26.1.11

ความเป็นกลาง

ปัญหาของการพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม หรือ ความเป็นกลาง คือ บ่อยครั้งเราไม่ได้เปิดใจเข้าไปทำความรู้จักความเป็นไปของทั้งสองด้านจริงๆ เรากลัว ขยาด ปฏิเสธด้านใดด้านหนึ่ง เลือกอยู่ข้างฝั่ง "ธรรมะ" ฝั่งความดี ฝั่งความถูกต้อง แต่ไม่ว่าจะถูกอย่างไร จะดีอย่างไร นั่นคงเป็นได้แค่ความเป็นกลางโดยเอาคติหรืออคติของตนเองเป็นศูนย์กลางเท่านั้น ความเป็นกลางจึงต้องการการมีอยู่ของสองด้าน เช่นเดียวกับความเป็นธรรม ที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจสองฟากฝั่ง ทั้งนิพพานและสังสาร

"ทางสายกลาง" หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา" เป็นคำสอนสำคัญที่ถูกกล่าวถึงในพุทธศาสนาเถรวาทอยู่โดยตลอด เพราะเป็นหนึ่งในคำสอนที่ประกาศโดยพระพุทธองค์เองตั้งแต่เทศนาครั้งแรก ทว่าคำสอนเรื่องทางสายกลางนั้น ในทางปฏิบัติ กลับไม่ได้รับความสนใจศึกษาในหมู่สาวกเถรวาทอย่างลึกซึ้งมากเท่าไรนัก "ทางสายกลาง" มักถูกมองเป็นคำสอนง่ายๆ เผินๆ พื้นๆ จนถูกมองข้ามไปในท้ายที่สุด ด้วยการด่วนสรุปว่าเป็นคำสอนที่รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ตั้งแต่แรกได้ยิน

นอกจากนั้น ในข้อศีลและข้อธรรมเบื้องต้นที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ฟังส่วนใหญ่ ทางสายกลางถูกขยายความไว้ไม่กว้างขวางชัดเจนนัก หรืออีกนัยหนึ่ง ก็อาจสรุปว่ามีความชัดเจนอย่างยิ่งจนสามารถยึดถือเป็นหลักเกณฑ์ วินัยปฏิบัติ และมาตรวัดถูกผิดได้ ทว่าสำหรับผู้ปฏิบัติที่ต้องการเข้าไปคลี่คลายเหตุแห่งทุกข์ในโลกแห่งจิตใจอันละเอียดนั้น จำเป็นต้องมีอรรถาธิบาย เพื่อให้เข้าใจการดำรงอยู่บน "ทางสายกลาง" ในบริบทที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในโลกแห่งการรับรู้อารมณ์ อันเชื่อมโยงการทำความเข้าใจตนเอง กับผู้อื่นอย่างแท้จริง

การทำความเข้าใจผู้อื่นนั้น ไม่ได้หมายถึงการคิดเผื่อคนอื่น หรือตัดสินว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนอื่น เพราะความหวังดีเช่นนั้นเป็นเพียงการแสดงออกของตัวตนที่พยายามยัดเยียดให้คนอื่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทางสาย(เอาตัวเราเป็นศูนย์)กลางเท่านั้น แนวโน้มนี้เป็นผลจากการยึดมั่นในข้อศีลและข้อธรรมที่ตนเข้าใจจนไม่ปล่อยใจให้ "วาง" จน "เปิด" ต่อผู้อื่นได้จริงๆ

แม้ที่มาของข้อศีลข้อธรรมเหล่านั้น จะถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็น"กรอบแนวทาง"สำหรับการวางจิตวางใจบนทางสายกลาง เพราะโดยปกติแล้ว สังคมมนุษย์ที่ถูกกำหนดด้วยวัฒนธรรมอันตรงไปตรงมา เรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ย่อมสามารถหารูปแบบการดำเนินขีวิตในวัฒนธรรมที่สอดคล้องไปกับนัยของทางสายกลางนั้นอย่างเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งทำให้ทางสายกลางกลายเป็นคำสอนที่ชัดเจน ทำได้จริง เห็นผลจริง และง่ายต่อการเชื้อเชิญให้คนทั่วไปน้อมนำไปปฏิบัติ ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กรอบความตายตัวเช่นนั้นก็ไม่สามารถตอบสนองปัจเจกบุคคลผู้ต้องการเข้าใจธรรมชาติของสังสารและนิพพานอย่างลึกซึ้งและเป็นอิสระในทุกๆ สถานการณ์ยิ่งกว่านั้นได้ นี่คือความท้าทายอันเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีมหายาน และการต่อยอดคำสอนทางสายกลางของ "มาธยมิก"