียดของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราเป็น รู้ถึงภาพสะท้อนจากสิ่งที่เราเป็นในทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญ "รู้ที่จะวางทุกอย่างในพื้นที่ของความรู้เนื้อรู้ตัว"...โดยไม่ต้องใส่ป้ายว่าอันนี้ "ควร" "ไม่ควร" "เหมาะ" "ไม่เหมาะ" "ดี" "ไม่ดี" ความหลากหลายของคำถาม การรู้แจ้ง ความสับสน ประสบการณ์ความเป็นคนของเพื่อนๆ ต่างก็เป็นสิ่งที่มีค่าเป็นอย่างยิ่ง มีค่ายิ่งกว่าคำสอนสูงส่งทั้งหลายทั้งปวงที่ถูกหยิบยื่นให้

ขอให้เราได้เป็นกำลังใจให้แก่กัน คงมั่นบนเส้นทางการฝึกตนของตนกันต่อไป

ในสายธารธรรม
วิจักขณ์

28.5.09

ฟังตรุงปะเสวนา


ฟังเสวนาคลิ๊กที่นี่

"ตรุงปะ เสวนา"
กับ ส.ศิวรักษ์, กฤษฎาวรรณ หงศ์ลดารมภ์,และ วิจักขณ์ พานิช
๒๓ พฤษภาคม ๕๒
เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา

19.5.09

อยู่กับสิ่งที่เป็น





๔๑ ชีวิตกับเส้นทางการอยู่กับสิ่งที่เป็น...

"เป็น อยู่ คือ"
โดย กัญญา ลิขนสุทธิ์ และ วิจักขณ์ พานิช
๑๒-๑๘ พฤษภาคม ๕๒
ณ สวนโมกข์นานาชาติ

18.5.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๒

จดหมายข่าวฉบับนี้มาถึงในเวลาที่เดือนเมษายนผ่านพ้นไปนานแล้ว ไอร้อนของเดือนเมษายนเริ่มที่จะเจือจางไปด้วยพายุฝน ฤดูกาลยังคงหมุนวน ดั่งความรักของธรรมชาติที่ยังคงพร่ำแสดงสัจธรรมอันสูงสุดที่ปุถุชนไม่อยากมอง ท่ามกลางความร้อนรุ่มในใจเรา ที่มักตามด้วยการโหมซัดของสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด จะมีบ้างไหมที่เรายังตระหนักอยู่ว่า พื้นหลังของความผกพันนานา ยังมีผืนฟ้าที่กระจ่างชัดไม่ลางเลือน

แด่เพื่อน ผู้ร่วมนำสาส์นแห่งความสัจจ์

"ดอกไม้แห่งฟากฟ้า ฑาคะขี่หลังลูกม้า
ถือกำเนิดจากแม่ม้าที่เป็นหมัน
การถ่ายทอดผ่านคำสอนปากเปล่า
ได้ทำให้ขนเต่ากระเจิดกระเจิง สิ่งที่ไม่อาจพรรณนาได้
ด้วยการกระทุ้งแหย่จากเขากระต่าย สิ่งที่ไม่ถือกำเนิด
ปลุกเร้าตีโลปะในความลุ่มลึกแห่งสัจธรรมอันสูงสุด

จากตีโลปะผู้บื้อใบ้ สิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้
สกัดกั้นความพยายามทั้งหมดในการสื่อสาร
นาโรปะผู้มืดบอด ได้เป็นอิสระในการมองเห็นความจริงโดยไร้การมอง
บนภูเขาแห่งกายธรรม ฉายแสดงสิ่งอันสูงสุด หนวกนาโรปะ
เป๋มาร์ปะ วิ่งเข้าสู่แสงอันเจิดจ้า
ซึ่งหาได้มีที่มาหรือที่ไป
ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และเกสัปปะ ดอร์เจ

การเริงรำของพวกเขาคือความเป็นหนึ่งเดียวแห่งความมากหลาย
แตรเปลือกหอย ประกาศก้อง เกียรติแห่งความว่างในทุกทิศทาง
มันได้ร้องเรียกผู้อุตสาหะ ภาชนะอันควรค่าแก่คำสอน
จุดรวมใจทั้งหลาย จักรสัมวาระ โลกแห่งนี้
คือวงล้อแห่งคำสอนปากเปล่า
หมุนมันสิ ลูกรัก ...โดยปราศจากการยึดถือ"


จาก "ILLUSION'S GAME" แปลโดย วิจักขณ์ พานิช

6.5.09

๕๕๕






"ห้าเดือนห้า ชุมนุมโยคี ครั้งที่ ๕"
๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒
ณ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
กรุุงเทพฯ

5.5.09

"ตรุงปะ" เสวนา



"วิพากษ์วิสัยทัศน์ทางจิตวิญญาณ การศึกษา วัฒนธรรม สังคม และผู้หญิง ของเชอเกียม ตรุงปะ : คุรุบ้า”

วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2552
เวลา 13.00 - 16.30 น.
ณ เรือนร้อยฉนำ สวนเงินมีมา
เลขที่ 666 ถนนเจริญนคร (ระหว่างซอย 20-22)
เขตคลองสาน กรุงเทพฯ

วัชราจารย์เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช เกิดที่ธิเบตในปี 1940 ท่านถูกระบุตัวว่าเป็นตุลกูหรือร่างที่มาเกิดใหม่ของลามะองค์สำคัญขณะอายุได้สิบสามเดือน และได้รับการอภิเษกเป็นตรุงปะที่สิบเอ็ดโดยกรรมาปะที่สิบหก ผ่านการศึกษาอย่างเคร่งครัดกับคุรุเพื่อบรรลุถึงปรีชาญาณ แล้วเดินทางสู่ธรรมศาลา (อินเดีย) ในปี 1960 หลังจากจีนใช้กำลังทหารเข้ายึดครองธิเบต

ท่านเป็นบุคคลรุ่นแรกๆ ที่นำพุทธศาสนาสายธิเบตมาเผยแผ่ยังโลกตะวันตก โดยท่านพยายามจะนำเสนอพุทธศาสนาในแง่มุมที่มิได้แปลกแยกจากสังคมตะวันตก แต่เป็นหนทางที่มุ่งเข้าสู่หัวใจของปรีชาญาณในแต่ละวัฒนธรรม การสอนของท่านจึงเน้นวิถีทางธรรมในรูปแบบฆราวาสมากกว่ารูปแบบทางศาสนา การปฏิบัติภาวนาที่ท่านแนะนำแก่ลูกศิษย์จึงมีทั้งศิลปะการเขียนอักษร การจัดดอกไม้ การยิงธนูแบบญี่ปุ่น พิธีชา การร่ายรำ ภาพยนตร์ ปฏิบัติธรรม จัดตั้งชุมชน และสถาบันการศึกษาแนวใหม่ (มหาวิทยาลัยนาโรปะ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพุทธวิถีใหม่ที่กำลังเบ่งบานในโลกตะวันตก

ท่านได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น “คุรุบ้า” หรือเป็นคุรุแห่งปรีชาญาณบ้า ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาแต่โบราณ เป็นภาวะอันแสดงถึงปัญญาญาณที่อยู่เหนือสมมุติใดๆ ถึงขนาดว่าปุถุชนโดยทั่วไปอาจมองว่าเป็นพฤติกรรมของคนบ้า ทว่าปัญญาญาณเช่นนั้นไร้ขอบเขต ปราศจากเงื่อนไข และเผยแสดงตัวมันเองตามสภาวะ โดยไม่สนใจกับประเพณีหรือมารยาทสังคม มันตรงไปตรงมาและเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ปรีชาญาณบ้าซึ่งตรุงปะสำแดงออกมาเผยให้เห็นถึงความกรุณาอันเต็มเปี่ยม เป็นพุทธะอยู่ทุกขณะ

การศึกษาและวิพากษ์ชีวิต ผลงาน และญาณทัสนะของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเช เป็นการเปิดประตูสู่การศึกษาพระพุทธศาสนาสายธิเบตในหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตวิญญาณทางโลกย์ (การเข้าถึงแก่นธรรมของบุคคลทั่วไป) สายธรรมของญาณทั้งสาม มุทรา ตันตระ ชัมบาลา ฯลฯ ด้วยท่านเป็นวัชราจารย์ที่มีบทบาทในหลายด้านซึ่งนับว่าก้าวหน้าและสอดคล้องกับยุคสมัยยิ่ง ทั้งนี้เพื่อการศึกษาและน้อมนำพุทธธรรมสู่การปฏิบัติของคนในสังคมต่อไป


...........................................................................
13.00 - 14.00 น. ลงทะเบียนพร้อมชมนิทรรศการ “ยลความงามธิเบตและภูฐานผ่านภาพถ่าย”
14.00 – 16.00 น. เสวนา “วิพากษ์วิสัยทัศน์ทางจิตวิญญาณ การศึกษา วัฒนธรรม สังคม และผู้หญิง ของเชอเกียม ตรุงปะ : คุรุบ้า”
ร่วมเสวนาโดย
- อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
- วิจักขณ์ พานิช
ดำเนินรายการ โดย - จิตรกร บุษบา

16.00 – 16.30 น. เปิดวงให้ซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

1.5.09

จิตวิญญาณแห่งผืนดิน

๙ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒
กับ โจน จันได และ วิจักขณ์ พานิช
ณ ศูนย์การเรียนรู้พันพรรณ
อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่