28.1.11

พวกเป็นกลาง (Centrist)

ในสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง มีการจำแนกคนออกตามอุดมการณ์หลักๆ เช่น พวกฝ่ายซ้าย, พวกฝ่ายขวา ฯลฯ และแน่นอนว่าทุกครั้ง เราจะได้ยินคนที่อ้างว่าตน "เป็นกลาง"

คำว่า "เป็นกลาง"  เป็นคำที่มักใช้อ้างถึงอุดมการณ์ของชาวพุทธผู้ฝึกตนบนมัชฌิมาปฏิปทา (เถรวาท) รวมถึงมาธยมิกชน (มหายาน) ซึ่งก็น่าสนใจว่า อุดมการณ์ของพวกเป็นกลาง(Centrist) โดยนัยของมัชฌิมาปฏิปทา และมาธยมิกนั้น มีความหมายอย่างไรได้บ้าง


27.1.11

ที่ว่ากลาง นั้นกลางตรงไหน?

คำสอนเรื่องทางสายกลาง หรือ ใจที่เป็นกลาง ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาที่เราคุ้นเคย มักพูดถึงโลกทัศน์ที่แบ่งเป็นสอง สองข้าง สองขั้ว ยิ่งโดยเฉพาะข้อศีลและข้อธรรมที่ถูกกำหนดไว้ตายตัว ยิ่งทำให้ง่ายต่อการเข้าใจว่า ทางสายกลางคือเส้นทางแคบๆ ที่หากประมาท ขาดสติสัมปชัญญะย่อมหลุดออกจากทางนั้นไม่ซ้ายก็ขวาได้โดยง่าย และการช่วยเหลือผู้อื่น คือ การดึงให้ผู้คนเข้ามาเดินอยู่บนทางที่ถูกต้องสายนั้นให้มากที่สุด นั่นคือ ทางสายกลางโดยนัยของทางแคบ

ทว่าทางสายกลาง ตามแนวทางของมาธยมิก ให้อรรถาธิบายโดยนัยของทางกว้่าง

"หากมณฑลของใจ กว้างใหญ่ดั่งท้องฟ้า สุกสว่างดั่งแสงอาทิตย์แล้วไซร้
จุดศูนย์กลางของใจนั้น ตั้งอยู่ที่ใด?"

what is Madyamaka? อะไรคือมาธยมิก
it is the center of the sunlit sky จุดกลางของฟ้ากว้างสว่างจ้า


...ซึ่งหมายความว่า "เป็นกลางได้ในทุกที่"




26.1.11

หินก้าว

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาที่เราพูดถึงทางสายกลาง เรามักจะสนใจไปที่มิติด้านพิกัดของเส้นทางซะเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือเราสนใจว่าเราเดินตรงหรือไม่? เดินออกนอกเส้นทางหรือไม่? มีใครเดินนำหน้าหรือเดินตามหลังเรามาหรือเปล่า? ราวกับว่าเรากำลังระแวดระวังเพื่อตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา

แต่ที่เราไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง คือ มิติด้านการก้าวเดิน หรือการเคลื่อนไปบนทางสายกลาง ธรรมชาติของการเดินทางเป็นกลางอย่างไร? แต่ละก้าวที่เราเหยียบย่างนั้นเราต้องก้าวไปสัมผัสอะไร และข้ามไปสู่สิ่งใดต่อไป? เราจะเปิดใจสัมพันธ์กับแต่ละความคิด ความรู้สึก อารมณ์อย่างไร? นั่นคือ มิติด้านการก้าวเดินที่สำคัญเกินกว่าที่จะไม่พูดถึง

เส้นทางแห่งจิตวิญญาณจะมีธรรมชาติของความเป็นทางสายกลางได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละก้าวย่าง และการจะก้าวไปได้ เราจะต้องมีสิ่งที่เรียกกันว่า "หินก้าว" อันแสดงถึงสิ่งที่เราต้องสัมพันธ์ด้วยอย่างสุดจิตสุดใจตรงหน้า จากนั้นจึงข้ามผ่านมันไป "touch and go" ด้วยความสมดุลในทุกการก้าว และทุกการสัมพันธ์กับหินก้าว จะทำให้เราสามารถเดินทางไปสู่การเผชิญทุกเหตุการณ์ ทุกความคิด ทุกอารมณ์ และทุกผู้คน ที่ปรากฏในฐานะส่วนหนึ่งของประสบการณ์บนเส้นทาง อย่างที่ไม่ต้องหลบ เลี่ยง หนี หรือต่อสู้ขัดขืน

ความเป็นกลาง

ปัญหาของการพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม หรือ ความเป็นกลาง คือ บ่อยครั้งเราไม่ได้เปิดใจเข้าไปทำความรู้จักความเป็นไปของทั้งสองด้านจริงๆ เรากลัว ขยาด ปฏิเสธด้านใดด้านหนึ่ง เลือกอยู่ข้างฝั่ง "ธรรมะ" ฝั่งความดี ฝั่งความถูกต้อง แต่ไม่ว่าจะถูกอย่างไร จะดีอย่างไร นั่นคงเป็นได้แค่ความเป็นกลางโดยเอาคติหรืออคติของตนเองเป็นศูนย์กลางเท่านั้น ความเป็นกลางจึงต้องการการมีอยู่ของสองด้าน เช่นเดียวกับความเป็นธรรม ที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจสองฟากฝั่ง ทั้งนิพพานและสังสาร

"ทางสายกลาง" หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" เป็นคำสอนสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในพุทธศาสนาเถรวาทอยู่โดยตลอด เพราะเป็นหนึ่งในคำสอนที่ประกาศโดยพระพุทธองค์เองตั้งแต่เทศนาครั้งแรก ทว่าคำสอนเรื่องทางสายกลางนั้น ในทางปฏิบัติ กลับไม่ได้รับความสนใจศึกษาในหมู่สาวกเถรวาทอย่างลึกซึ้งมากเท่าไรนัก "ทางสายกลาง" มักถูกมองเป็นคำสอนง่ายๆ เผินๆ พื้นๆ จนถูกมองข้ามไปในท้ายที่สุด ด้วยการด่วนสรุปว่าเป็นคำสอนที่รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ตั้งแต่แรกได้ยิน

นอกจากนั้น ในข้อศีลและข้อธรรมเบื้องต้นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ฟังส่วนใหญ่ ทางสายกลางถูกขยายความไว้ไม่กว้างขวางชัดเจนนัก หรืออีกนัยหนึ่ง ก็อาจสรุปว่ามีความชัดเจนอย่างยิ่งจนสามารถยึดถือเป็นหลักเกณฑ์ วินัยปฏิบัติ และมาตรวัดถูกผิดได้ ทว่าสำหรับผู้ปฏิบัติที่ต้องการเข้าไปคลี่คลายเหตุแห่งทุกข์ในโลกแห่งจิตใจอันละเอียดนั้น จำเป็นต้องมีอรรถาธิบาย เพื่อให้เข้าใจการดำรงอยู่บน "ทางสายกลาง" ในบริบทที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโลกแห่งการรับรู้อารมณ์ อันเชื่อมโยงการทำความเข้าใจตนเอง กับผู้อื่นอย่างแท้จริง

การทำความเข้าใจผู้อื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงการคิดเผื่อคนอื่น หรือตัดสินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนอื่น เพราะความหวังดีเช่นนั้นเป็นเพียงการแสดงออกของตัวตนที่พยายามยัดเยียดให้คนอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทางสาย(เอาตัวเราเป็นศูนย์)กลางเท่านั้น แนวโน้มนี้เป็นผลจากการยึดมั่นในข้อศีลและข้อธรรมที่ตนเข้าใจจนไม่ปล่อยใจให้ "วาง" จน "เปิด" ต่อผู้อื่นได้จริงๆ

แม้ที่มาของข้อศีลข้อธรรมเหล่านั้น จะถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็น"กรอบแนวทาง"สำหรับการวางจิตวางใจบนทางสายกลาง เพราะโดยปกติแล้ว สังคมมนุษย์ที่ถูกกำหนดด้วยวัฒนธรรมอันตรงไปตรงมา เรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ย่อมสามารถหารูปแบบการดำเนินขีวิตในวัฒนธรรมที่สอดคล้องไปกับนัยของทางสายกลางนั้นอย่างเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งทำให้ทางสายกลางกลายเป็นคำสอนที่ชัดเจน ทำได้จริง เห็นผลจริง และง่ายต่อการเชื้อเชิญให้คนทั่วไปน้อมนำไปปฏิบัติ ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กรอบความตายตัวเช่นนั้นก็ไม่สามารถตอบสนองปัจเจกบุคคลผู้ต้องการเข้าใจธรรมชาติของสังสารและนิพพานอย่างลึกซึ้งและเป็นอิสระในทุกๆ สถานการณ์ยิ่งกว่านั้นได้ นี่คือความท้าทายอันเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีมหายาน และการต่อยอดคำสอนทางสายกลางของ "มาธยมิก"

มาธยมิก: การข้ามพ้นตรรกะ ด้วยการใช้ตรรกะเป็นหินก้าว

มาธยมิก คือ อะไร?

แน่นอนว่ามาธยมิกชนขนานแท้ จะต้องตอบคำถามที่ว่า "มาธยมิก คือ อะไร?" ด้วยประโยคปฏิเสธ; มาธยมิกไม่ใช่ปรัชญา ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่หลักธรรม ไม่ใช่ความเชื่อ ไม่ใช่สำนักทางปรัชญา ไม่ใช่ทฤษฎีทางภาษาและทฤษฎีวิเคราะห์ ไมใช่จิตบำบัด ไม่ใช่สัสสตทิฏฐิ (ตายแล้วเกิด) ไม่ใช่อุจเฉททิฏฐิ (ตายแล้วสูญ) ไม่ใช่อัตถิภาวะนิยม และก็ไม่ใช่เกมประลองไหวพริบสำหรับคนบางกลุ่มในอินเดียและธิเบตที่ว่างจัด สรรหามาเล่นกัน หรือใช้ปั่นหัวคนอื่น

แล้ว มาธยมิก คือ อะไร?

เวลาคำว่า "มาธยมิก" ถูกอ้างถึง อย่างแรกคือ เราต้องดูให้ดีว่าบริบทการนำมาใช้นั้นบ่งชี้ไปที่สิ่งใด เรากำลังพูดถึงทฤษฎี รูปแบบการปฏิบัติภาวนา เส้นทางแห่งจิตวิญญาณ ผลลัพธ์ หรือธรรมชาติสูงสุดแห่งสรรพสิ่ง (ที่รวมถึงจิตของเรา) ทว่าโดยส่วนมากแล้ว ความหมายของมาธยมิกที่ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ก็คือ ความหมายสุดท้าย อันแสดงถึงธรรมชาติสูงสุดอันเป็นพื้นฐานให้กับมาธยมิกไตรสิกขา ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เกิดขึ้นได้ โดยที่เป้าหมายของมาธยมิกไตรสิกขาไม่ได้อยู่ที่การได้มาซึ่งอะไรทั้งสิ้น นอกไปเสียจากการเข้าถึงธรรมชาตินั้นอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ของมาธยมิกจึงเป็นประสบการณ์ตรงและมิอาจผันแปรได้ของปรมัตถธรรมภายในจิตใจเราเอง

แล้วเราจะพูดถึงมาธยมิกอย่างไร?

ปรมัตถธรรม เป็นภาวะที่ข้ามพ้นจิตปรุงแต่ง ข้ามพ้นถ้อยคำ ข้ามพ้นการผันแปร และการเกิดตาย ดังนั้นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครสามารถ "อธิบาย" "บรรยาย" "พูดถึง" หรือ "สอน" มาธยมิกกันได้จริงๆ โดยทั่วไปมีอยู่สองแนวทางที่ถูกอธิบายไว้ โดย พาโว รินโปเช

"บ้างก็ไม่ให้คำตอบในฐานะความจริงสูงสุด กรณีพวกที่พยายามเข้าใจความหมายโดยเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็ทำได้แค่หัวเราะ ใครจะคาดคั้นเอาความจริงสูงสุดให้ได้ คงทำได้เพียงไม่มีคำตอบให้"

25.1.11

แก้กรรมในความมืด



แก้กรรมในความมืด
สนทนากับเขมานันทะ ตอนที่ ๔


วิจักขณ์: อาจารย์เคยได้ยินกระแสเรื่องการแก้กรรมบ้างไหมครับ คนที่มีความทุกข์ตามหาเกจิอาจารย์เพื่อให้ช่วยดูกรรม และแนะวิธีที่จะช่วยแก้กรรมของตัวเองให้หมดไป อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรครับ

เขมานันทะ: (นิ่งนาน) กรรม... กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กรรม ๓ เมื่อเราพูดถึงการกระทำกรรม คนทั่วไปรู้จักกรรมดำ กรรมขาว หรือกรรมทั้งขาวทั้งดำปนกัน และกรรมไม่ดำไม่ขาว เรามักได้ฟังว่า คนนี้เป็นกรรมของเค้าที่เค้าเกิดมายากจน เราไม่เคยมองให้หลุดพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้เลย คำว่ากรรมดูเป็นเรื่องหนักและปิดกั้นการมองเห็น ซึ่งจริงๆแล้ว ถ้าเรากล้ามอง ก็ไม่ยากเย็นที่จะเห็นได้ว่า เพราะวันๆเอาแต่เกียจคร้านไม่ทำอะไร เขาจึงยากจน เขาสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เขาจึงหมดเงินและยากจน ไม่ใช่เพราะฟ้าดินลงโทษ เพราะเขาทำนา เขาจึงเป็นชาวนา ไม่ใช่เทวดามาแต่งตั้งให้เป็น กรรมของพุทธเป็นเรื่องธรรมดามากๆ แต่ดูเหมือนเราไปคว้าเอากรรมในลัทธิอื่น มาสวมต่อเข้ากับพุทธศาสนา

วิจักขณ์: ตอนที่ผมเริ่มฝึกภาวนา มีการอธิบายในลักษณะหนึ่งที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ เราไม่เคยนั่งสมาธินานๆ พอนั่งไปมันก็ปวดขามากใช่มั้ยครับ แล้วผมก็อยากจะขยับ เปลี่ยนขา แต่คนที่เป็นวิทยากรก็เดินมา แล้วบอกว่าให้นั่งต่อไปไม่ต้องเปลี่ยน นั่นเป็นกรรม ชาติที่แล้วเนี่ยเคยไปตีไก่ ชนไก่มาล่ะมั้งเนี่ย แล้วก็เหมือนพยายามจะถามต่อว่านั่งไปแล้วเห็นอะไรมั่ง

เขมานันทะ: อ่อ (หัวเราะ) ไปหักขาจิ้งหรีดเข้า

วิจักขณ์: (หัวเราะ) สมัยนี้ก็ยังมีนะครับอธิบายแบบนี้ พออินๆ เข้าก็เห็นเป็นภาพนั้นจริงๆ วิทยากรก็บอกให้แผ่เมตตา ขออโหสิกรรมแก่เจ้ากรรมนายเวร ซึ่งพอทำๆ ไปก็ได้ผลทำให้ใจเราอ่อนโยน มีเมตตามากขึ้นจริงนะครับ แต่บอกตามตรงว่า ผมไม่ค่อยชอบเลย

เขมานันทะ: โดยทั่วไปก็อธิบายกันแบบนั้นแหละครับ ซึ่งมีประโยชน์บ้างเล็กน้อยในทางจริยธรรม ทำให้ระมัดระวังสำรวมชีวิตอื่น ไม่ว่าจะเป็นหนอน นก ทำให้เรามีเมตตาต่อสรรพสัตว์ ซึ่งมันก็ดูโง่ๆ ทื่อๆ อย่างนั้น การอธิบายแบบนี้น่าจะเหมาะกับคนประเภทที่เอาดีทางปัญญาไม่ได้ หันไปสู่ความเชื่อดีกว่า ง่ายดี และมันค่อนข้าง dramatize ผู้คน ดูแล้วใครรู้เรื่องกรรมนี่จะกลายเป็นผู้วิเศษไปเลย แต่จริงๆแล้วเรื่องกรรมนี่อธิบายได้ไม่ยากเย็นอะไร กรรมดำเป็นการกระทำที่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น กรรมขาวเป็นการกระทำที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชีวิตงอกงาม กรรมไม่ดำไม่ขาวคือกลางๆ อย่างอริยมรรคนี่ถือเป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว อย่างที่ผมยกตัวอย่างว่า คนที่เชื่อว่าชาวนาเกิดมายากจน ชาติก่อนเคยทำบาปทำชั่วมา อย่างนี้เป็นการอธิบายที่เลยเถิดไปครับ ดูจะลึกลับชอบกล ที่จริงๆการที่เค้าเกิดมายากจน อาจเป็นเพราะความเกียจคร้านของเขาเอง อาจเป็นเพราะพ่อแม่ทิ้งหนี้สินไว้ ไม่ได้ศึกษาเข้าใจทุกข์ที่ผจญอยู่มากพอ หรือว่าสาวลึกลงไป อาจเป็นเพราะจิตใจของเขาไม่ตั้งมั่นในตัวเองก็เป็นได้

วิจักขณ์: หรือในบางครั้งชาวนายากจน ทั้งๆที่ขยัน ทำงานหนัก ใจบุญสุนทาน ประหยัดมัธยัสถ์ก็มีนะครับ ดูเหมือนสังคมทุกวันนี้มีความซับซ้อนขึ้นไปอีก สาวเหตุไปอาจเป็นเพราะนายทุนกดขี่ ถูกเอาเปรียบโดยนโยบายของภาครัฐ ระบบการจัดสรรที่ทำกินไม่ยุติธรรม ราคาพืชผลทางการเกษตรกำหนดไว้ต่ำเกินจริง อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เขมานันทะ: นั่นควรจะถูกดึงมาอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อเราสามารถดึงความรู้เหล่านี้มาอธิบายจนเกิดความเข้าใจได้ เราก็จะแก้กรรมได้ครับ ส่วนอำนาจลึกลับนั้นเราแก้ไม่ได้ ได้แต่อ้อนวอน ...ทางมันแคบนิดเดียวครับ เรื่องความเชื่อเป็นเรื่องที่งมงายในตัวมันเอง ต่อให้เรื่องนั้นจะจริง แต่ก็ยังไม่เข้าใจเหตุเข้าใจผล

วิจักขณ์: มีเหตุการณ์นึงครับที่ผมได้ดูในคลิปวิดีโอ เหตุเกิด ณ สำนักแห่งหนึ่ง มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งมาแก้กรรม เป็นหญิงสาวหน้าตาดี คงมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์อะไรทำนองนี้ ก็มาขอให้แม่ชีดูกรรมและแก้กรรมให้ แม่ชีก็บอกว่า “ชาติที่แล้วเนี่ย โยมเคยเปิดประตูเมืองให้พม่าเข้ามา ชาตินี้ก็เลยมีแต่ผู้ชายเข้ามาทำร้าย”

เขมานันทะ: พูดอย่างนี้ นางอองซานซูจี เสียใจแย่…

วิจักขณ์: (หัวเราะ)

...แล้วแม่ชีก็แนะให้เธอแก้กรรมโดยไปอยู่ในห้องที่ไม่มีประตู หรือไม่ก็หาผ้ามาปิดประตูเอาไว้ แล้วเอาหอยมาเรียงไว้หน้าประตูเพื่อจะได้รับกรรมไปแทน อาจารย์มองการอธิบายหรือชี้แนะในลักษณะนี้ยังไงครับ เพราะดูเหมือนการช่วยแก้กรรมของแม่ชีก็ช่วยทำให้คนที่เข้ามาหาสบายใจขึ้นได้จริงๆ

เขมานันทะ: เป็นความสบายใจบนพื้นฐานของความเชื่อครับ เช่น เชื่อว่าเราโชคดี เราเกิดวันจันทร์ หรือเกิดวันสำคัญ เป็นเรื่องของความเชื่อครับ

วิจักขณ์: คือ เชื่อใหม่ให้สบายใจขึ้น ปรับความเชื่อ เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน อย่างนั้นเหรอครับ

เขมานันทะ: แต่มันสบายใจแบบโง่ๆยังไงไม่รู้นะครับ เชื่อให้สบายใจขึ้น เพราะโดยแท้จริงเราทำความเข้าใจได้อยู่ครับ เราไม่จำเป็นต้องใช้ความเชื่อเต็มร้อยเปอร์เซนต์ เราอาจจะเชื่อว่า “อาจจะมีจริงก็ได้” นี่เป็นความเชื่อเบื้องต้นนะครับ ซึ่งเป็นการเปิดประตูให้ผู้ฟังหายใจโล่งอกก่อน เพราะผู้ฟังมีหลายประเภทนะครับ ประเภทชอบเชื่อไม่ชอบเหตุผลมี ประเภทเกลียดความเชื่อ เพราะมีสติปัญญาเป็นของตัวเองก็มี

วิจักขณ์: เหมือนกับว่าการอธิบายด้วยความเชื่อพยายามทำให้เกิดความลึกลับ

เขมานันทะ: ...เพื่อประโยชน์ผลของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลครับ

วิจักขณ์: ทำไมอาจารย์ถึงมองว่าความลึกลับถึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลล่ะครับ

เขมานันทะ: มันเป็นความดำมืดครับ

วิจักขณ์: หมายความว่า การอธิบายให้เกิดความลึกลับไม่ได้ช่วยคนฟังจริงๆ แทนที่จะได้ความกระจ่าง กลับเลิกถาม เลิกสงสัยเพราะได้ความเชื่อหรือความลึกลับบางอย่างกลับไป

เขมานันทะ: ถูกครับ ทำให้ผู้ฟังมืดยิ่งขึ้น

วิจักขณ์: เป็นความสบายใจในความมืด ว่าอย่างนั้นได้มั๊ยครับ

เขมานันทะ: จริงๆผมว่าไม่สบายใจขึ้นนะ เรียกได้ว่าครึกครื้นขึ้น เหมือนคนเมาเหล้ามากกว่า ลัทธิความเชื่อที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ ครองใจสาวก มักอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ อ้างเทพ อ้างเทวดา หรือในที่นี้กรรมได้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป ทั้งๆที่จริงๆแล้วกรรมเป็นเรื่องธรรมดา เข้าใจได้ ถ้ากล้ามองและทำความเข้าใจ


ธันวาคม ๕๓
ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ

[คลิปที่กล่าวถึงในการสนทนา ดูได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=3yRxhTM_i4s&playnext=1&list=PLBB55B09B6BAAFA9A&index=52 ]

ปัญญากับญาณของอาจารย์พุทธทาสกับหลวงพ่อเทียน



ปัญญากับญาณของอาจารย์พุทธทาสกับหลวงพ่อเทียน
สนทนากับเขมานันทะ (ตอนที่ ๓)


วิจักขณ์: ระหว่างหลวงพ่อเทียนกับอ.พุทธทาส อาจารย์สนิทกับใครมากกว่ากันครับ

เขมานันทะ: แน่นอนครับว่า หลวงพ่อเทียนนั้นผมเข้าหาได้ทุกโอกาส ทั้งหลับทั้งตื่น แต่สำหรับท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น จะต้องมีเหตุผลมากพอจริงๆ จึงจะเข้าหาได้

วิจักขณ์: ที่บอกว่าเข้าหาได้ทั้งหลับทั้งตื่น หมายความว่ายังไงครับ

เขมานันทะ: หมายความว่าถ้าต้องการปลุกท่านก็ได้

วิจักขณ์: ขนาดนั้นเลยเหรอครับ

เขมานันทะ: ครับ หลวงพ่อเทียนพร้อมเสมอที่จะฟัง ตอบโต้ มี action ด้วย ส่วนท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น เป็นไปในลักษณะการสอนมากกว่า หลวงพ่อเทียนเนี่ย...มีปฏิกิริยาครับ ตอบโต้ด้วย แต่ไม่ได้สั่งสอน

วิจักขณ์: ตอบโต้ยังไงครับ

เขมานันทะ: เช่น... เหตุเกิดที่สิงคโปร์ ผมนั่งอยู่กับพื้น หลวงพ่อเทียนนั่งอยู่บนเก้าอี้ ผมก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อครั้งมีสำนักเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ นำเรื่องราวที่ตนเองประสบมาเล่า โดยไม่ได้พิจารณาว่าท่านเต็มใจจะฟังหรือเปล่า ผมเล่าไป เล่าไป จนรู้สึกเหมือนไม่มีคนฟังเลย พอผมเงยหน้า ดูหน้าท่าน สีหน้าท่านเปลี่ยนเป็นดุร้ายเลยครับ ซึ่งทำให้กระแสความคิดแช่มชื่นที่ผมมี สะดุดไปเลยครับ (หัวเราะ)

คราวหนึ่งผมนวดท่าน เป็นกิริยาที่คนไทยเราคุ้นเคยกันดี นวดครูบาอาจารย์นั้นถือเป็นความจงรักภักดีส่วนตัว ไม่สนิทใกล้ชิดกันจริงไม่ยอมให้นวด ผมเห็นท่านหลับครับ หลับตา ตอนนวดไปนั้น ผมกระหยิ่มยิ้มย่องมาก ได้ทำความสนิมสนมกับครูบาอาจารย์ ได้อันดับหนึ่งถึงขนาดท่านไว้ใจ คิดว่าท่านหลับครับ พอมาถึงจุดหนึ่งผมเริ่มเบื่อ จิตมันเลยปกติขึ้นมา ไม่กระหยิ่มยิ้มย่องเหมือนตอนแรก ท่านก็ลืมตาขึ้นมา แล้วบอกว่า “เนี่ย ทำอย่างนี้ ทำในใจอย่างนี้” ผมเห็นแวบหนึ่ง เห็นความปกติแวบหนึ่ง แล้วความคิดก็เข้ามาชิงพื้นที่ ด้วยวิธีเรียนแบบนี้ล่ะครับ เรียกว่า ถึงลูกถึงคน เปรียบเหมือนนักฟุตบอลฝีเท้าว่องไว พอลูกบอลผ่านหน้าก็ชู้ทเลย

วิจักขณ์: เหมือนท่านร่วมเล่นไปกับเรา

เขมานันทะ: ครับ การสอนของหลวงพ่อเทียนนั้นเป็นไปอย่างฉับพลัน ไม่มีแผนการ เหตุการณ์จริงทั้งนั้นเลย ผมรู้สึกว่า ผมเรียนวิธีนี้ได้สะดวก ส่วนท่านอาจารย์สวนโมกข์นั้น จะไปคุยกับท่าน ต้องเก็บข้อรู้ต่างๆนั้นไว้อย่างหนักอึ้ง หลายเรื่องทำความยุ่งยากให้แก่ความคิดเก่าๆ อย่างกรณีหลวงพ่อเทียนนั้น ไม่รบกวนความคิดเก่าเลยครับ เพราะโดยนิสัยส่วนตัวท่าน มักจะขึ้นต้นคำสอนว่า “ไม่ว่าคุณจะนุ่งกางเกงขาสั้น หรือกางเกงขายาว คุณจะเป็นคนจีน คนไทย คนแขก คนฝรั่ง ธรรมชาติแท้ของมนุษย์นั้นเหมือนกัน เป็นการเปิดมิติที่กว้างไกลมาก เปิดโอบรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปได้ในคนทุกคน

ผมอยู่ใกล้ท่านอาจารย์ผมบอกตรงๆผมไม่ค่อยมีความสุข คือรู้สึกแบกภาระในความรู้ ทว่าอยู่กับหลวงพ่อเทียน รู้สึกไม่รู้อะไรขึ้นทุกวันๆ แต่กลับเบาดีครับ เบาสบายดี ธรรมชาติของความรู้เป็นอย่างนั้นเองครับ รู้แล้วยึดถือไว้มันก็หนัก แต่การจะพูดว่า ไม่รู้อะไรเลย ที่จริงเป็นสมมติฐานเท่านั้น ไม่มีใครหรอกครับที่ไม่รู้อะไรเลย

วิธีการของหลวงพ่อเทียนนำมาซึ่งความ ‘เลี่ยวลื่นลม’ ในการใช้ชีวิตทางธรรม ไม่หนักใจอีกต่อไป มันเหมือนทำใจได้ครับ แต่ก่อนผมเรียนอานาปาณสตินี่ เต็มไปด้วยความกลัดกลุ้มครับ เพราะมันเป็น pattern ที่วางไว้ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นหลักสูตร รู้สึกเหมือนบ่าแบกความสงสัยในวิชาความรู้ รับภาระในการทำความกระจ่าง ในฐานะที่เป็นนักบวช ต้องตอบคำถามของโยม เต็มไปด้วยภาระครับ และภาระนี้มาเร็วเกินไป ความเติบโตทางจิตใจยังไม่พอที่จะรับสิ่งหนักหน่วงและกว้างขวาง รับผิดชอบต่อลัทธินิกายของตัวเอง เถรวาทถือว่าเป็นภาระที่พระจะต้องทำ ผมคบหาหลวงพ่อเทียนแล้วก็ พูดสำนวนเล่นๆว่า “สึกออกมาเป็นโยมอย่างสบายอารมณ์” ไม่รู้สึกเศร้าสร้อยน้อยใจ ปกติพระจะสึกออกมาจะมีอารมณ์มาก ยิ่งบวชนานเท่าไหร่ยิ่งมีอารมณ์ บางองค์ร้องไห้เลยก็มี

แล้วความไร้เดียงสาจากการไม่รู้หนังสือหนังหาของท่านช่วยผมได้มาก เจอกันแรกๆ ท่านเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออกเลย ช่วยผมมาก คือ ได้ตัวอย่างของจริงที่ว่า หนังสืออยู่ในฐานะอะไรของพุทธปัญญา สามารถแยกแยะออกได้ว่า การรู้หนังสือนั้นมันก็ดีครับไม่ใช่ไม่ดี แต่ก็อาจเป็นการแบกภาระของความเป็นผู้รู้ในวันเวลาที่ยังไม่สมควร หลวงพ่อเทียนพูดทุกคำน่าฟัง เพราะสะท้อนออกจากจิตใจล้วนๆ ไม่มีความรู้ซึ่งถือว่าเป็นอวิชชาเข้ามาปนเปื้อนเลย

หลวงพ่อเทียนท่านไม่รู้ว่าโลกกลม ผมต้องมานั่งอธิบายให้ฟัง ท่านบอกว่ามันกลมได้ยังไง ทุกวันหลวงพ่อเห็นว่ามันแบน เวลาที่ผมสูญเสียฐานของสติ ความรู้สึกตัว ท่านก็กระซิบว่า “ตอนนี้โลกจะกลมหรือแบนไม่สำคัญ สำคัญว่าเธอรู้สึกตัวได้หรือเปล่า” โลกกลม โลกแบนนั้นเป็นเรื่องฉากผ่าน หลวงพ่อเทียนท่านอาศัยเหตุการณ์ได้ดีมากในการแนะนำ

มีคำถามคำตอบชุดหนึ่งที่ทำให้ผมเห็น หรือได้มุมมองอีกมุมมองหนึ่ง ผมแบกคำถามไปหาท่านอาจารย์สวนโมกข์ด้วยข้อสงสัยว่า ทำไมเด็กๆ เช่น ลูกศิษย์ของสารีบุตรจึงบรรลุอรหัตผลได้ เพราะธรรมะควรจะเป็นเรื่องของผู้มีประสบการณ์ในชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์ในอริยสัจสี่ อันเป็นแกนของพุทธศาสนาเถรวาท มันนำมาอธิบายอายุน้อยๆไม่ได้ แล้วผมก็ได้ยินท่านอาจารย์สวนโมกข์บอกว่า “ผมก็ไม่แน่ใจว่า ส่วนสุดของความหมายนั้นหมายถึงอะไร? ปกติธรรมะที่ท่านสอนอยู่ทั่วๆไป ย่อมเพ่งเล็งตรงไปสู่ประสบการณ์ในชีวิต" ผมก็เก็บคำถามนั้น เรียกว่าแบกคำถามดีกว่า ผมแบกไปแบกมา ก็เลยแบกมาถามหลวงพ่อเทียนด้วยคำถามเดิม หลวงพ่อเทียนร้องว่า “ยิ่งเล็กเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น เพราะอารมณ์เค้าน้อย” ผมเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้ครับ รู้สึกโล่งเข้าไปในหัวใจ คือ เรามักจะลืม เมื่อได้คำตอบผ่านทางมิติหนึ่ง มักจะลืมอีกมิติหนึ่ง แต่ในความเป็นจริง คำตอบชุดหนึ่งอาจจะเหมาะกับอุปนิสัยหนึ่ง มันไม่มีอะไรแน่นอนตายตัวลงไป ผมเก็บเกี่ยวประโยชน์เอาตรงนี้ได้ โดยไม่สูญเสียศรัทธาทั้งด้าน intellect (ปัญญา) และด้าน intuition (ญาณ)

หลวงพ่อเทียนนั้นผมเคยสังเกตหลายครั้งว่า มีความฉับไวมากในเรื่องญาณ ภายนอกดูคล้ายเป็นคนเด๋อ บางทีอธิบายอะไรดูไม่เข้าท่า เช่น อธิบายขันธ์ห้า ท่านบอกว่าขันน้ำ ซึ่งใหม่ๆ ผมก็รู้สึกสับสนกับการใช้ศัพท์ในความหมายของท่านเอง จนกว่าเราจะเข้าไปซักไซ้ ท่านก็จะตีแผ่ออกมา เพราะเป็นที่รู้กันว่า ธรรมะเป็นเพียงอุบาย ข้อนี้สำคัญมากเลยนะ ธรรมะเป็นเพียงอุบายเท่านั้นเอง ช่วยให้สำเร็จประโยชน์ ไม่ใช่เอาอุบายมาเทิดทูนไว้

อีกข้อหนึ่งที่ฉกาจฉกรรจ์ วันหนึ่งเหตุเกิดที่วัดสนามใน มีพระรูปหนึ่งเปิดคาสเซ็ตท์เทปเทศนาของท่านอาจารย์สวนโมกข์ ที่ท่านพูดว่า “ธรรมะคือธรรมชาติ” หลวงพ่อเทียนได้ยินก็ลุกขึ้นยืนครับ แล้วบอกว่า “ไม่ใช่ธรรมชาติ แต่เป็นที่สุดของธรรมชาติ” ผมก็เก็บเกี่ยวประโยชน์ได้อีกครับ มองด้านหนึ่งของสายตามนุษย์ สิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติ แต่ถ้ามองให้สุดสายจริงๆ มองไปสู่ เหมือนที่โวหารบอกว่า “ตาลยอดด้วน” คือที่สุดของธรรมชาติ ไม่เกิดอีกแล้ว ธรรมะคือธรรมชาติยังฟังแล้วกำกวมอยู่ อาจปรุงไปเกิดต่อ แต่ถ้าที่สุดของธรรมชาติ คือ ไม่เกินนี้แล้ว ไม่เกิดใหม่ปรุงใหม่อีกแล้ว ผมเสียดายไม่ได้บันทึกไว้ นี่ก็พูดไปนึกเท่าที่นึกได้ มีคนให้นิยามว่าเรียนกับหลวงพ่อเทียนเป็น “dynamic school” ไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่มีเรียนพระไตรปิฎกเลย ไม่สนับสนุนให้อ่านความรู้แบบนักศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ เพราะความรู้ที่รู้ล่วงหน้าล้วนเป็นอุปสรรคต่อการลุกโพลงของดวงจิต


ธันวาคม ๕๓
ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ

ความกล้า กับการท้าทายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม



เสวนา พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ


(๕) ส.ศิวรักษ์: ความกล้า กับการท้าทายโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม [ตอนจบ]

ส.ศิวรักษ์: ท่านได้ฟังสองทัศนคติไปแล้วนะครับ ศิโรตม์เค้ามองศาสนาเหมือนอย่างคนส่วนใหญ่มอง คือ ไปมองที่พระสงฆ์ แต่จริงๆแล้วพระภิกษุสงฆ์นั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระศาสนา พระศาสนาคือตัวพุทธธรรมคำสอน และพระพุทธองค์ฝากพุทธธรรมคำสอนไว้กับพุทธบริษัทสี่ ซึ่งมีทั้งภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ และทางมหายานก็ถือว่ามี อุบาสกสงฆ์ และอุบาสิกาสงฆ์ จะมองเห็นว่ามีแต่พระอย่างเดียวนั้นไม่ได้ และจะเอาความเห็นของพระรูปเดียวมาตัดสินนั้นก็ไม่ได้ ที่ว่าผู้หญิงมีประจำเดือน แล้วแปรปรวนจึงบวชไม่ได้ นั่นถือเป็นเรื่องความคิดของพระรูปเดียว ซึ่งก็ไม่ใช่พระที่ฉลาดเฉลียวอะไรนัก

เนื้อหาสาระคำสอนของพุทธศาสนานั้น ผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกันหมด ผู้หญิงตรัสรู้ได้เท่ากับผู้ชาย ภิกษุณีสงฆ์เท่ากับภิกษุสงฆ์ และเวลานี้เมืองไทยก็ลองมีภิกษุณีสงฆ์แล้ว และสำหรับคนที่ศึกษาเรื่องศาสนาพุทธในเมืองไทย ต้องเข้าใจเลยนะว่า ที่วัดป่าบ้านตาด ที่เค้ายกย่องกันว่าพระอาจารย์มหาบัวเป็นพระอรหันต์นั้น มีแม่ชีเขียวซึ่งดูแลโยมมารดาของอาจารย์มหาบัว แล้วที่อุดรฯ เค้าเชื่อเลยว่าแม่ชีเขียวนั้นตรัสรู้เป็นพระอรหันต์เท่ากับอาจารย์มหาบัว ผิดถูกไม่รู้หรอก แต่อย่างน้อยเค้าเชื่อ และยังมีสถูปด้วย และแม่ชีเขียวเวลาตาย เผาแล้ว อัฐิแกกลายเป็นพระธาตุ เหมือนกับอาจารย์มั่น อาจารย์เสาร์ ที่เค้านับถือกันเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นที่มาบอกว่าผู้หญิงผู้ชายไม่เท่ากันอะไรต่างๆนั้น มันไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า มันเป็นคำสอนของคนบางคน แล้วสิ่งที่วิจักขณ์พูด ก็เป็นในทางที่เข้ามาหาปรัชญาและสาระของศาสนาพุทธ ซึ่งมีประโยชน์มาก

แต่ผมจะพูดให้ท่านทั้งหลายฟังง่ายๆว่า ศาสนาพุทธหรือคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นคำสั่งสอนที่ให้ประโยชน์แก่แต่ละบุคคลด้วย และให้ประโยชน์แก่สังคมด้วย และให้ประโยชน์แก่สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย ครบทั้งองค์สาม สิกขาบทโดยเฉพาะศีลห้านั้น เป็นการช่วยแต่ละบุคคลให้มีบทบาทในสังคมที่ถูกต้อง ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ไม่ให้มีเอารัดเอาเปรียบกัน และเอื้ออาทรต่อธรรมชาติ

แต่คำสอนทั้งหมดมีจุดอ่อนเรื่องการเมือง พระพุทธเจ้าหลีกออกมาจากการเมือง มาตั้งสังคมใหม่ เป็นสังคมสงฆ์ สังคมสงฆ์ถือเป็นสังคมอุดมคติซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง กล่าวคือไม่มีอำนาจ แต่สังคมสงฆ์นั้นเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้มีความเสมอภาค ภราดรภาพ และเข้าถึงเสรีภาพจากความโลภ โกรธ หลง จึงเป็นสังคมที่ประเสริฐที่สุด แต่ไม่ใช่สังคมการเมือง เพราะไม่มีอำนาจ ต้องเข้าใจให้ชัดเลยนะครับ

แต่ถ้าเอารูปแบบของสังคมสงฆ์มาใช้ในทางการเมืองเนี่ย จะได้ผลมาก เอ็มเบดการ์คนที่เขียนรัฐธรรมนูญอินเดีย อินเดียตั้งมาหกสิบกว่าปีแล้ว ยังไม่เคยมีรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญเลย และเอ็มเบ็ดการ์เป็นคนมาถือพุทธ เอ็มเบดการ์เกิดเป็นจัณฑาล จัณฑาลเป็นวรรณะที่ต่ำที่สุด เขาไม่รับศาสนาฮินดูเป็นเหตุให้เขาขัดกับมหาตมะ คานธี แล้วมาถือศาสนาพุทธ เพราะเขามองว่าศาสนาพุทธให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกันหมด แล้วเขาถือว่าประชาธิปไตยครั้งแรกเกิดขึ้นตอนที่พระพุทธเจ้าสอน และเกิดสังฆะขึ้น ซึ่งถือประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะว่าคนที่เข้าสู่สังฆะ ไม่ว่าจะชนชั้นสูงขนาดไหน ชนชั้นต่ำขนาดไหน เข้ามาได้เสมอกันหมด มีภราดรภาพเป็นพื้นฐาน และปฏิบัติชีวิต เพื่อเอาชนะความโลภ โกรธ หลง ให้เข้าถึงเสรีภาพ นี่เป็นคำของเอ็มเบดการ์ที่มีอิทธิพลมากนะครับ เพราะที่ฝรั่งว่าประชาธิปไตยมาจากอังกฤษอะไรนั่นตอแหลทั้งนั้น

แต่คณะสงฆ์เป็นสังคมซึ่งไม่ใช่การเมือง แต่ท้าทายการเมืองกระแสหลัก และชี้นำให้สังคมเดินทางนี้ ส่วนคำสอนที่เกี่ยวกับการเมืองนั้น ศาสนาพุทธสอนในทางอุดมคติ ทำได้ไม่ได้นั้นอีกเรื่อง เช่น ทศพิธราชธรรมมีประโยชน์มากกับชนชั้นปกครอง แต่อยากถามว่ามีคนในราชวงศ์กี่คนที่ทำตามนี้ จักรวรรดิวัตรเป็นแนวทางที่ให้ประโยชน์มาก คือคนที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดินั้นจะต้องมีประเทศราชารองลงไป เพราะจักรพรรดิต้องถือจักรวรรดิวัตร ให้ประเทศราชาถือทศพิธราชธรรม ซึ่งโดยหลักฐานในทางประพฤติปฏิบัติ ก็มีประโยชน์พอสมควร เช่น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาถือว่าเป็นพระจักรพรรดิ หรือพระราชาธิราช พระเจ้าเชียงใหม่เป็นประเทศราชา หรือประเทศราช พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะไม่ไปก้าวก่ายพระเจ้าเชียงใหม่เป็นอันขาด ไม่ไปก้าวก่ายวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ไปก้าวก่ายการปกครองของเขา นี่คือถือหลักจักรวรรดิวัตร แล้วมาประยุกต์ใช้

แต่ตามความเป็นจริงทางการเมืองนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้ามีความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ผมว่าเราต้องยอมรับความจริงนะครับ พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่มาถือพุทธ คือ พระเจ้าพิมพิสาร ยกที่ดินถวายเป็นวัดแห่งแรก คือ วัดเวฬุวัน แต่พอมาถือพุทธแล้วแหยเลยครับ ถูกลูกฆ่าตาย ถือพุทธแล้วแหยครับ พระเจ้าอชาตศัตรู ที่แย่งราชสมบัติพ่อได้ เพราะไปเข้ากับเทวทัต ไม่ได้เข้าหาพระพุทธเจ้า พระเจ้าโกศลก็เหมือนกันนะครับ นับถือพระพุทธเจ้าในเรื่องส่วนตัว เช่น ท่านเสวยมากไป พระพุทธเจ้าบอกเสวยให้น้อยลง ก็ดี แต่ท่านก็เป็นคนบ้าสมภารไปตลอดชีวิต พระเจ้าอโศกเองมานับถือพุทธ ทำดีมากเลย แต่พระเจ้าอโศกเองก็ล้มเหลว ถูกแย่งราชสมบัติภายในรัชกาลพระองค์เอง อีกนัยหนึ่ง บทบาทคำสอนศาสนาพุทธในทางการเมืองมีความล้มเหลวมาโดยตลอด หรือผู้มีอำนาจเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองในทางการเมืองยิ่งกว่าในทางศาสนา

