4.4.09

จดหมายข่าววัชรปัญญาประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๒

แด่ เพื่อนร่วมทาง
ในโอกาสการจากไปครบ ๒๒ ปี ของท่านตรุงปะ
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๒

"กฏเกณฑ์ทางศีลธรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ใช้สร้างความสัมพันธ์กับความรู้ชั่วกลัวบาป แทนที่จะเป็นการสัมพันธ์กับสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา การเผชิญกับสถานการณ์ด้วยการตัดสินว่าสิ่งใดถูก และสิ่งใดผิด เป็นแฟชั่นของคนมีการศึกษาที่คิดว่าตัวเองรู้เรื่องชีวิตดีกว่าคนอื่น หากเธอสัมพันธ์กับสถานการณ์ในแง่ของความรู้ชั่วกลัวบาป หรือในการมองโลกในแบบของเธอ มันก็หมายความว่าเธอยังไม่ได้สัมพันธ์กับสถานการณ์นั้นๆเลยสักนิดเดียว เธอไม่มีแม้แต่ความเข้าใจต่อสถานการณ์นั้น นี่ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราโดยทั่วไป เธอพยายามจะทำความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆอย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่กลับมีสถานการณ์ที่เธอมองว่าเลวร้ายเกินกว่าที่จะเปิดใจรับ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเธอต้องไปสืบสวนคดีฆาตกรรม เธออาจมีความต้องการที่จะไม่เอาตัวเองเข้าไปข้องแวะกับคดี คิดไปว่า “ฉันไม่ต้องการที่จะยุ่งเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม” เมื่อนั้นเธอก็จะไม่มีทางที่จะเข้าใจว่า ทำไมคนๆหนึ่งจึงฆ่าคนอีกคนหนึ่ง และเขาฆ่าอย่างไร เธออาจจะยอมให้ตัวเองเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรมนี้ และพยายามที่จะเข้าใจความถูกผิดของสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เธออาจจะสามารถมองสถานการณ์ในแง่มุมของเหตุและผล และเกิดความเข้าใจบางอย่าง แต่อีกด้านหนึ่ง หากเธอคิดว่า “การเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมจะพาให้ฉันเข้าไปสัมผัสไอบาปอันเลวร้าย ดังนั้นฉันไม่ขอยุ่งเกี่ยวดีกว่า” เธอก็ได้ปิดตัวเองไปแล้วโดยสมบูรณ์

นั่นคือสิ่งเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมืองอีกต่อไป เพราะนักการเมืองเลวทั้งนั้น ข้าราชการเอาแต่โกงกิน เอ็นจีโอก็เลอะเทอะ ไม่มีใครอยากเอาตัวเองไปเกลือกกลั้วกับเรื่องต่ำๆโลกๆ และคงไม่ต้องพูดถึงการทำความเข้าใจเรื่องราวในสังคมตามที่เป็นจริง เพราะสังคมเต็มไปด้วยความโสโครกสกปรก และย่ำแย่สุดๆ อารมณ์เหล่านี้ได้สร้างความสับสนและความขัดแย้งในสังคมของเราอย่างรุนแรง เพียงแค่ผู้คนฝึกที่จะน้อมตัวลงมาคลุกฝุ่นคลุกดินกันให้มากขึ้น และพยายามทำความเข้าใจว่ามีสิ่งใดที่ผิดเพี้ยนไปในใจเรา มันก็อาจจะมีสติปัญญาปรากฏออกมาให้เห็นกันบ้าง

ปัญหาทั้งหลายทั้งมวลก่อตัวขึ้นจากทัศนคติที่ว่า ความทุกข์ความเจ็บปวดควรจะต้องหายไป แล้วเมื่อนั้นเราจะมีความสุข นั่นเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมหันต์ ความเจ็บปวดจะไม่มีวันไป และเราก็จะไม่มีทางจะมีความสุข นั่นคือสัจจะแห่งความทุกข์ หรือ ทุกขสัจจ์ "ความเจ็บปวดไม่เคยหมดไป และเราก็จะไม่มีทางมีความสุข" นั่นคือมนตราสำหรับเธอ เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การบอกตัวเองซ้ำๆ วันนี้เธอได้รับคำสอนแรกเริ่มที่สำคัญยิ่ง เธอได้รับมนตราแห่งทุกขสัจจ์

ความทุกข์ความเจ็บปวดหาได้เป็นสิ่งที่หนักหนาอะไร ยิ่งเรามีประสบการณ์บนเส้นทางสายนี้มากขึ้น เราก็จะรู้ว่าความทุกข์มีอยู่เป็นธรรมดา ทุกข์โศกจะเป็นอุปสรรคก็ต่อเมื่อเราขัดขืนและเฝ้าแต่ต้องการที่จะกำจัดมันทิ้งไป

เราในฐานะผู้ปฏิบัติจึงต้องเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะจิตใจอันอ่อนน้อม ตระหนักรู้ว่าด้านแห่งความวิปลาสของชีวิตเป็นส่วนสำคัญของการรู้แจ้ง หาใช่ขยะที่จะต้องโยนทิ้งไปไม่ ความคิดเรื่องสังสารวัฏและนิพพานคือหนึ่งเดียวกัน สังสารวัฏไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่คนเราต้องก้าวข้ามเพียงอย่างเดียว แต่มันมีสาระสำคัญที่ควรค่าแก่การเคารพ"


เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช