16.11.08

หนีน้ำ ถามใจ



คุณรู้ไหม...

เขาว่ากันว่าโลกร้อน

น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย

น้ำกำลังจะท่วมกรุงเทพฯ

...

หลายคนเตือนมา

เขาว่าอีกไม่เกิน 10 ปี

แต่บางคนบอกปีหน้า

...

วันก่อนผมหยุดคุยกับแม่ค้าที่ตลาด

เจ๊แกบอกว่า...

"เศรษฐีเมืองกรุงมาซื้อที่บนดอย เตรียมไว้ปลูกบ้านกันแยะ"

...

เชียงรายเป็นหนึ่งในที่ลี้ภัยสินะ

...ผมคิด

...

สำหรับผม

ผมไม่ได้คิดจะมาอยู่เชียงรายเพื่อหนีน้ำ

จึงยังไม่ได้เตรียมซื้อที่เนินไว้ปลูกบ้าน

ยังไม่ได้เตรียมซื้อเรือพาย

หรือห่วงยางไว้สำหรับลูกสาว
...

บางครั้งผมก็มานั่งคิด

ว่าเอ...

ทำไมเราจึงได้ชะล่าใจถึงเพียงนี้

ไม่รีบหาที่ทางกันเหนียวเอาไว้บ้าง
...


น้ำท่วมโลก

โลกวิปริต

ผมคิด...

เกิดขึ้นแน่ๆ

ตายแน่ๆ

ไม่ช้าก็เร็ว ไม่นานเกินรอ

หากผู้อยู่อาศัยในโลก

ยังบริโภคกันแบบนี้

ยังใช้น้ำมันกันแบบนี้

ยังผลิตขยะและของเสียกันแบบนี้

ยังแก่งแย่ง แข่งขันกันแบบนี้

เป็นพลโลกที่ปราศจากจิตสำนึกกันไปเรื่อยๆแบบนี้

...


บอกตรงๆ

บางทีผมเห็นรถราในกรุงเทพฯ

เห็นวิถีชีวิตคนกรุงเทพฯ

เห็นคลองในกรุงเทพฯ

ผมยังคิดเล่นๆว่า

ให้น้ำพัดมาล้างกรุงเทพฯบ้างก็น่าจะดี

แต่มันจะล้างใจที่ด้านชาและสกปรกของคนออกไปได้บ้างไหมนะ


บางที

คงมีเพียงความทุกข์แสนสาหัสเท่านั้น

ที่จะทำให้คนตื่น

...ผมคิด

....


สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เศรษฐกิจตกต่ำ

บ้านเมืองลุกเป็นไฟ คนไทยฆ่าฟันกัน

โลภ ...โกรธ ...หลง

กับโลกร้อน

คนป่วย โลกก็ป่วยได้

ฟ้าก็บ้าได้ ธรณีก็คลั่งได้

เกิดได้ ก็เจ็บได้ และตายได้เช่นกัน

คุณว่าไหม?

...



เขาว่าการเจริญมรณะสติ

จะทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมากขึ้น

การเจริญมรณะสติในที่นี้ คงไม่ได้หมายถึง

การดำเนินชีวิตแบบกลัวตายหรือหนีตาย

แพนิค แอนด์ พารานอย (panic and paranoia)

“ไม่ประมาทไว้ก่อน” จนลุกลี้ลุกลนไม่เป็นตัวของตัวเอง

แต่ผมว่า การเจริญมรณะสติ น่าจะหมายถึงอะไรง่ายๆ

อย่างการตระหนักรู้ในทุกลมหายใจเข้าออกที่ว่า

“ความตายมาเยือนเราได้ตลอดเวลา”

“ภัยจะมาเมื่อไรก็ได้”


แล้วไงต่อ

...

น้ำท่วมโลกถือเป็นเรื่องใหญ่

อาจหมายถึง ความตายของอะไรหลายๆอย่าง

ที่ใกล้เข้ามา รอเราอยู่เบื้องหน้า ไม่ช้าก็เร็ว

เมื่อความตายอยู่ตรงหน้า คำถามที่ว่า

“ถ้าพรุ่งนี้อเมริกาจะทิ้งระเบิดปรมาณูลงทั่วประเทศไทย คุณจะย้ายไปอยู่ประเทศไหน?”

“หากคุณกำลังเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คุณจะไปบำบัดรักษา ยืดเวลาชีวิตกันที่ไหน?”

และ “ถ้าพรุ่งนี้น้ำจะท่วมโลก คุณจะหนีน้ำไปอยู่ไหน?”

มองออกนอกตัวไป แล้วเห็นอะไรในใจบ้าง

...


ได้ยินไหม...

ยังมีเสียงกระซิบอย่างแผ่วเบา เสียงด้านในที่ยังเฝ้าถามใจเราอยู่เสมอ

“ถ้าพรุ่งนี้คุณอาจจะไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างที่คุณรักอีกต่อไป

คุณจะใช้เวลาของวันนี้อย่างไร?”

ผมว่า...

นั่นคือพลังแห่งการดำเนินชีวิตที่ความตายได้มอบให้




“น้ำท่วมโลก”

“คนไทยฆ่าฟันกัน”

“สันติภาพกำลังจะสูญสิ้น”

ข้อความเหล่านี้ ไม่ได้เอาไว้เพียงเพื่อมองความเป็นไปในแง่ร้าย

ไม่ได้เอาไว้กระตุ้นต่อมความหวังและความกลัว

สร้างโลกขมุกขมัวให้ใจหมอง

...


คำถามเหล่านี้

เป็นคำถามแห่งความเป็นความตาย

เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบจากนักวิชาการ หรือผู้(สู่)รู้

แต่มันคือ “คำถามแห่งการเปลี่ยนจิตสำนึก”

คำถามที่ปลุกให้คุณตื่น

ที่คำตอบอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่ได้ถาม


“เราเกิดมาทำไม”

“หากวันหนึ่งเราต้องตาย แล้ววันนี้เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร”

คนทุกคนควรจะได้มีเวลาถามตัวเอง ทุกวัน ทุกชั่วโมง ทุกนาที และทุกชั่วขณะ

ทุกลมหายใจเข้าออกที่เรายังสามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติไปได้ในแต่ละวัน

เป็นคำถามที่เราควรจะถามในทุกครั้งที่เราใช้จ่าย ทุกครั้งที่เราใช้รถ ทุกครั้งที่เราเลือกส.ส.เข้าไปในสภา

… ถือเป็นมรณานุสติ

...

น้ำจะท่วมโลกพรุ่งนี้แล้ว...

วันนี้เราได้ทำอะไรเพื่อคนรอบข้าง และวิกฤตจิตสำนึกที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง

น้ำท่วมหน้าบ้านคุณแล้ว...

คุณรู้สึกอะไรในใจบ้างกับความทุกข์ร่วมของเพื่อนมนุษย์ในครั้งนี้

...


อย่างน้อยก่อนจะหาทางหนีทีไล่

ขอได้เปิดพื้นที่ว่างๆของใจ

ไว้สำหรับการใคร่ครวญความรู้สึก ความหมาย และคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ดูบ้าง

อย่าเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาหนีน้ำ ขึ้นเรือพาย...

แล้วกลับไปใช้ชีวิตเวียนว่าย บริโภคเผลอไผลอย่างไร้สติ บนดอยแถวเชียงรายกันต่อไป

...


อย่างกะหนังไททานิค

ผมคิด...



โดย วิจักขณ์ พานิช
ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
คอลัมน์จิตวิวัฒน์
วันเสาร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๑