ตรงนี้พวกเราไม่รู้เรื่องกันแล้วครับ เพราะเมืองไทยที่ว่าเถรวาท ที่วิจักขณ์พูดไปเมื่อตะกี๊ เถรวาทของไทยมาจากทางลังกา ผมอาจจะเป็นรุ่นสุดท้ายนะครับ คนรุ่นนี้คงไม่รู้เรื่องแล้ว พงศาวดารสยามนั้นกลับไปหาลังกาทวีป หนังสือมหาวงศ์พงศาวดารมันถอยไปถึงพระพุทธเจ้า แล้วมหาวงศ์นั้นชัดเลยครับ พระบอกเลยครับ พระเจ้าแผ่นดินสิงหลฆ่าไอ้พวกทมิฬเท่ากับฆ่าครึ่งมนุษย์เท่านั้นเอง พระเลวร้ายสุดๆมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว เล่นการเมืองมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว สยบกับอำนาจมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว ไม่ใช่มาสยบกับอำนาจเมื่อพระจอมเกล้าฯ แต่พระจอมเกล้าฯนั้นเอาศาสนามาอยู่ใต้อาณาจักรที่สุดเลย แล้วพระก็เลวร้ายยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดิน อยากรับสมณศักดิ์จนตัวสั่น ฉลองกันชิบหายวายป่วงหมด ติดสินบนกันด้วย เลอะถึงขนาดนี้ แล้ววิจักขณ์ยังฝันหวาน จะเห็นเถรวาทกลับมา เออ ก็ไม่เป็นไร..ฝันไป

ผมอยากจะเน้นนะครับ ศาสนาพุทธมีบทบาทในทางแต่ละปัจเจกบุคคลและสังคม แต่พอไขว้เขวทางสังคม ศาสนาพุทธจะมามีบทบาทในทางปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะสังคมไทยปัจจุบันเป็น “สังคมผิดปกติ” คนที่มีความรู้ คนที่มีสติปัญญา คนที่มีเงินมีทอง จะแสวงหาศาสนาพุทธในทางปัจเจก อีกนัยหนึ่ง คือ ทิ้งสังคม อย่างมหาขทิรวัน ที่หัวหินนั่นก็เป็นแห่งหนึ่งให้หนีไป หมู่บ้านพลัมที่จะมาใหม่ก็เป็นอีกแห่งให้หนีไป แต่ไปได้เฉพาะคนรวยเท่านั้นนะ คนจนอย่าได้ไปเชียว แล้วคนรวยก็ชอบ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวครับ กลับมาก็ยังรีดไถสังคมตามเดิม อยู่กับระบบทุนนิยมตามเดิม เอาเปรียบแรงงานตามเดิม

อีกนัยหนึ่ง ศาสนาพุทธจะได้ผลจริงๆจังๆ คนปฏิบัติศาสนธรรมจะต้องปฏิบัติไม่ใช่เพื่อปัจเจกบุคคล แต่เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย เมื่อได้จุดนี้แล้ว จึงจะตีประเด็นไปที่การเมืองให้ชัดเจน และการตีประเด็นไปที่การเมืองให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องไปเป็นนักการเมือง อย่างที่ผมพยายามทำ Engaged Buddhism มา ๒๐ปี ผมชี้ให้เห็นจุดนี้เลย เพราะถ้าไปทำการเมืองโดยตรงแล้วไม่แม่น ไม่แม่นในการรู้เท่าทันตัวเอง ไม่แม่นในการรู้เท่าทันสังคม จะถูกการเมืองมันดึงไป เพราะการเมืองมันเป็นศูนย์แห่งโทสจริต หรือการแย่งอำนาจ และโทสจริตนั้นผนวกกับโลภจริต เพราะบรรษัทข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง มีอภิมหาอำนาจคือจีนและอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีความคิดกระแสหลักของตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้อง ความคิดกระแสหลักของตะวันตกทั้งหมดเป็นโมหจริต โมหจริตให้หลง ที่ว่าศาสนาพุทธสอนให้แต่ละคนแหย นั่นไม่ใช่ศาสนาพุทธครับ ศาสนาพุทธไม่มีตรงนี้เลย เราไม่มีบาปกรรมติดตัวที่ไหนเลย ศาสนาพุทธถือว่าทุกคนมีพุทธภาวะ มีตถาคตครรถ์ ไม่มีใครด้อย ไม่มีใครเหลว ไม่มีใครแหย ทุกคนเท่ากัน ที่ไม่เท่ากันเพราะศาสนาพุทธในเมืองไทยกลายเป็นขัตติยา-ศักดินาธิปไตย ไม่ใช่ศาสนาพุทธที่แท้ ไม่มีที่เจ้าดีกว่าไพร่หรือไพร่ดีกว่าเจ้า แต่ที่จริงมันเท่ากัน

ประเด็นผมอยู่ตรงนี้ครับ ศาสนากับการเมืองต้องตีประเด็นให้ชัด เมื่อตีประเด็นไม่ชัดก็ไม่กล้า แล้วพวกพระที่คุณโจมตีอะไรดังกล่าว พวกนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย พระที่ควรจะโจมตีมากๆ คือ พระที่มีบทบาททางการเมืองหลังฉาก ไม่ใช่ว.ออกมาพูดฆ่าเวลาฆ่าอะไร ว.นั่นมันตัวเล็ก... ตัวใหญ่นั้นอยู่หลังฉาก

ศาสนาพุทธนั้นมีบทบาททางส่วนตัว สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีบทบาทที่ด้อยมากทางการเมืองในสองพันห้าร้อยปีที่แล้วมา แต่จะว่าสองพันห้าร้อยปีก็เป็นภวตัณหา ศาสนาพุทธสอนว่าอยู่ในปัจจุบัน ประพฤติปฏิบัติธรรมให้ดีที่สุด ดีกว่าอยู่เป็นร้อยปี สองร้อยปี แล้วประพฤติอธรรม พุทธศาสนากับปัญหาสังคมเวลานี้ คำสอนเนื้อหาสาระนั้น ผมว่ามีประโยชน์กับแต่ละบุคคลและสังคมแน่นอน โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาทที่ประพฤติปฏิบัติในเมืองไทย ลังกา พม่า มอญ นั้น มีประโยชน์กับสังคมเกษตรกรรมที่เรียบง่าย การใช้ทาน ศีล ภาวนา เหมาะสมที่สุดกับสังคมที่เรียบง่าย

ที่นี้สังคมไทยเวลานี้เป็นสังคมที่พลิกผันมากเลย คุณจะโทษตะวันตกหรือไม่โทษก็แล้วแต่ แต่โดยเฉพาะกรณีเมืองไทยนั้น อเมริกันมันกำหนดทุกอย่างให้เปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรม ชนบทเราจึงพังหมด และสังคมอุตสาหกรรมนั้น ศาสนาพุทธยังไม่มีคำตอบให้กับปัญหาสังคมเลย นี่ชัดเจนเลยนะครับ ถ้าไม่ตีประเด็นนี้ ไม่ต้องพูดกันต่อไป สังคมอุตสาหกรรมมันมีอะไรครับ มันมีโครงสร้างทางสังคมที่อยุติธรรมและรุนแรง ผมเชื่อเลยว่าหลักสูตรมหาจุฬาฯ มหาเปรียญอะไรเนี่ย ไม่ได้พูดเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าจำเป็นต้องตีประเด็นไปที่ โครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง คือ การไม่ฆ่าสัตว์เนี่ย มันเป็นเรื่องของสังคมที่เรียบง่ายได้ แต่ตอนนี้เราไม่ฆ่าครับ เราปล่อยให้คนอื่นฆ่า ให้บริษัทซีพีมันฆ่า เราไม่รู้สึกเลย แล้วพระก็ไม่รู้สึกเลยครับ คนเขาเอาของมาถวาย พระไม่รู้ ไม่เห็น ไม่สงสัย ไอ้รังนกที่กินๆกันนั่นมันเลวร้ายที่สุดเลย นกเหล่านั้นมันต้องขาดเสลดออกมา เป็นเสมหะ เป็นเลือดเลย แต่คนที่ไปเอามามันร่ำรวยมโหฬาร เอาของพวกนี้มาหลอกขาย ประเด็นพวกนี้มันสะท้อนถึงสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง กรณีเสื้อแดงก็เอาทหารออกมาฆ่า ออกพรก.ฉุกเฉินอนุญาตให้ฆ่า สิ่งต่างๆเหล่านี้มันเป็นความรุนแรงที่อยู่ในโครงสร้าง ถ้าตีประเด็นนี้ไม่แตก ไม่มีคำตอบให้กับสังคมได้ นี่เราพูดเรื่องศีลข้อที่ ๑ ศีลข้อที่ ๒ เช่นเดียวกัน ไม่ต้องขโมยครับ เราปล่อยให้ธนาคารทั้งหมดมันขโมยเราโดยถูกกฎหมาย ตีประเด็นนี้ไม่แตก ไม่ต้องพูดเรื่องอทินนาทาน

อีกนัยหนึ่ง การประยุกต์ศีลมาใช้ เราต้องรู้จักสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง และจะต้องโยงไปถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อตีศาสนาพุทธมาที่สังคมได้ชัด จึงค่อยเข้าไปถึงการเมือง เพราะการเมืองมันมีอำนาจหวงอยู่ นักการเมืองไม่ปล่อยง่ายๆ และตอนนี้นักการเมืองก็ใกล้ชิดกับบรรษัทข้ามชาติ ใกล้ชิดกับอภิมหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนนั้นคุมเราอยู่ตลอด เวลานี้แม้แต่กระเทียมก็ต้องสั่งเข้ามา คนไทยผลิตกระเทียมขายไม่ได้แล้ว แม่น้ำโขงเจ๊กมันกั้นทั้งหมดแล้ว ทะไลลามะเสด็จเมืองไทยไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีไทยกลัวเจ๊กกันหมดครับ เราต้องทำความเข้าใจว่าโครงสร้างทางสังคมเหล่านี้ จึงจะเท่าทัน และรู้ว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร

ทีนี้จะทำยังไงครับ หนึ่งเราจะต้องรู้เท่าทัน เจริญโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่แค่รู้เท่าทันตัวเอง ลดกิเลส ลดอัตตา แต่จะต้องรู้เท่าทันโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมเหล่านั้น จึงจะรู้ว่าจะไปมีบทบาททางสังคมอย่างไร สองต้องแสวงหากัลยาณมิตร เพื่อนฝูง ศึกษาเรียนรู้ และทำงานร่วมกัน ร่วมกันท้าทายความรุนแรงเชิงโครงสร้างเหล่านั้น ไม่ได้ทำง่ายๆนะครับ ดูอย่างพม่า อองซานซูจี พระพม่าออกมาท้าทายรัฐบาลเผด็จการทหาร ท่านถูกฆ่า ท่านถูกจับสึก ท่านถูกกระทืบ แต่ท่านเจริญเมตตากรณียสูตรตลอดเวลาเลย แสดงว่า เนี่ย ศาสนาพุทธทำให้ท่านมั่นคงแข็งแรง ท่านไม่ได้ไปเกลียดชังคนที่รังแกท่าน การเมืองคืออย่างนี้ครับ ธิเบตเค้าก็ทำกันแบบนี้ และผมเชื่อว่าวันหนึ่งคนไทยจะทำแบบนี้ พระเสื้อแดงจำนวนมากมาหาผมครับ บอกอาจารย์เป่ากระหม่อมหน่อย เราจะไปสู้กับพวกอำมาตย์ ผมบอกโยมจะไปเป่ากระหม่อมพระได้ไง ท่านบอกไม่เป็นไร ส.ศิวรักษ์เป่า ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็เป่ากระหม่อมพระ แต่ขอพระคุณเจ้าอย่าใช้ความรุนแรงนะ ถ้าเผื่อพระเสื้อแดงรวมตัวกันแล้วไม่ใช้ความรุนแรง เรียนจากพระพม่า เรียนจากพระลาว พระธิเบต โอ้โห.. เมืองไทยจะเปลี่ยนเลย นี่คือมิติทางการเมือง

จากแต่ละปัจเจกบุคคล ทำความเข้าใจโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมและรุนแรง เมื่อมีความเชื่อมั่น มีความกล้าหาญทางจริยธรรม รวมกันเป็นพลัง นั่นจะเป็นการเมือง


ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ

เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก



เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ


(๔) วิจักขณ์ พานิช: เมื่อพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยอำนาจทางโลก

วิจักขณ์ พานิช: คุณศิโรตม์ได้ช่วยตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่พุทธศาสนามีต่อสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนขององค์กรทางศาสนจักร บทบาทของนักบวช หรือตัวคำสอนเอง ซึ่งหลายๆคำถามได้แสดงถึงแนวโน้มที่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมากๆเลยนะครับ ซึ่งอย่างที่ได้เกริ่นไว้ในตอนต้น ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าพุทธศาสนาในประเทศไทย ได้แปรจากความเป็นเถรวาทไปสู่รูปแบบพุทธศาสนาแบบอื่นไปแล้วในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้เอง เราอาจเรียกพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า พุทธศาสนาแบบราชสำนัก ก็ได้

พุทธศาสนาแบบราชสำนักนี้จริงๆมันก็มีอยู่แต่ไหนแต่ไรนะครับ เพียงแต่อำนาจรัฐในอดีตไม่สามารถครอบงำจนพุทธศาสนาได้รับผลกระทบจนเป็นพิมพ์เดียวกันได้ขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ผมมองว่ามีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ อย่างที่ทุกคนคงรู้นะครับว่า ก่อนขึ้นครองราชย์ รัชกาลที่ ๔ นั้นบวชเป็นพระอยู่หลายปี และได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมา ด้วยความต้องการที่จะปฏิรูปพุทธศาสนาให้ “ถูกต้อง” ก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในขณะนั้นพุทธศาสนาเถรวาทที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ ถือว่ามีความหลากหลายสูงมาก แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง คือ มีการรวมศูนย์อำนาจทางศาสนจักร มีรูปแบบการสร้างวัด อุโบสถเป็นแบบมาตรฐาน มีการจัดการศึกษาแบบใหม่ให้กับคณะสงฆ์ มีการนำความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาผนวกเข้ากับการอธิบายทางพุทธปรัชญา ทำให้เป็นตรรกะและพิสูจน์ได้ แล้วตัดมิติในเรื่องของคุณค่าทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งบางอย่างออกไป ด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องงมงายและพิสูจน์ไม่ได้ เช่น เทพปกรณัม ภพภูมิ นรกสวรรค์ เทวดา บุคลาธิษฐาน พิธีกรรม สิ่งเหล่านี้เคยมีในพุทธศาสนาแบบพื้นบ้านและได้ถูกลดทอนคุณค่าไปในยุคนั้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตรงนั้นมันมีผลอย่างมากต่อบรรยากาศและทิศทางของพุทธศาสนาเถรวาทที่เคยงอกงามอย่างหลากหลายในท้องถิ่น อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทิศทางที่พุทธศาสนาได้ถูกครอบงำโดยอำนาจรัฐก็ได้ จนศาสนามีความใกล้ชิดและยึดโยงอยู่กับอำนาจรัฐอย่างแนบแน่น และได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักทางสังคม ซึ่งก็หมายถึงการมีสถานะทางสังคมที่สูง และมีอำนาจทางสังคมและการเมืองอย่างจะปฏิเสธไม่ได้เลย

อำนาจและสถานะที่พุทธศาสนาได้รับมาตรงนี้ ถ้าลำพังอยู่แต่ในเมืองหลวงมันก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากหรอกนะครับ อย่างที่เคยเป็นมาก่อนรัชกาลที่ ๔ แต่พอมันไปผนวกกับรูปแบบการปกครองแบบรัฐชาติสมัยใหม่มันก็ได้ขยายอำนาจของมันกว้างขวางออกไป จนบทบาทของพระสงฆ์ก็ค่อยๆเปลี่ยนไป ตัวคำสอนเปลี่ยนไป แนวโน้มของการมองมนุษย์ไม่เท่ากัน ศาสนาไม่เท่ากับคน และอื่นๆที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งคำถามไว้ก็เริ่มแพร่หลาย จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป อันนี้ก็ลองสังเกตกันดูครับว่าพุทธศาสนาแบบนี้มันยังมีรากฐานอะไรของพุทธศาสนาเถรวาทเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ความอ่อนน้อมหายไปไหน และที่สำคัญมิติของการสละสิทธิ์ และไม่ถือครองอำนาจนั้นมันหายไปไหน อำนาจนี่มันอันตรายนะครับ หวงไว้ไม่กระจายออกไปให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นมันก็ทำลายตัวเอง และการมีอำนาจมากๆก็มักทำให้เกิดความประมาท และภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญา

สังคมไทยได้ตัดขาดจากรากของพุทธศาสนาเถรวาทที่เราเคยมีในอดีต และหลุดลอยไปสู่รูปแบบอำนาจทางศาสนาที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือถูกครอบงำโดยอำนาจทางโลก เราจึงกำลังเป็นสังคมพุทธที่ไม่มีรากฐานทางปัญญา แต่พร้อมจะศรัทธาและเชื่อคนที่มีสถานะสูง ซึ่งรวมถึงสถานะทางศาสนา ความเป็นคนดีมีศีลธรรม และการเป็นที่ยอมรับทางสังคม ซึ่งผนวกกับเรื่องความเชื่อและชนชั้นทางสังคมโดยตรงนะครับ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาได้ถูกตัดขาดจากรากหรือต้นธารใน “ป่า” ไปแล้ว แต่คนทั่วไปกลับไม่เห็นว่าเป็นปัญหา กลับมองว่า ก็ดีเสียอีกที่พุทธศาสนามีอำนาจ เป็นที่ยอมรับมากขึ้น มีสมณศักดิ์ มีสถานะทางสังคมมากขึ้น สามารถสอนสั่ง ชี้แนะ ชี้ถูกชี้ผิดแก่สังคมได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันเป็นความประมาทอย่างมาก และผลของความประมาทนี้กำลังส่งผลถึงบทบาทที่พุทธศาสนามีต่อสังคม และตัวคำสอนของพุทธศาสนาเองในปัจจุบัน

คนที่ท้าทายพุทธศาสนาแบบราชสำนัก และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากที่สุดคนหนึ่ง ก็คือ ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านพุทธทาสถือได้ว่าเป็นพระรูปแรกเลย ที่กล้าท้าทายรูปแบบพุทธศาสนาแบบราชสำนัก แม้จะไม่ได้เป็นโดยการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงออกที่รุนแรงอย่างสันติอโศก แต่ผมมองว่ามันได้ส่งผลสะเทือนให้คนได้สติและย้อนกลับไปหารากเหง้าของเราไม่น้อยเลยนะครับ ในประวัติของท่านอ.พุทธทาส อย่างที่เรารู้กันดี สมัยหนุ่ม ท่านมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ที่วัดแห่งนี้ (วัดปทุมคงคา) แล้วก็ได้มาเห็นรูปแบบของพุทธศาสนาแบบราชสำนักในเมืองหลวง การศึกษาสมัยใหม่ของคณะสงฆ์ การแก่งแย่งแข่งขัน อำนาจ สถานะ สมณศักด์ต่างๆ พอท่านเห็น ท่านก็บอกว่านี่มันไม่ใช่แล้ว นี่มันไม่ใช่พุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ มันไม่ใช่วิถีของสมณะ วิถีของการสละละวาง จิตวิญญาณที่ไปพ้นอำนาจหรือการปรุงแต่งทางโลก มันได้กลายเป็นอะไรไม่รู้นะครับ ท่านไม่เอาเลย พอกันที เลิกเรียน กลับไปบ้านเกิดที่พุมเรียง ร่วมกับน้องชายและสหายห้าหกคน กับเงินส่วนตัว ซื้อที่ ตั้งสวนโมกข์ขึ้นมา เพื่อกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท ตีความพระไตรปิฎกใหม่ อยู่กันอย่างเรียบง่าย ตั้งวัดในป่า อยู่ร่วมกับธรรมชาติ แล้วย้อนกลับไปหารากเหง้าของพุทธศาสนาที่เคยเป็นรากฐานทางจิตใจของบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมา

ดังนั้นถ้าเราพูดกันถึงพุทธศาสนาเถรวาทกับสังคมและการเมือง จิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทมีความลึกซึ้งไม่น้อยนะครับ แม้จะไม่ได้เป็นไปเพื่ออำนาจต่อรองทางการเมือง แต่โดยมิติทางสังคมแล้ว พุทธศาสนาเถรวาทนั้นถือว่า เป็นคุณค่าทางจิตวิญญาณที่สามารถปรับเข้าหาวัฒนธรรม และผู้คนที่หลากหลายได้ดีมาก ด้วยความที่มันตั้งอยู่บนฐานของการ “สละสิทธิ์” นี่แหละครับ มันเลยเปี่ยมด้วยศักยภาพในการเข้าไปกับผู้คนทุกชนชั้นวรรณะได้ดีมาก คือ เข้าไปเปล่าๆ เปิดใจเรียนรู้เอา โดยไม่หวังว่าจะได้อะไร จะเรียกว่าเป็นอำนาจของความกรุณาก็ได้ ที่ทำให้พุทธศาสนาแบบนี้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี พิธีกรรม ได้อย่างกลมกลืน สำคัญคือการปรับเข้าหาไม่ได้เป็นไปการปรับอย่างหลับหูหลับตา แล้วไปรับใช้อำนาจทางโลกเพื่อสถานะของศาสนาเอง แต่ปัจจุบันจิตวิญญาณแบบนี้มันเลือนหายไปหมดเลยครับ เพราะอำนาจทางโลกที่พุทธศาสนาได้รับมา แล้วยึดถือมันไว้จนพอกพูนทับถม รวมถึงความใกล้ชิดต่อราชสำนักที่มีมากเกินไป มันได้ส่งผลต่อพฤติกรรมบางอย่าง ที่เราอาจจะเข้าใจไม่ได้เลยหากมองจากจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาท เช่น การสอนสั่งหรือสื่อสารทางเดียว การมองคนว่าด้อยหรือต่ำกว่าศาสนา การวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ สถานะที่สูงส่งเหนือมนุษย์ราวกับสมมติเทพ การดูถูกผู้หญิง ฯลฯ ผมมองว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นผลจากอำนาจที่พุทธศาสนาได้รับมาจากรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในฐานะสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ยึดโยงสัมพันธ์กันอย่างแยกจากกันไม่ออกในสังคมปัจจุบัน

ผมจึงอยากจะตั้งคำถามตรงนี้นะครับ เวลาที่เราพูดถึงพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง เรากำลังพูดถึงพุทธศาสนาแบบไหน เป็นอำนาจของสถาบันศาสนาที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐอย่างแยกจากกันไม่ได้ หรือเป็นคุณค่าของพุทธศาสนาเถรวาทที่เรามีเป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมจริงๆ เพราะถ้าเราฟันธงแล้วว่าพุทธศาสนาที่เรามีอยู่มันเสื่อมสมรรถภาพแล้วจริงๆ เราก็จะได้พูดคุยถึงพุทธศาสนาแบบอื่นไปเลย หรือไม่ต้องมีศาสนากันไปเลยก็ยังได้ การมีอยู่ของสถาบันศาสนาในฐานะสถาบันหลักทางสังคมนั้นมีอำนาจและต้นทุนไม่น้อยทั้งทางการเมือง ทางสังคม และทางวัฒนธรรม ซึ่งเราอาจจะต้องช่วยกันตั้งคำถามต่อบทบาทของศาสนา โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตวิญญาณของศาสนาที่มีต่อสามัญชนให้มากขึ้น แต่โดยส่วนตัวผมยังมองว่าหากเราย้อนกลับไปหาจิตวิญญาณของพุทธศาสนาแบบเถรวาทจริงๆ มันยังมีอะไรที่ดี ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ อีกทั้งยังจะเป็นรากฐานให้กับการต่อยอดของพุทธศาสนาแบบอื่นๆ ที่จะเสริมให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทางการเมือง และเกื้อกูลสังคมประชาธิไตยในทางที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น


ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ

พุทธศาสนาเป็นวิถีที่ตรงกันข้ามกับอำนาจนิยม



เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ


(๓) วิจักขณ์ พานิช: พุทธศาสนาเป็นวิถีที่ตรงกันข้ามกับอำนาจนิยม

วิจักขณ์ พานิช: ผมจะพูดหัวข้อนี้ในแง่มุมที่ต่างออกไปนะครับ คือ จะเข้าหามิติทางจิตวิญญาณมากขึ้น แต่โดยรวมแล้ว คิดเห็นไม่ต่างจากคุณศิโรตม์ คือ หากเราจะคุยกันถึงพุทธศาสนากับสังคมและการเมือง เราอาจแยกออกได้เป็นสองประเด็นใหญ่ๆ คือ หนึ่ง พุทธศาสนาในตอนนี้กำลังมีปัญหาในตัวของมันเองหรือไม่ อย่างที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งคำถามถึง ตัวคำสอนที่ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นสินค้า การเฝ้าแต่ผลิตคำซ้ำๆหรือสิ่งที่คนในสังคมเชื่อหรือรู้กันอยู่แล้ว ตัวคำสอนที่ไม่สามารถมองมนุษย์กับตัวศาสนาเท่ากันได้ ฯลฯ และประเด็นที่สอง คือ เรื่องบทบาทที่พุทธศาสนามีต่อสังคมและการเมืองในปัจจุบัน โดยเฉพาะในฐานะสถาบันหลักทางสังคม ที่เราอาจมองเห็นถึงแนวโน้มที่พุทธศาสนาไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น อย่างเช่น เรื่องบทบาทของผู้หญิง การเหยียดเรื่องเพศ การปฏิเสธความหลากหลายของคน และการเพิกเฉยต่อการฆ่าหรือความขัดแย้งทางการเมือง เป็นต้น

เราอาจลองดูกันที่ประเด็นหลังก่อนนะครับ อย่างที่คุณศิโรตม์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีที่เพิกเฉยของศาสนจักรต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในศาสนจักรเอง ที่ไม่เคยมีความพยายามในการออกมาปกป้อง ให้ความชัดเจน หรือคลี่คลายความขัดแย้ง อย่างกรณีธรรมกาย กรณีสันติอโศก กรณีการบวชภิกษุณี หรือศีลวินัยของสงฆ์ในบางข้อที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ปัญหาทั้งหมดเต็มไปด้วยความคลุมเครือในท่าทีของศาสนาจักรเอง และมักจบลงด้วยการเพิกเฉย ไม่พูดถึง หรือปล่อยให้ข่าวซาๆไป ซึ่งผมมองว่ามีผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือที่สถาบันศาสนามีต่อเรื่องอื่นๆ

แบบอย่างความเพิกเฉยของศาสนาจักรทำให้คนตั้งคำถามกันมากนะครับ ว่าจริงๆแล้ว พุทธศาสนาเนี่ยมีมิติทางสังคมหรือเปล่า (ไม่นับเชิงสังคมสงเคราะห์) มีคนเยอะนะครับที่ปักใจเชื่อไปแล้วว่าไม่มี คือ พุทธศาสนาใช้ได้เฉพาะมิติของการเปลี่ยนแปลงภายในของปัจเจกเท่านั้น มันทำให้ผมคิดถึงคำพูดหนึ่งที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆในแวดวงคนที่สนใจพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรม คือ ขอแค่เรากลับมาดูแลจิตใจตัวเอง ภาวนาไป แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง ไม่ต้องไปสนใจเรื่องนอกตัว ไม่ต้องไปมัววิพากษ์วิจารณ์สังคม ขอแค่ดูใจเราเอง แล้วทุกอย่างก็จะดีเอง เคยได้ยินมั๊ยครับ แต่คำถามก็คือถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว การมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตยจะอยู่ที่ตรงไหน การช่วยกันตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่างๆที่มาจากอำนาจรัฐจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คือ พูดง่ายๆพอมาสนใจศาสนาแล้ว มิติทางสังคมมันหายไปเลย

ผลที่เกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของบทบาทศาสนจักร และความไร้ศักยภาพของพุทธศาสนาในการเผชิญปัญหา ความขัดแย้ง และความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ มันก็ทำให้หลายๆคนเริ่มรู้สึกท้อแท้กับพุทธศาสนานะครับ จนทำให้เกิดการตั้งคำถามกันมากในหมู่คนรุ่นใหม่ บ้างก็ว่าพุทธศาสนาเถรวาทแคบและเก่า พระเดี๋ยวนี้ไม่บริสุทธิ์ คำสอนใช้ไม่ได้ หรือไม่ก็เลือกจะเปลี่ยนศาสนาหรือไม่มีศาสนาไปเลยก็มีนะครับ อันนี้ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก่อนที่เราจะไปถึงตรงนั้น ผมอยากจะชวนให้ลองกลับมาดูในประเด็นแรก ว่าตัวพุทธศาสนาที่เป็นอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร และเรากำลังมีปัญหาในการทำความเข้าใจและการตระหนักถึงคุณค่าของตัวพุทธศาสนาเองมากน้อยแค่ไหน

ทุกคนคงรู้กันดีนะครับว่าพุทธศาสนาที่เรานับถือกับในประเทศไทยนั้นเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่โดยความคิดเห็นส่วนตัว ผมชักไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถเรียกพุทธศาสนาที่เรานับถือกันอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทได้เต็มปากนัก ซึ่งเดี๋ยวเราจะกลับมาดูกันนะครับว่าถ้าไม่ใช่เถรวาทแล้วเป็นอะไร แต่ตอนนี้ผมอยากจะชี้ให้เห็นถึงจิตวิญญาณของพุทธศาสนาเถรวาทในความเข้าใจของผมเสียก่อน

พุทธศาสนาเถรวาทถือเป็นนิกายของพุทธศาสนาที่มีความเก่าแก่ที่สุดนะครับ ประเทศไทยภูมิใจกับความเป็นเถรวาทของเรามาก บางคนถึงกับเรียกพุทธศาสนาของเราว่าเป็นของแท้ ของ original จากพระพุทธเจ้า เถรวาทเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสายอาวุโส (senior order) จุดเด่นของเถรวาทก็คือ การพยายามรักษาคุณค่าที่พระพุทธเจ้าได้ประกาศไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล อีกทั้งยังพยายามคงรูปแบบดั้งเดิมที่สะท้อนถึงคุณค่านั้นไว้ อย่างที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด

แบบอย่างอันเป็นอุดมคติของเถรวาท ก็คือ พระพุทธเจ้านั่นเองนะครับ และวิถีชีวิตที่พระพุทธเจ้าใช้ในการแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณในเบื้องต้น ก็คือ “การออกจากสังคม” การออกบวช พูดง่ายๆ คือ การตายไปจากสังคม เป็นการทิ้งสิทธิทั้งหมดที่ตัวเองมี สละสิทธิ์ แล้วกลายเป็นคนไม่มีสิทธิ์ใดๆในสังคมเลย

ในวัฒนธรรมอินเดีย การออกบวช หมายถึง คุณกลายเป็น nobody จริงๆ ไม่ใช่บวชแล้วกลายเป็นอะไรที่ดูโก้เก๋ สูงส่ง นักบวชนั้นไม่ใช่พราหมณ์ คือเป็นคนที่ไม่มีสิทธิอะไรเลย เวลามีใครตัดสินใจออกบวช คนในครอบครัวมีการเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ หรือถึงขั้นทำงานศพให้เลยก็มีนะครับ เพราะในสังคมอินเดียสมัยพุทธกาลนั้น การไม่มีสถานะทางสังคมถือว่าคุณไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่า และไม่ข้องเกี่ยวกับสังคมอีกต่อไป

วิถีของนักบวชในอินเดียนั้น เรียกกันว่า วิถีของสมณะ คำว่า “สมณะ” แปลว่า “ผู้เดินท่องไป” เป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีสถานะ ไม่มีบทบาท ไม่มีที่พักพิงใดๆ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือการเดินท่องไปเรื่อยๆ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิ์ของสมณโคดม สิ่งที่เขาได้รับก็คือ “เสรีภาพ” นะครับ เรียกได้ว่า เขายอมแลกสิทธิ์ทั้งหมดที่เคยมีในฐานะคนคนหนึ่ง เพื่อจะได้มีเสรีภาพจริงๆ ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้นนะครับ ว่าทำไมพุทธศาสนาโดยเฉพาะพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ค่อยเน้นในเรื่องสิทธิ์ที่ถูกกำหนดขึ้นจากสังคมมากนัก วิถีชีวิตอุดมคติทางศาสนาของภิกษุ/ภิกษุณี เรียกได้ว่าเป็นผู้ขอ หรือเป็นผู้ที่ไม่เรียกร้องสิทธิ์ใดๆทางสังคมเลย ขอเศษอาหาร นอนตามโคนไม้ หรือเรือนว่าง นัยของความไม่มีสิทธิ์ทางสังคม นำมาซึ่งคำว่า “อะไรก็ได้” ที่ติดปากคนไทยกันมานานนม วิถีสมณะ คือ รับอะไรก็ได้ กินอะไรก็ได้ ใครจะดูถูกดูแคลนยังไงก็ได้ ถูกปฏิเสธไม่เป็นไร ไม่พูดถึงสิทธิ์ของตัวเองเลย ขอให้มีเสรีภาพในการแสวงหาคุณค่าบางอย่างในแบบของตัวเองเป็นพอ

และสถานที่เดียวครับ ที่เหล่าสมณะจะมีเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ก็คือ สถานที่ที่สังคมยังไม่ได้แผ่อำนาจไปผูกคุณค่าไว้กับมัน สถานที่นั้น คือ “ป่า” ป่าเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ คือพื้นที่ หรืออาณาเขตที่ปลอดจากอำนาจ การกำหนดกฎเกณฑ์ หรือคุณค่าที่ถูกกำหนดไว้ก่อนแล้วโดยผู้อื่นหรือโดยสังคม ป่าถือเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการแสวงหาคุณค่าใหม่ ซึ่งอันนี้ก็ไปพ้องกับความหมายของ “สมณะ” หรือ “ผู้เดินท่องไป” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ผละจากบ้านไปสู่ความไร้บ้าน สมณะเลือกที่จะตายไปจากสังคม เพื่อออกแสวงหาคุณค่าบางอย่างที่ในสังคมตอนนั้นไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่มีอยู่ สิทธัตถะเลือกวิถีชีวิตแบบนี้ในการแสวงหาคุณค่า และแม้หลังจากที่รู้แจ้งเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ยังคงวิถีสมณะไว้เป็นหลัก

คำว่า “ไม่มีสิทธิ์” นี่เป็นคำที่น่าสนใจนะครับ แม้หลังจากที่พระพุทธเจ้าค้นพบคุณค่าที่ท่านได้แสวงหาแล้ว โดยสถานะทางสังคม พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลายเป็นอภิสิทธิ์ชน ยังคงเป็นคนที่ไม่มีสิทธิ์เช่นเดิม คือในการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า ท่านถือว่าท่านไม่มีสถานะใดๆทั้งสิ้น ไม่มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆให้เป็นอย่างที่อยากให้เป็นเลย ตรงนี้ผมแปลคำว่า "สิทธิ์" เท่ากับคำว่า "อำนาจ" นะครับ คือ วิถีพุทธจริงๆแล้วมันตรงกันข้ามกับอำนาจนิยมโดยสิ้นเชิง เพราะวิถีพุทธนั้น หัวใจของมันนั้นคือศักยภาพบางอย่างที่ปรากฏขึ้นจากภาวะไร้อำนาจ ไม่มีนัยของการควบคุม จำกัด หรือบังคับ แต่มันคือการศิโรราบ ยอมรับความจริง และอยู่อย่างสอดคล้องกับสิ่งที่เป็น พระพุทธเจ้าแสดงแบบอย่างของคนที่สละอำนาจ ไม่มีอำนาจใดๆทั้งสิ้น ในการเดินท่องไปของพระพุทธเจ้าและเหล่าสาวก เรียกได้ว่า เป็นคนที่ต่ำยิ่งกว่าต่ำ เพราะฉะนั้นท่านจะถูกดูแคลน ถูกเหยียดหยามยังไง คำสอนมันจะไม่เข้าหูใครยังไง สมณะเหล่านั้นไม่ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นอริยบุคคลหรือไม่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปต่อว่า หรือไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะไปสอนหรือแก้ไขเขานะครับ

พระพุทธองค์ยังบอกอีกนะครับ ว่าแม้แต่สาวกที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วเนี่ย ก็ขอให้รักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบนี้ คือ วิถีของการเดินท่องไป ผมว่ามันมีนัยอะไรบางอย่างของการวางรากฐานจิตวิญญาณของพุทธศาสนาในแบบนี้ แม้ว่าในช่วงหลังคำสอนของพระพุทธองค์จะเริ่มเป็นที่ยอมรับกันในคนจำนวนไม่น้อยในสังคมแล้วก็ตาม พระพุทธองค์ก็ยังเดินท่องไปเรื่อยๆจนวันตายเลยนะครับ คือ เดินจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง สิ่งที่เจอก็คือสถานการณ์ต่างๆของสังคมที่ต่างกันออกไป วัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ภาษาที่ไม่เหมือนกัน คุณค่าทางสังคมที่ไม่เหมือนกัน ความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน โรคภัยไข้เจ็บที่ไม่เหมือนกัน เรียกได้ว่าวิถีการเดินท่องไปแบบนั้น ไม่มีหลักยึดอะไรได้เลย ต้องปล่อยสิ่งที่ตนคิดไว้อยู่ตลอดเวลา ต้องตื่น และเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา มันทำให้คนที่เดินบนวิถีนี้ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความรู้ที่เกิดขึ้นมันถูกสังเคราะห์ใหม่อยู่ตลอดเวลา คือต้องเปิดรับและอยู่กับความไม่รู้ อย่างที่ไม่สามารถจะเอาความรู้เดิมที่คิดว่ารู้แล้วมาใช้แบบสำเร็จรูปได้ กลุ่มคนเหล่านี้แม้จะไม่มีสิทธิ์อะไรในทางสังคมเลย เดินจากบ้านสู่ความไร้บ้านตลอดชีวิต แต่กลับเป็นเหมือนเอเย่นต์ของการเปลี่ยนแปลง หรือเอเย่นต์ของการเรียนรู้ใหม่ การทำความเข้าใจใหม่อยู่ตลอดเวลา และนี่คือวิถีของพุทธะ หรือวิถีของความตื่น

จะสังเกตเห็นนะครับว่าการประกาศพุทธธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นประกาศความเชื่อ หรือหลักคิดใหม่ทางสังคมและการเมือง ธรรมวินัยไม่ได้แสดงถึงอำนาจที่จะไปเปลี่ยนแปลงโลกอย่างที่เราคิดว่าดี แต่เป็นการประกาศถึงการวางตัววางใจอันแสดงออกในวิถีชีวิตที่ลงไปเรียนรู้และสัมผัสกับความทุกข์ ปัญหา และผู้คน โดยยังรักษาต้นธารใน "ป่า" คือ พร้อมที่จะสละสิทธิ์ ปล่อยวางจากอำนาจ ผละจากบ้านหรือความยึดถือในตัวตน แล้วใช้ศักยภาพของความตื่น สติปัญญาในการเข้าหาผู้คน เรียนรู้สังคม วัฒนธรรม และเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไปอย่างสอดคล้อง

เราอาจสงสัยว่า เมื่อไม่มีสิทธิ์แล้ว จะมีอำนาจอะไรไปเปลี่ยนแปลงสังคม ก็เล่นอยู่ในป่า หาที่หลีกเร้นไปภาวนา อยู่ตามชายขอบของสังคม อาจจะเรียนรู้ผู้คนในสังคมและวัฒนธรรมนึง แต่สักพักก็จากออกมา แล้วเดินทางต่อ แต่ในทางปฏิบัติ วิถีของคนไม่มีสิทธิ์ หรือคนชายขอบเหล่านี้กลับมีผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอินเดียสูงมาก เพราะมันทำให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงบางสิ่งบางอย่างที่คนส่วนใหญ่ไม่คิดกัน และแม้จะออกจากสังคมไปแล้ว แต่วิถีสมณะนั้นก็ยังต้องสัมพันธ์กับสังคมจากการขอ โดยเฉพาะในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ากำหนดไว้เลยว่าการบิณฑบาตถือเป็นกิจอย่างหนึ่งที่จะยกเว้นไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณค่าใดที่ถูกค้นพบ ฝึกฝน และปฏิบัติ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมอยู่ตลอด การบิณฑบาตถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงให้พุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับสังคม ไม่หลุดลอยออกมากลายเป็นการตัดขาดจากผู้คนหรือความทุกข์ร่วมกับคนอื่น อีกทั้งวิถีของการเดินท่องไปก็ไม่ได้ให้นัยของการตัดขาดตัวเองจากคนอื่นอยู่แล้ว มันทำให้มีการปฏิสัมพันธ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่นมีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้มาจากสถานะที่อยู่สูงกว่า คือตรงกันข้าม มันต้องมาจากสถานะที่เท่ากันหรือต่ำกว่าเสียด้วยซ้ำ

และอีกประเด็นที่น่าสนใจมากของ ความไม่มีสิทธิ์ ซึ่งมันอาจดูไม่มีพลังต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเลย แต่ผมกลับมองว่าเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มากๆ ก็คือว่า คนที่ไม่มีสิทธิ์เนี่ย เนื่องจากว่าเค้าไม่ได้ต้องการการรับรองหรือการยืนยันในเชิงคุณค่าใดๆจากสังคม คุณค่าของเขาได้ถูกพบแล้วด้วยตัวเอง และเป็นสิ่งที่เขานำมาฝึกฝนและปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเขาด้วย ขณะเดียวกันเขาก็เจียมตัว และพร้อมที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกเตะออกไปจากสังคมอยู่ตลอดเวลา ตรงนั้นทำให้คนเหล่านี้ แม้จะไม่มีสิทธิ์ แต่ด้วยความตื่นและความเข้าใจในความเป็นไปต่างๆที่ได้ไปพบเห็น ทำให้เขามีสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก นั่นคือ “ความกล้า” คนพวกนี้เรียกได้ว่าไม่มีอะไรต้องกังวล ไม่มีอะไรจะเสีย ไม่ต้องเกรงว่าคนจะไม่ยอมรับ หรือคนจะไม่รัก เพราะวิถีของสมณะไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิ์หรืออำนาจถูกมั๊ยครับ สิ่งที่เขาสนใจมีแค่ความจริง และหนทางที่จะคลี่คลายความทุกข์ ความขัดแย้งในตนเองและผู้อื่นเท่านั้น อันนี้ผมว่ามันน่าสนใจ และมันอาจเปิดมุมมองให้เราเห็นถึงอิทธิพลที่พุทธศาสนามีผลต่อสังคมในหนทางที่ต่างออกไป โดยเฉพาะในเรื่องของ “ความกล้า” และ “ความตื่น” ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อรับใช้อำนาจทางสังคมที่ถูกกำหนดไว้

ความกล้าหาญทางจริยธรรมมันเกิดขึ้นมากนะครับในสมัยพุทธกาล มันมีความตื่นอยู่ในนั้น มีใจที่เปิดกว้างอยู่ในนั้น ขณะเดียวกันก็ยังรักษาต้นธารหรืออุดมคติที่มีรากอยู่ใน “ป่า” ซึ่งคือพื้นที่ของอิสรภาพ พื้นที่ที่ไม่ถูกอำนาจของสังคมในการควบคุม พื้นที่ที่ไม่ถูกปรุงแต่งหรือกำหนด หรือเจือปนด้วยอคติ ซึ่งพื้นที่นั้นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากเราจะพูดถึงจิตวิญญาณของพุทธศาสนา

สิ่งที่ผมพูดไปทั้งหมดเป็นมุมมองในทางประวัติศาสตร์ศาสนา ที่อธิบายถึงจิตวิญญาณอันเป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนาเถรวาท ถ้าพุทธศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นพุทธศาสนาเถรวาท เป็นพุทธศาสนาสายที่เก่าแก่ที่สุด และซื่อตรงต่อธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าประกาศไว้ที่สุด คำถามก็คือ รากฐานเหล่านั้นมันอยู่ตรงไหน และเรายังมองเห็นอะไรที่ตั้งอยู่บนรากฐานนั้นอยู่บ้างหรือไม่...

ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ

บทบาทที่น่าตั้งคำถามของศาสนจักร




เสวนาพุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ


(๒) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: บทบาทที่น่าตั้งคำถามของศาสนจักร

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: กลับมาเรื่องของสังคมและการเมือง คือ ผมพยายามจะนึกว่า เวลามีความขัดแย้งทางสังคมหรือการเมือง อย่างกรณีของบ้านเราในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ศาสนามีบทบาทในการช่วย หรือในการยุติความขัดแย้งทางการเมืองแค่ไหน ถ้าพูดตรงๆคือไม่มี ตัวศาสนจักรเนี่ยไม่มีบทบาท ทุกคนรู้อยู่แล้ว ศาสนจักรเป็นสิ่งที่หายไปทุกครั้งเวลามีความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในบ้านเรา หรือในบางกรณี ตัวองค์กรทางศาสนจักรอาจมีบทบาท ซึ่งบทบาทนั้น บ่อยครั้งก็ไม่ค่อยดี อย่างเช่น ตอนเกิดกรณีหกตุลา จอมพลถนอมกลับมา แล้วก็บวชเป็นพระกลับมา แล้วการบวชเป็นพระกลับมาของจอมพลถนอมก็นำไปสู่การฆาตกรรมทางการเมืองในวันที่ ๖ ตุลา นำไปสู่การแตกแยกทางสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นักศึกษาต้องเข้าป่าอะไรแบบนี้นะครับ พอลองนึกย้อนหลังกลับไป ผมรู้สึกว่า ในวันที่ ๖ ตุลา ถ้าศาสนจักรมีท่าทีบางอย่างต่อจอมพลถนอม ผมไม่รู้นะครับว่าในทางพระทำได้หรือเปล่า อย่างเช่น พระผู้ใหญ่อาจจะมาบอกว่า ท่านอย่าเพิ่งกลับเมืองไทยเลย ท่านอยู่เมืองนอกต่อดีกว่ามั๊ย มันน่าจะดีกับทุกคน ความขัดแย้งจะปะทุอย่างเหตุการณ์๖ตุลาที่เกิดขึ้นในวันนั้นหรือเปล่า

หรือว่าอย่างเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ เราก็ไม่พบว่ามีองค์กรทางศาสนจักรออกมาเตือนหรือให้สติกับสังคมหรือรัฐบาลที่ในเวลานั้นใช้กำลังกับประชาชน ว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมันผิด ในตอนนั้นพลเอกสุจินดาพูดออกทีวีว่า ผู้ชุมนุมบนถนนราชดำเนินมีพวกลัทธิประหลาดคือพวกสันติอโศก เพราะฉะนั้นรัฐบาลมีเหตุผลในการใช้กำลังเพื่อสลายลัทธิประหลาดอันนี้ได้ ซึ่งแปลกว่าในวันนั้นไม่มีคนของศาสนจักรมาบอกเลยว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ใช้กำลังสลายเค้านะ ต่อให้เป็นพวกสันติอโศกก็ตาม ซึ่งในแง่นึงก็อาจจะโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองในศาสนจักรเองด้วยว่า มองสันติอโศกเป็นศัตรูก็เป็นได้ แต่ว่าโดยปรัชญาพื้นฐานของเรื่องการเมือง หรือว่าในแง่ปรัชญาพื้นฐานของพุทธศาสนาเองก็ดี พุทธศาสนาเกิดมาเพื่อไม่ให้คนฆ่ากัน เพราะฉะนั้นถ้ามันมีอะไรที่จะช่วยไม่ให้คนฆ่ากันได้ ผมคิดว่านั่นแหละคือปรัชญาพื้นฐานของศาสนาพุทธ แต่ที่เห็นในบ้านเรา บทบาทของศาสนจักรมันหายไปเลยเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หรือในช่วงเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา บทบาทของศาสนจักรก็หายไปอย่างสิ้นเชิง ที่ประหลาดมากกว่านั้นคือ เราก็รู้ว่า ในช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา มีพระจำนวนหนึ่งเป็นฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งออกมาร่วมประท้วงเป็นจำนวนมาก เป็นพระอีสาน พระที่อุบลฯ อุดรฯ อะไรก็ตามแต่ ในวันที่มีเหตุการณ์ชุมนุม ท่านเหล่านี้ถูกจับ และถูกจับศึกด้วย เรื่องเหล่านี้ผมประหลาดใจว่าทำไมศาสนจักรไม่ออกมาปกป้องคนของตัวเอง ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะเป็นพระเสื้อแดงหรือเสื้อเหลือง ยังไงก็ตามแต่ ถ้าผมเป็นคนในองค์กรศาสนจักร คนในองค์กรศาสนจักรถูกอำนาจทางโลกจับ ผมปกป้องเค้าก่อน เพราะว่าอำนาจรัฐมาจับคนสึกแบบนี้ไม่ได้ แต่ศาสนจักรไม่กล้าแม้จะทัดทานเรื่องพวกนี้ กลับทำตัวเฉยๆเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในแง่ของคำสอน มันก็อาจจะโยงกับเรื่องเหล่านี้ด้วยนะครับ เป็นไปได้มั๊ยว่า ความเข้าใจพุทธศาสนาที่มันไหลวนอยู่ในสังคมไทยในตอนนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องพุทธปรัชญาหรือพุทธธรรมที่มันลึกซึ้งนะครับ แต่เป็นเรื่องที่คนในสังคมเข้าใจ คำสอนทางศาสนาของบ้านเรามันกลายเป็นสิ่งที่อยู่ใต้อำนาจรัฐหรืออำนาจทางโลกไปจนมันแยกตัวเองไม่ได้แล้ว อย่างเวลาเราไปวัดใหญ่ๆ อย่างวัดหลวงบางที่ ก็จะมีป้ายติดไว้ว่า สมเด็จพระสังฆราชองค์นี้จากวัดเรา เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอในรัชกาลนั้นรัชกาลนี้มาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าท่านที่อยู่ในวัดนั้นคงภูมิใจนะครับที่มีเจ้ามาอยู่ในวัด และได้เป็นพระสังฆราช แต่ผมคิดว่า มันน่าจะภูมิใจกว่าหรือเปล่า หรือมันมีความจำเป็นอะไรหรือที่ต้องไปไฮไลท์ความเป็นเจ้า ทำไมไม่ไปภูมิใจเรื่องที่ว่า วัดเราเนี่ยมีฆราวาส หรือคนธรรมดาที่มาบวช และเป็นพระที่ดีจำนวนมากออกไป ผมก็ไม่รู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ศาสนาสอน หรือเป็นสิ่งที่ในที่สุดแล้วอำนาจรัฐมันได้ครอบงำศาสนาจนศาสนาแยกจากอำนาจรัฐไม่ออกแล้ว

เพราะฉะนั้นคำสอนทางศาสนาจำนวนมากกลายเป็นฐานของอำนาจทางโลกมาตลอด แม้กระทั่งความเชื่อเรื่องบุญบาปก็เป็นฐานของอำนาจทางโลก เช่น ความเชื่อที่ว่าในโลกนี้มีคนบางกลุ่มที่ดีเป็นพิเศษ แล้วก็ในโลกนี้มีคนบางกลุ่มที่ชั่วเป็นพิเศษ แล้วมันถูกตลอดเวลาที่คนกลุ่มที่ดีเป็นพิเศษเนี่ยจะฆ่าคนกลุ่มที่ชั่วเป็นพิเศษได้ แล้วในช่วงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา คำอธิบายนี้มันถูกนำมาใช้ตลอดเวลา คือ มีกลุ่มที่ดีมากๆ ซึ่งมีความชอบธรรมมากๆที่จะฆ่ากลุ่มที่ชั่วยังไงก็ได้ แล้วเวลาเราดูงานศิลปะร่วมสมัย หรือสิ่งที่คนจำนวนมากพูดในช่วงความขัดแย้ง จะเป็นการผลิตซ้ำความเชื่อทางศาสนาในแบบนี้โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อเรื่องเทพกับมาร อำนาจฝ่ายดีต้องกำราบอำนาจฝ่ายชั่วให้ได้ อันนี้ก็คือเรื่องที่น่าสนใจว่า ตัวคำสอนเองมันอาจจะมีอะไรบางอย่างหรือไม่ ที่ในที่สุดแล้วอาจจะไม่เกื้อกูลต่อการสร้างประชาธิปไตย หรือการมองเห็นความแตกต่างความหลากหลายของคนในสังคม ผมว่าอันนี้เป็นประเด็นสำคัญ คือ เราอาจจะต้องมาตั้งคำถามต่อตัวคำสอนในสองสามเรื่อง เช่น เป็นไปได้หรือเปล่าที่คำสอนทางศาสนามันมีลักษณะที่มันผูกขาดและแข็งทื่อมาก มันทำให้ความสัมพันธ์ของคนกับศาสนาเป็นไปในลักษณะที่ไม่เท่ากัน

ผมคิดว่าตัวศาสนาไม่สามารถสัมพันธ์กับคนในแบบที่เท่ากับศาสนาได้ ง่ายๆ เวลาเราคุยกับพระ เราจะต้องรู้สึกต่ำกว่าหรือด้อยกว่าพระ พระไม่สามารถคุยกับเราแบบเท่ากันได้ ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องที่พระไทยทำไม่ได้ คือ คุยแลกเปลี่ยนกับฆราวาสแบบเท่ากัน นอกจากนั้นผมยังคิดว่า ตัวคำสอนทางศาสนาเอง เวลาสัมพันธ์กับคน มีลักษณะบางอย่างซึ่งจะใช้วิธีดึงคนเข้ามาหาศาสนา ด้วยการบอกอยู่ลึกๆว่า ยังไงคนก็ด้อยกว่า และคนเป็นสิ่งที่ไม่ดี เวลาศาสนามองคนเนี่ย คนคือสิ่งที่ไม่ดี คนคือสิ่งที่ผิด และควรได้รับการแก้ไข คนคืออะไรบางอย่างที่มีความชั่วร้าย มีกิเลส มีบาปอยู่ในตัว ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้มันจะเป็นปัญหา คือในที่สุดแล้ว ตัวคำสอนมันวางอยู่บนการกดมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์เข้ามาอยู่กับศาสนา ซึ่งผมมองว่าตัวคำสอนมันน่าจะมีอะไรที่ผิดที่ไม่สามารถมองมนุษย์เท่ากับศาสนาได้ ศาสนาทำให้มนุษย์ด้อยกว่าศาสนา แล้วทำให้มนุษย์รู้สึกมีปมอะไรบางอย่างที่ผิด ที่ต่ำกว่า เพราะฉะนั้นเข้ามาอยู่กับศาสนาสิ แล้วศาสนาจะให้ทางออกกับคุณ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นปัญหานึง ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถอยู่ในโลกที่บอกว่า คนด้อยกว่า คนผิด อยู่ตลอดเวลาได้ เพราะการบอกคนว่าเค้าด้อยกว่า เค้าผิดอยู่ตลอดเวลาเนี่ย ในแง่นึงมันเป็นปัญหาทางการเมืองแล้ว เพราะพอพูดถึงการเมือง พูดถึงประชาธิปไตย เราเชื่อว่าคนทุกคนมีเหตุผล คนทุกคนมีเสรีภาพ รู้ว่าอะไรดีสำหรับตัวเขา แต่พอมาในมุมศาสนา ศาสนาไม่ได้บอกคนแบบนี้ ศาสนาไม่ได้บอกว่าคนทุกคนมีเหตุผล ศาสนาไม่ได้บอกว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะทำอะไรเพื่อตัวเขาเองได้ แต่บอกให้มาอยู่กับศาสนาก่อน ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นปัญหานึง ก็คือ สำหรับเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพแล้วเนี่ย เราเชื่อว่าคนทุกคนมีความสมบูรณ์ในตัวเอง มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ดีต่อตัวเขาเอง และต่อสังคมรอบข้างได้ โดยที่ตัวศาสนาอาจไม่คิดเรื่องพวกนี้ หรือมาจากฐานคิดที่ต่างกัน ศาสนาไม่ได้เชื่อว่าคนรู้ว่าอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเขา และไม่เชื่อด้วยซ้ำว่า ลำพังตัวมนุษย์แต่ละคนสามารถสิ่งที่ดีต่อสังคมได้ มนุษย์ต้องมีศาสนา เพราะไม่เช่นนั้นมนุษย์จะไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว

เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันจะต่างกันมากๆ คือ เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมืองเนี่ย เราเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีธรรมชาติที่ดี และในสังคมที่มาจากมนุษย์แต่ละคนที่มีธรรมชาติที่ดี การฟังเสียงทุกคนมันจึงสำคัญ ทุกคนมีเหตุผล ทุกคนมีธรรมชาติที่ดี เพราะฉะนั้นเอาเสียงทุกคนมารวมกัน เราจะได้สิ่งที่ดีที่สุด ประชาธิปไตยหรือการเมือง มันเชื่อว่าสังคมมันอยู่ด้วยเหตุด้วยผลได้ มนุษย์มีเหตุมีผล มนุษย์เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ตรงนี้เราอาจจะต้องกลับมามองว่าตัวศาสนาเข้าใจเรื่องแบบนี้แค่ไหน

เวลาศาสนาสัมพันธ์กับคน ศาสนามีแนวโน้มมากที่จะทำให้คนทั้งหมดเป็นแบบเดียวกัน อันนี้เป็นประเด็นนึงที่ผมคิดว่า สำคัญในแง่ปรัชญาวิธีคิด คือ ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่คนแต่ละคนมีคุณค่าของเขา เราอยู่ในโลกที่คนแต่ละคนมีความคิดความอ่านเป็นของเขาเอง คนแต่ละคนมีอัตลักษณ์ของเขา มีวิถีชีวิตของเขา แต่คำสอนทางศาสนาเข้าใจเรื่องแบบนี้แค่ไหน อย่างเช่น เรื่องพระเกย์พระตุ๊ด เวลาศาสนจักรสัมพันธ์กับเรื่องพวกนี้ วิธีที่พูด มันจะเต็มไปด้วยทัศนะของการเหยียดคนที่ผิดเพศ แล้วก็จะบอกว่าคนแบบนี้ไม่เหมาะสม ซึ่งผมคิดว่าคำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมศาสนาถึงสนใจมากกับการทำให้คนทั้งโลกเป็นแบบเดียวกัน เป็นแบบเดียวกันทางตรรกะ เป็นแบบเดียวกันทางวิธีคิด ศาสนาสามารถจะเป็นฐานทางปัญญาที่ทำให้เห็นว่าคนเรามีความหลากหลาย คนเรามีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน มีความเชื่อที่แตกต่างกัน มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันได้หรือไม่ ผมคิดว่าอันนี้เป็นคำถามที่มันท้าทาย และจำเป็นที่จะต้องตอบให้มากขึ้นในปัจจุบัน



:ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ

คำถามต่อพุทธศาสนาในความเป็นรากฐานทางปัญญาของสังคม



เสวนา พุทธศาสนากับปัญหาสังคมและการเมือง
โดย ส.ศิวรักษ์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ และวิจักขณ์ พานิช
๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓
ณ ป๋วยเสวนาคาร วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ

(๑) ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: คำถามต่อพุทธศาสนาในความเป็นรากฐานทางปัญญาของสังคม


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : ผมขอเริ่มด้วยการเปิดประเด็นชวนคุยไปเรื่อยๆก่อนละกันนะครับ ในฐานะของคนที่ไม่ได้รู้เรื่องพุทธศาสนามากนัก เรื่องนึงที่ผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือ เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่คนทำกันมาเยอะมากๆอยู่แล้วนะครับ ทำมาตั้งแต่รุ่นอ.สุลักษณ์ พระไพศาล ตั้งแต่ก่อนเป็นพระท่านก็ทำ อ.นิธิก็มีงานเขียนเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาเยอะแยะ ดังนั้นประเด็นพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ปัญญาชนให้ความสนใจ ล่าสุดคุณคำ ผกาก็มีการวิจารณ์ศาสนา และประเด็นเรื่องการปฏิรูปซึ่งค่อนข้างรุนแรง ทำให้คนไม่พอใจจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมจะพูดถึงประเด็นนี้ก่อนนะครับ

ผมคิดว่าส่วนใหญ่เวลาพวกปัญญาชน คนชั้นกลาง หรือสื่อมวลชนวิจารณ์พุทธศาสนาในบ้านเรา วิธีที่ใช้ในการวิจารณ์จะวนอยู่สองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ ดูพฤติกรรมของพระว่ามีความเหมาะสม มีความอยู่ในร่องในรอยตามคำสอนพุทธศาสนาหรือเปล่า พูดง่ายๆก็คือเป็น วิธีการจับผิดพระ พระมีกิ๊ก พระมีสีกา พระแต่งตัวเป็นเกย์ อะไรแบบนี้ แล้วก็ใช้ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นตัวอย่างมาสรุปว่า เห็นมั๊ย..สิ่งที่พระทำก็ไม่ได้ดีอะไรนัก แสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนากำลังมีปัญหา ส่วนบางคนที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะวิจารณ์ในประเด็นที่ว่า พุทธศาสนาอาจจะมีคำสอนหลายๆอันที่ไม่สอดคล้องกับสังคม เช่น วิธีคิดที่พุทธศาสนามองผู้หญิง คนที่สนใจศึกษาเรื่องสิทธิสตรี หรือพวกเฟมินิสต์ก็จะบอกว่า ศาสนาพุทธมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ การเชื่อว่าผู้หญิงเป็นมนุษย์ที่ด้อยกว่าผู้ชาย ประเด็นที่เห็นชัดๆง่ายๆ คือการไม่ให้ผู้หญิงบวชเป็นพระ

ผมเพิ่งเข้าไปคุยกับท่านพระครูธรรมาธรครรชิตมา ซึ่งท่านอยู่วัดของเจ้าคุณประยุทธ์ เราก็คุยกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ และมีประเด็นนึงที่ทำให้เราเถียงกันค่อนข้างเยอะ คือ เรื่องการมองว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ในการบวชได้หรือเปล่า ท่านก็เถียงหลายๆเรื่องนะครับ ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ พอเถียงกันไปเถียงกันมา ท่านพูดว่า เหตุผลชี้ขาดจริงๆที่ผู้หญิงบวชเป็นพระไม่ได้ คือ แน่นอนว่าศาสนจักรอาจจะอ้างเรื่องพระไตรปิฎกใช่มั๊ยครับ อ้างว่ามันไม่มีภิกษุณี แต่ในที่สุดแล้ว ท่านพระครูธรรมาธรครรชิตก็อ้างว่า จริงๆแล้วสำหรับท่าน เรื่องที่มันสำคัญที่สุดคือว่า ผู้หญิงเนี่ยไม่มีเหตุผล เพราะว่าผู้หญิงมีประจำเดือน พอผู้หญิงมีประจำเดือน ผู้หญิงก็จะอารมณ์แปรปรวน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเหตุผลที่มัน beyond เหตุผลของมนุษย์ในปัจจุบันไปแล้ว ว่าการมีประจำเดือนทำให้มนุษย์บางเผ่าพันธุ์ในโลกมีอารมณ์แปรปรวน เพราะฉะนั้นเลยเข้าสู่ศาสนจักรไม่ได้ แล้วพอผมถามท่านว่า แล้วเวลาที่ผู้หญิงบริจาคเงิน เงินซึ่งมาจากอารมณ์แปรปรวนนี่มันได้มั๊ย? ท่านก็ฉุนๆนะครับ ในที่สุดเมื่อคุยกันไปเรื่อยกลายเป็นว่า ในโลกนี้มีสัตว์บางประเภทที่ไม่มีเหตุผลเท่าผู้ชาย เพราะเหตุผลง่ายๆคือสัตว์ประเภทนั้นมีประจำเดือน อันนี้ก็คือตัวอย่างหนึ่งว่า ถ้าในระดับผิวเผิน คนจำนวนหนึ่งก็จะวิจารณ์พระสงฆ์จากกิจกรรมต่างๆที่ท่านทำ ซึ่งก็อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะ หรือระดับที่ลึกซึ้งขึ้นมาก็คือ ดูคำสอนว่ามันมีความสอดคล้อง เท่าทันต่อสังคมปัจจุบันแค่ไหน

แต่ผมคิดว่า เรื่องที่ผมอยากจะพูดคงไม่ได้มาจากในมุมนี้ แต่ผมจะพูดผ่านปรากฏการณ์สองสามเรื่องด้วยกันครับ

เรื่องที่หนึ่งก็คือ ผมคิดว่าปัจจุบันนี้พระสงฆ์กลายเป็นสินค้ามากขึ้น ซึ่งอันนี้ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ แต่ในความคิดเห็นของผม ผมคิดว่าช่วง ๑๐-๒๐ ปีมานี้ บทบาทของพระสงฆ์ในการเป็นสินค้าแบบหนึ่ง มันชัดเจนมาก เราอาจจะเรียกว่าเป็น สินค้าในตลาดเชิงจิตวิญญาณอะไรก็แล้วแต่ เราลองนึกถึงพระอย่างว.วชิรเมธี พระมหาสมปอง แบบนี้ ผมคิดว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเป็นเรื่องใหม่ หากย้อนไปไกลสุดก็อาจเป็นสมัยพระพยอมหรือเปล่า ผมไม่รู้นะครับ มันกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจว่า สภาพของพระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าในระบบทุนนิยมนี่มันชัดเจนมากในปัจจุบัน คำถามที่สองก็คือว่า พระสงฆ์ที่กลายเป็นสินค้าเนี่ยขายอะไร คำตอบก็คือขายตัวเองผ่านโทรทัศน์ใช่มั๊ยครับ ขายตัวเองผ่านซีดี ขายตัวเองผ่านดีวีดี หรือ หนังสือคำสอนแบบง่ายๆต่างๆ ที่นี้ถามต่อไปอีกว่า แล้วคำสอนที่พระที่ทำตัวเองให้เป็นสินค้าในระบบทุนนิยมขายคืออะไร พูดตรงๆผมคิดว่าไม่ใช่คำสอนที่มีความลึกซึ้งอะไร คำสอนพวกนี้มักจะเป็นคำสอนประเภท “คนเราต้องขยัน” “คนเราต้องรักพ่อแม่” “คนเราต้องทำความดี” นี่คือสินค้าที่พระกลุ่มหนึ่งใช้ขายผ่านระบบทุนนิยม ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าคำสอนแบบนี้มันมีประโยชน์กับคนในสังคมปัจจุบันจริงๆ หรือว่ามันเป็นคำสอนที่คนในสังคมปัจจุบันพร้อมรับมัน เพราะว่าเค้าพร้อมจะบริโภคอะไรบางอย่างที่เป็นการผลิตซ้ำคำอธิบายที่เขาเชื่อของเขาเองอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่นเวลามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง สังคมก็จะมีพระกลุ่มหนึ่งทำบทบาทในแบบที่ พูดง่ายๆคือเหมือนพวกครีเอทีฟในวิชาโฆษณาทำกัน คือ ผลิตคำคมออกมาอธิบายปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้วยคำตอบง่ายๆ เช่น ช่วงเมษา-พฤษภา ท่านว.ก็ทวิตประโยคนึงซึ่งเป็นที่ฮือฮาว่า “ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” แล้วกลายเป็นประเด็นขึ้นมาว่า ฆ่าคนบาปน้อยกว่าฆ่าเวลา อันนี้เป็นศาสนาเวอร์ชั่นไหน หรือเป็นศาสนาของอุตสาหกรรมนาฬิกา ที่การฆ่าคนบาปน้อยกว่าการฆ่าเวลา แต่ตอนหลังท่านก็ลบเรื่องนี้ทิ้งไปนะครับ

ผมว่าอันนี้มันน่าสนใจคือ คำสอนที่มันถูกผลิตซ้ำโดยพระกลุ่มนี้เนี่ย ในที่สุดแล้วมันเป็นความลุ่มลึกทางภูมิปัญญาของพุทธจริงๆ หรือมันเป็นแค่การเอาคำอธิบายที่คนเชื่อกันอยู่แล้วในสังคมมาผลิตซ้ำในแบบง่ายๆ แล้วใช้สถานภาพของความเป็นพระ ซึ่งคนไทยพร้อมจะเชื่ออยู่แล้ว เพราะคนไทยมักจะเชื่อเจ้า เชื่อพระ เชื่ออาจารย์ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นที่มาของภูมิปัญญา แล้วก็ผลิตซ้ำคำเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าในแง่หนึ่งมันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจปัญหา แต่มันใช้ได้กับคนในสังคม เพราะมันพูดเรื่องที่คนคิดกันอยู่แล้ว เวลามีความขัดแย้งทางการเมือง ก็บอกว่า ทางออกคือคนไทยต้องรักกัน พูดจริงๆก็คือ คำตอบแบบนี้เด็กประถมก็ตอบได้ คนเราต้องรักกัน คนเราต้องสามัคคีกัน ที่นี้คำถามคือแล้วสินค้าหรือสิ่งที่พุทธศาสนาผ่านพระกลุ่มที่ทำให้ตัวเองเป็นสินค้ามีให้กับสังคม มันมีอยู่แค่นี้เองเหรอ อันนี้อาจมองเป็นปัญหาของพระเอง แต่ก็เป็นปัญหาของสังคมเองด้วย ที่ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ลึกซึ้งกว่านี้แล้ว สิ่งที่คนในสังคมต้องการไม่ใช่คำตอบที่ลึกซึ้ง แต่เป็นคำตอบที่ง่ายๆ หรืออธิบายอะไรก็ตามในแบบที่คนพร้อมจะเชื่อ

อันที่สอง ที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือ ผมพยายามลองนึกดูว่า ในสมัยก่อน พระที่เล่นบทบาทซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคม ท่านเล่นบทแบบนี้มากน้อยขนาดไหน อย่างบทบาทที่ให้พระเป็นภูมิปัญญา เรานึกถึงพระอย่างท่านพุทธทาส ท่านปัญญา หรือท่านประยุทธ์ ท่านก็ไม่ได้เล่นบทแบบนี้ แต่ท่านมีบทบาทที่ทำให้คนคิดเรื่องพุทธปรัชญา คิดถึงเรื่องความหมายในการดำรงชีวิตในแบบที่ลึกซึ้งขึ้น เวลามีปัญหาสังคม คนเหล่านี้ไม่ได้ให้คำตอบแบบผิวเผินว่า เราต้องรักกัน หรือว่า ประหยัดไว้ดีกว่าไม่ประหยัด แต่ท่านทำให้คนกลับมาตรวจสอบตัวเองมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามิติตรงนี้ในพระที่เข้ามาเล่นกับปัญหาสังคม มันหายไปเลย บทบาทของพระ บทบาทของศาสนาในการนำเสนอคำตอบที่มันลึกกับสังคม มันไม่มี ศาสนากลายเป็นอะไรไม่รู้ที่ให้คำตอบง่ายๆในเรื่องที่คนในสังคมรู้กันอยู่แล้วว่ามันต้องตอบแบบนี้แหละ มีความขัดแย้งทางการเมือง คำตอบคือคนไทยต้องรักกัน เศรษฐกิจไม่ดีทางแก้คือคนไทยประหยัดให้มากขึ้น สังคมมีโสเภณีมากขึ้น ทางแก้คือ ก็อย่าฟุ่มเฟือยสิจะได้ไม่ต้องไปเป็นโสเภณี คำตอบแบบนี้แสดงภูมิปัญญาอะไรในทางศาสนาหรือเปล่า ผมว่าไม่ได้แสดง เป็นคำตอบที่ทุกคนก็คิดได้ หมายความว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเราเลย เป็นเหมือนกับหมอนรองทางจิตวิญญาณที่ทำให้เรารู้สึกว่า เออ..ศาสนามันยังมีอยู่นะ คำสอนมันยังมีอยู่ แต่จริงๆมันไม่ได้ช่วยอะไร...



: ถอดเทปและเรียบเรียง โดย บ้านตีโลปะ